แคมปัสทัวร์ – มหาวิทยาลัยยอนเซ (อัพเดต 2016)

0
8566

อีกเพียงไม่กี่วันก็จะครบรอบ 2 ปี ของการศึกษาต่อในเกาหลีของผมแล้วครับ เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว และมีเรื่องราวต่างๆมากมาย ที่ผมอยากจะบันทึกไว้ โดยเฉพาะในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นปีของการเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมหาวิทยาลัยของผมนั้น ถือเป็นจุดเชือมต่อความฝันของผม หลังจากที่ผมได้ทำตามความฝันมาโดยตลอดในช่วงมัธยมที่ผ่านมา ด้วยการทำในสิ่งที่รักและชอบ จากการหาประสบการณ์จากการแข่งขัน และผมก็ได้บันทึกมันบางส่วนไว้ในบล็อกของผมนี้ ผมเองค่อนข้างลังเล ที่จะเขียนเกี่ยวกับเรื่องราวในชีวิตมหาวิทยาลัยในช่วงแรกๆ เพราะผมคิดว่า ยังมีอะไรอีก
หลายๆอย่างที่เรายังขาดตกบกพร่อง  แต่วันนี้คิดว่าระยะเวลา 1 ปีเต็มๆ ที่ได้ใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยนี้น่าจะเพียงพอ ที่จะนำมาเล่าให้คุณผู้อ่านทุกคน ได้รู้จักกับมหาวิทยาลัยที่ผมกำลังศึกษาอยู่แห่งนี้ครับ

Thai student in Yonsei University

และขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่มหาวิทยาลัยยอนเซ (Yonsei University) ครับ

มหาวิทยาลัยนี้เป็น 1 ใน 3 มหาวิทยาลัยที่เด็กม.ปลายเกาหลีทุกคนใฝ่ฝันครับ เพราะเป็นมหาลัยในกลุ่ม TOP 3 ที่เค้าเรียกกันว่า SKY (S มาจาก Seoul National University, K มาจาก Korea University และ Y มาจาก Yonsei University) และเนื่องจากเป็นมหาลัยเอกชนค่าเทอมจึงค่อนข้างสูง (เป็นอันดับต้นๆกันเลยทีเดียว) เค้าจึงว่ากันว่า คนที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยแห่งนี้นอกจากต้องเก่งแล้ว ที่บ้านต้องค่อนข้างฐานะดีด้วย (ยกเว้นผมไปคนนึงนะ)

มหาวิทยาลัยนี้มีด้วยกัน 3 แคมปัส
1.ชินชนแคมปัส (Shinchon Campus) เป็นแคมปัสหลัก ตั้งอยู่ในโซล หลายๆคณะจะทำการเรียนการสอนที่นี่
เป็นแคมปัสแรกสุดเลย ตั้งอยู่ใกล้กับมหาลัยสตรีอิฮวา (Ewha Womans University)
2. ซงโดแคมปัส (Songdo Campus/International Campus) เป็นแคมปัสใหม่ อยู่ในเมืองซงโด, อินชอน (เมืองที่เป็นที่ตั้งของสนามบินอินชอนและบ้านแฝดสาม) แคมปัสนี้เดิมเปิดสอนสำหรับภาคอินเตอร์ รวมไปถึงบางคณะที่เรียนที่นี่ในช่วงปีแรกๆ เช่น แพทย์ศาสตร์, ทันตแพทย์ แต่เนื่องจากนโยบายใหม่ของมหาวิทยาลัยที่ให้เด็กปีหนึ่งไปใช้ชีวิตร่วมกันเป็นระยะเวลา 1 ปี (แต่ปีผมแค่ 1 เทอมครับ) ให้ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน (ให้นึกถึงบ้านบิ๊กบราเธอส์) ซึ่งโปรแกรมนี้เค้าเรียกว่า Residential College มหาวิทยาลัยก็เลยได้ปรับปรุงและสร้างหอพักและสิ่งอำนวยความสะดวก เพิ่มเติม ซึ่งเริ่มใช้ระบบนี้กับนักเรียนที่เข้ามหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นไป โดยรายละเอียดของแคมปัส และกิจกรรม Residential College (RC) สามารถเข้าไปติดตามได้ในบล็อก ตอนนี้ ครับ และสุดท้าย
3.วอนจูแคมปัส (Wonju Campus) ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดวอนจู แคมปัสนี้ส่วนตัวยังไม่เคยไปครับ มีบางคณะที่มีการเปิดการเรียนการสอนที่นั่น

Yonsei University Shinchon Campus , International Campus/Songdo campus, Wonju campus ตามลำดับครับ
Yonsei University Shinchon Campus , International Campus/Songdo campus, Wonju campus ตามลำดับครับ

มหาวิทยาลัยนี้ ถ้าให้ผมพูดคำจำกัดความสั้นๆแล้ว ผมขอบอกว่ามหาวิทยาลัยนี้เป็นมหาวิทยาลัยที่ “เรียนเป็นเรียน เล่นเป็นเล่น” จริงๆครับ มหาวิทยาลัยนี้มีกิจกรรมค่อนข้างเยอะ และหลากหลาย เช่น กิจกรรมของมหาวิทยาลัยที่เป็นเอกลักษณ์อย่าง AKARAKA, กีฬาประเพณีของมหาวิทยาลัยอย่างยอนโคจอน (Yon-Ko Jeon) นี่ยังไม่รวมกิจกรรมสำหรับนักศึกษาชาวต่างชาติ เช่น การแข่งขันร้องเพลง K-POP, Global Day ที่จัดนิทรรศการของแต่ละประเทศ, โปรแกรมทัศนศึกษา ฯลฯ โดยรวมแล้วถือว่ากิจกรรมค่อนข้างเยอะทีเดียวครับ

(ซ้าย) เป็นกิจกรรมชื่อว่า AKARAKA ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมมหาวิทยาลัย จัดขึ้นประมาณกลางเดือน พฤษภาคมครับ ก็จะมีกิจกรรมในมหาลัย และเชิญดารา นักร้องดังๆ อย่างปีที่แล้วเป็น SNSD ครับ ส่วนภาพขวา เป็นกิจกรรมที่มีชื่อว่า ยอนโคจอน ซึ่งเป็นการแข่งขันกีฬาประเพณีระหว่าง ม.ยอนเซ และ ม.โคเรีย ครับ จัดขึ้นทุกๆ เดือน กันยายน ณ สนามกีฬาชัมชิลครับ
(ซ้าย) เป็นกิจกรรมชื่อว่า AKARAKA (อะคะระกะ) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมมหาวิทยาลัย จัดขึ้นประมาณกลางเดือนพฤษภาคมครับ ก็จะมีกิจกรรมในมหาลัย ที่ออกบูธโดยคณะต่างๆ และเชิญดารา-นักร้องดังๆ อย่างปีที่แล้วเป็น SNSD  (ขวา) เป็นกิจกรรมที่มีชื่อว่า ยอนโคจอน (연고전 : Yon-Ko Jeon) ซึ่งเป็นการแข่งขันกีฬาประเพณีระหว่าง ม.ยอนเซ และ ม.โคเรีย ครับ จัดขึ้นทุกๆ เดือน กันยายน ที่สนามกีฬาชัมชิลครับ

สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ขอเริ่มจากสถาปัตยกรรมอาคารก่อนนะครับ อาคารที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย
คืออาคารที่พันไปด้วยเถาไม้นี้ ที่เป็นเอกลักษณ์ จะมีเด่นๆอยู่ด้วยกันสองอาคาร คือ อาคารอันเดอร์วูด (Underwood Hall) และ อาคารยอนฮี (Yonhui) ใครที่เค้ามาในแคมปัสแล้ว เดินตรงเข้ามาเรื่อยๆ ก็จะเห็นอาคารนี้ และรูปปั้น Underwood ผู้ที่ก่อตั้งวิทยาลัยเทคนิคยอนฮี ก่อนที่จะสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยยอนเซในที่สุดครับ

(ซ้าย) หน้าอาคาร Underwood (ขวา) อาคารยอนฮี (ล่าง) หน้าอาคาร Underwood
(ซ้าย) หน้าอาคาร Underwood (ขวา) อาคาร Yonhui (ล่าง) หน้าอาคาร Underwood

ถัดมาก็เป็นห้องสมุดที่อยากจะนำเสนอครับ ห้องสมุดนี้มีด้วยกันสองอาคาร คือ อาคารหลัก (Central Library)
และอีกอาคารที่ได้รับการสนับสนุนจาก Samsung สร้างอีกอาคารเชื่อมต่อ เป็น Yonsei-Samsung Library
ภายในห้องสมุด นอกจากจะเป็นที่ค้นหาข้อมูลชั้นเยี่ยมของนักเรียนแล้ว ยังเป็นสถานที่สำหรับทำงาน ผ่อนคลาย
มีคอมพิวเตอร์ไว้บริการมากมาย เครื่องสแกน เครื่องพิมพ์ ร้านค้า ร้านกาแฟ ก็รวมไว้ที่นี่ครับ และนอกจากนี้ยังมีห้อง
ไว้สำหรับอ่านหนังสือ ทำการบ้านโดยเฉพาะหลายชั้น รวมไปถึงเด็ดสุดๆก็คือ “ห้องอ่านหนังสือ 24 ชม.” ที่เปิด
ทั้งวันทั้งคืน ไม่มีวันหยุดครับ !

หน้าตึกห้องสมุดก่อนที่ช่วงนี้เค้ากำลังปรับปรุงบรรยากาศโดยรอบครับ ข้างในก็จะมีอาคารสองอาคารเชื่อมกัน อาคาร Central Library มีทั้งหมด 6 ชั้น และอาคาร Samsung Library มีทั้งหมด 7 ชั้น ชั้นบนเป็นคอฟฟีช็อปและยังสามารถไปนั่งดื่มกาแฟ อ่านหนังสือ มองมหาวิทยาลัยและเขตชินชนจากบนดาดฟ้าได้อีกด้วย
หน้าตึกห้องสมุด ก่อนที่ช่วงนี้เค้ากำลังปรับปรุงบรรยากาศโดยรอบครับ ข้างในก็จะมีอาคารสองอาคารเชื่อมกัน อาคาร Central Library มีทั้งหมด 6 ชั้น และอาคาร Samsung Library มีทั้งหมด 7 ชั้น ชั้นบนเป็นคอฟฟีช็อปและยังสามารถไปนั่งดื่มกาแฟ อ่านหนังสือ มองมหาวิทยาลัยและเขตชินชนจากบนดาดฟ้าได้อีกด้วย

อาหารการกิน

ในมหาวิทยาลัยก็จะมีโรงอาหารอยู่ค่อนข้างหลายที่ครับ ที่ที่นักเรียนมักจะมาทานกันบ่อยๆ ก็จะเป็นที่ศูนย์นักเรียน เขาเรียกกัน 학관 (ฮัก-กวาน) ซึ่งในฮักกวานนี้ก็มีที่ทานข้าวด้วยกันถึง 3 แห่ง กระจายความแออัดกันไป

หน้าตาศูนย์อาหารในตึก 학생회관/학관 (Student council) ครับ เมนูอาหารก็หลากหลาย ตั้งแต่อาหารเกาหลี ไปจนถึงสปาเกตตี้ สเต๊ก พิซซ่า ราคาอยู่ที่ประมาณ 3000~6000 วอนครับ
หน้าตาศูนย์อาหารในตึก 학생회관/학관 (Student council) ครับ เมนูอาหารก็หลากหลาย ตั้งแต่อาหารเกาหลี ไปจนถึงสปาเกตตี้ สเต๊ก พิซซ่า ราคาอยู่ที่ประมาณ 3000~6000 วอนครับ

นอกจากอาหารการกินที่สามารถหาได้จากอาคารศูนย์นักเรียนแล้ว ชั้นใต้ดินจะเป็นที่ตั้งของธนาคาร Woori และไปรษณีย์ครับ

การนับรุ่น : ก้าวเข้าสู่การเป็นเฟรชชี่เกาหลี

หลังจากที่ผมเริ่มมาศึกษาต่อที่เกาหลีในปี 2555 (2012) ผมก็ได้เรียนภาษาเป็นระยะเวลา 1 ปีเต็ม ก่อนที่จะเข้ามาเริ่มเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เมื่อเดือน มีนาคม ปี 2556 (2013) ครับ การนับรุ่นของที่เกาหลี เค้าจะนับรุ่นจากปีที่เข้าเรียนยกตัวอย่างเช่น ปี 2013 ก็จะเรียกว่า 13 ฮักบอน (แปลว่ารหัสปีเข้าศึกษา) และเมื่อเวลาเราแนะนำตัว สิ่งนึงที่เค้าจะแนะนำด้วยก็คือ “ฮักบอน” นี่ล่ะครับ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการบอกให้ทราบว่าเป็นรุ่นพี่หรือรุ่นน้องนั่นเอง

ตารางการเปิดเรียนในมหาวิทยาลัยเกาหลีนั้นจะเป็นดังนี้ครับ
เทอมฤดูใบไม้ผลิ : มีนาคม – ประมาณปลายเดือนมิถุนายน
สอบกลางภาค : เมษายน ปลายภาค : มิถุนายน
เทอมฤดูใบไม้ร่วง : กันยายน – ประมาณปลายเดือนธันวาคม
สอบกลางภาค : ตุลาคม ปลายภาค : ธันวาคม

เท่ากับว่า ที่เกาหลีจะมีปิดเทอมใหญ่ๆ อยู่สองช่วงคือ ช่วงหน้าร้อน และ หน้าหนาวครับ
และก็จะปิดเทอมยาวไปประมาณสองเดือน

วันปฐมนิเทศนักเรียนใหม่ (ซ้าย) วันแสดงความยินดีกับนักเรียนใหม่ (입학식) ซึ่งวันนี้ก็จะมีผู้ปกครองมาแสดงความยินดี แล้วก็มาถ่ายรูปด้วย (ขวา)

การศึกษาต่อ, คณะดังของมหาวิทยาลัยยอนเซ

มาพูดถึงคณะกันบ้างครับ ที่นี่คณะยอดนิยมก็จะเป็น คณะเศรษฐกิจและธุรกิจ (College of Business and Economics) วิศวกรรมศาสตร์ (College of Engineering) และแน่นอน แพทยศาสตร์ (College of Medicine) รวมไปถึงคณะพยาบาลศาสตร์ (College of Nursing) แต่แพทย์และพยาบาล เค้าจำกัดเฉพาะคนเกาหลีเท่านั้น ดังนั้นตรงนี้ก็จะไม่พูดถึงนะครับ

รายชื่อคณะที่มีทั้งหมดของระดับป.ตรี เข้าไปดูที่เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยได้เลยนะครับ [คลิกที่นี่]

สำหรับคณะที่ผมเรียนอยู่นั้น คือ College of Life Science & Biotechnology สาขา Biotechnologyครับ หรือภาษาไทยคือ เทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งก็จะเป็นการศึกษาเกี่ยวกับการตัดต่อพันธุกรรมเหตุผลที่เลือกเรียนสายนี้เพราะเราชอบเรียนชีววิทยา และอยากจะต่อยอดนำความรู้มาประยุกต์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเราให้ดีขึ้นอันนี้เป็นแรงบันดาลใจเล็กๆที่อยากจะเรียนสายวิทยาศาสตร์ต่อทีนี้ครับ

เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม…

มาเข้ามหาวิทยาลัยเกาหลี ก็ต้องมาดูการใช้ชีวิตแบบนักเรียนเกาหลีดูกันบ้างครับ อันดับแรก ที่เกาหลี “ไม่มีรับน้อง” เหมือนบ้านเราครับ ดังนั้นที่นี่ก็จะไม่มีกิจกรรมที่ทำด้วยกัน หรือต้องร้องเพลงเชียร์กันแต่ถามว่า แล้วรุ่นพี่-รุ่นน้องจะสนิทกันได้ยังไง อันนี้ไม่ยากครับ เดี๋ยวจะเฉลยในบรรทัดต่อๆไป…

บรรยากาศของวันปฐมนิเทศครับ หลังจากมีปฐมนิเทศเสร็จก็ต่อด้วยปาร์ตี้รับน้อง อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ สิ่งที่ขาดไม่ได้ในสังคมเกาหลีนี้คือ ‘เหล้า’ ครับ (อันนี้เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้รุ่นพี่-รุ่นน้อง สนิทและรู้จักกันมากขึ้น)

ข้ออธิบายเกี่ยวกับวัฒนธรรมการดื่มเหล้าของคนเกาหลีสักนิดนึงนะครับ ที่นี่การดื่มเหล้า ถือเป็นเรื่องของมารยาทในการเข้าสังคมด้วย แม้ว่าตรงๆผมก็ไม่ชินกับวัฒนธรรมนี้ แต่หากว่าเราแสดงออกชัดเจนว่าไม่ดื่มกับเพื่อน ก็ยังถือว่าโอเคครับ เพื่อนอาจจะเข้าใจ แต่บางครั้งก็อาจจะทำให้บรรยากาศของเพื่อนเสียได้ แต่ในโอกาสสำคัญๆ เช่น เมื่อต้องทานข้าวกับอาจารย์ หรือผู้ใหญ่ หากผู้ใหญ่รินเหล้าให้ เราก็ต้องน้อมรับด้วยความเต็มใจ และเมื่อเวลาดื่มก็ยังต้องแอบหันหน้าหลบและดื่ม ซึ่งถือเป็นมารยาทอีกด้วย เลยอาจจะขอปรับความเข้าใจ เกี่ยวกับวัฒนธรรมการดื่มเหล้าของคนเกาหลี ที่อาจจะพูดถึงในบล็อกตอนนี้บ่อยหน่อยนะครับ

ตั้งแต่ผมเข้าเรียนมหาวิทยาลัยนี้มาได้สักพักนึง ผมอยู่แต่เพื่อนต่างชาติครับ เพราะผมไม่รู้เลยว่าผมจะไปหาเพื่อนในคณะได้จากที่ไหน พวกเขาติดต่อกันอย่างไรผมก็ไม่ทราบ จนมีอยู่คลาสนึง ที่เป็นคลาสที่ทุกคนในคณะต้องเรียน ทันทีที่ทุกคนเห็นผมปรากฏตัวในคลาสนั้น ทุกคนต่างตกใจและถามผมว่า… “คุณคือ….รชต ใช่มั้ยคะ?” “พวกเราหากันตั้งนาน ไปอยู่ไหนมา…” เรื่องของเรื่องคือเราเป็นนักเรียนต่างชาติครับ เพื่อนเกาหลีไม่มีข้อมูลติดต่อ นักเรียนต่างชาติในวันปฐมนิเทศ เขาก็จะแยกกันไประหว่างนักเรียนเกาหลี-นักเรียนต่างชาติ พวกเค้าจึงเพียงรู้แต่ชื่อของผมเท่านั้น วันนั้นทั้งเพื่อนในคณะและผมต่างก็ดีใจมากครับ เค้าบอกว่าอาทิตย์หน้า ในคณะจะมีปาร์ตี้กัน และนี้เหมือนจะเป็นปาร์ตี้ท้ายๆแล้ว  จริงๆแล้วตอนนั้นผมแอบเสียใจเล็กๆครับ ที่เรามาเจอกันช้าไป

เมื่อถึงวันนั้น ผมเองก็ไปปาร์ตี้กับเค้านั่นแหละครับ ทุกคนดูเหมือนจะรู้จักกันหมดแล้ว มันก็เป็นโอกาสแรก ที่จะทำให้ผมได้รู้จักกับเพื่อนกว่า 60 คนในคณะ พร้อมกับรุ่นพี่ แต่บอกตรงๆครับว่า บรรยากาศมันไม่ใช่แบบนั้น บรรยากาศที่มานั่งถามชื่อกันเท่าไร ปาร์ตี้ที่เค้าหมายถึง มันคือปาร์ตี้เหล้าครับที่นี่ผมต้องบอกก่อนเลยว่า เค้าเชื่อมความสัมพันธ์กันด้วย ‘เหล้า’ หรือโซจู ครับ และมันจะสนุกตรงที่มันมีเกมในวงเหล้า ประมาณว่า ตบแปะชาร์จบ้านเรา ใครเล่นแพ้ ก็ต้องดื่ม…. ครั้งแรกกับประสบการณ์เช่นนี้ ทำผม ‘อึ้ง’ เหมือนกันครับ เพราะว่าบรรยากาศค่อนข้างวุ่นวาย แต่สำหรับคนเกาหลีถือเป็นเรื่องปกติปัญหาของเราคือ ไม่ได้เป็นคนดื่มเหล้า (จริงๆเราจะปฏิเสธได้ครับ แต่ว่าก็ทำให้บรรยากาศเปลี่ยนไปได้เช่นกัน) และที่สำคัญคือ ความสามารถในการจดจำใบหน้า และชื่อของคนเกาหลีแรกๆของผมนั้น แย่มาก… ทำให้ในคืนนั้นคืนเดียว การจะจดจำชื่อเพื่อนๆทั้งหมดนั้น เป็นไปไม่ได้เลย

การเรียนต่อสายวิทย์ในเกาหลี

เนื่องจากเกาหลีเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี และยานยนต์ครับ ดังนั้นหากใครที่สนใจสายวิทยาศาสตร์สายวิศวกรรมศาสตร์ และอยากจะหางานทำต่อที่นี่ นับว่าเป็นตัวเลือกที่ดีทีเดียวครับ เพราะก็จะมีบริษัทใหญ่ๆอย่าง Samsung หรือ Hyundai ที่ผมเห็นเค้าจะคอยเปิดรับนักศึกษาฝึกงานตลอดเวลา

และข้อดีอีกอย่างของการศึกษาสายวิทยาศาสตร์ อาจเป็นเพราะ วิทยาศาสตร์นั้น ไม่ว่าจะที่ไหนเราก็เรียนเหมือนๆกัน วิทยาศาสตร์มีทฤษฎี มีกฎ ต่างๆที่ค่อนข้างตายตัว สิ่งที่เรียนมาแล้วในชั้นม.ปลายก็อาจจะนำมาช่วยในการเรียนต่อชั้นมหาวิทยาลัยได้บ้าง (มากน้อยขึ้นอยู่กับม.ปลายตั้งใจเรียนมาแค่ไหน)ตรงนี้ก็อาจจะช่วยลดภาระในการทำความเข้าใจทั้งหมดไปได้บ้างแต่ก็ต้องบอกว่า ได้บ้างเท่านั้นนะครับเด็กเกาหลีเค้าเรียนกันค่อนข้างลึก และโดยเฉพาะที่นี่เค้ามีมีรร.เฉพาะทางสายวิทย์อยู่ (อารมณ์ประมาณรร.มหิดลวิทยานุสรณ์) ดังนั้นความแตกต่างกับคนที่เรียนรร.มัธยมธรรมดาๆ แน่นอนก็ย่อมมีครับ

หลายคนที่สนใจเรียนต่อที่เกาหลี มักจะถามเฟรมเรื่อง “การปรับตัว”  ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่อง “ภาษา” เฟรมคิดว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการศึกษาต่อต่างประเทศก็ต้องเริ่มจากภาษากลางที่สุด คือ “ภาษาอังกฤษ” เพราะที่นี่ยังพอมีบางคลาสเรียนที่เป็น English classหรือดำเนินการเรียนการสอนทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งพอมีอยู่บ้าง มากน้อยนั้นขึ้นอยู่กับคณะและสาขาที่เรียน  เห็นอย่างนี้แล้วอาจจะพอทำให้สบายใจขึ้นได้บ้างสำหรับนักเรียนต่างชาติ
แต่อย่างไรก็ดี ภาษาเกาหลีนี้ก็ยังจำเป็นมากๆอยู่ครับ (แน่นอน ก็เพราะที่นี่เป็นมหาวิทยาลัยเกาหลี)ยิ่งสามารถพูดภาษาเกาหลีได้เท่าไร ก็ทำให้เข้าใจเนื้อหาได้ง่าย เร็วขึ้น สื่อสารกับเพื่อนๆในคลาสได้ง่ายขึ้น แต่ข้อเสียคือ … เค้าจะมองว่าเรา”เป็นคนเกาหลีคนนึง”ครับ ยอมรับว่าที่เกาหลี ถ้าคุณมาจากประเทศแทบเอเชียและพูดภาษาเกาหลีได้ ก็ดูแทบไม่ค่อยออกล่ะครับว่า มาจากชาติอะไรผมเป็นคนนึงที่เพื่อนๆมักจะเข้าใจผิดตลอดว่า เป็นคนเกาหลีที่ไปอาศัยต่างแดนเป็นเวลานาน(แล้วพูดเกาหลีไม่ได้) ทั้งๆที่เรานี่แหละ คนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าเมื่อไรก็ตามเค้ามองว่าเราเป็นคนเกาหลี อาจารย์หรือเพื่อนก็จะประพฤติเหมือนกับเราเป็นคนเกาหลี เกณฑ์การให้คะแนนก็จะเหมือนกับคนเกาหลีไปด้วย ซึ่งนี่ถือเป็นข้อเสียเปรียบครับ

กรณีศึกษาชีวิตเฟรชชี่

ยกตัวอย่างบางคลาสที่เฟรมเรียนเป็นภาษาเกาหลีมาล้วนๆ ก็เป็นวิชาเคมีพื้นฐาน (General Chemistry and Experiment) ซึ่งมีทั้งหมด 2 ตัวครับ ตัวละ 3 หน่วยกิต T_T  และ ซึ่งเป็นคลาสบรรยาย 2 ชม. และปฏิบัติการอีก 2 ชม.  การเรียนครั้งที่แล้ว การเรียนการสอน อาจารย์จะอธิบายเป็นภาษาเกาหลี ส่วนไฟล์นำเสนอ จะขึ้นอยู่กับอาจารย์ก็มีทั้งภาษาเกาหลี และภาษาอังกฤษบ้างแต่ข้อดีของวิชาวิทยาศาสตร์ จะใช้ตำราภาษาอังกฤษครับ ดังนั้น สำหรับนักเรียนชาวต่างชาติก็อาจจะต้องออกแรงเพิ่มขึ้นมาอีกหน่อย ด้วยการอ่านทำความเข้าใจมาก่อน แล้วมานั่งจดแลคเชอร์ก็จะทำให้พอเข้าใจเนื้อหาบ้างครับ

เรื่องข้อสอบก็ขึ้นอยู่กับผู้สอนอีกเช่นกัน เคมี 1 ผมเจอข้อสอบเป็นภาษาเกาหลีครับ อาจารย์ค่อนข้างเข้มงวด ผมจึงไม่ได้ไปต่อรองขอให้อาจารย์ออกข้อสอบเป็นภาษาอังกฤษ แต่อ.ก็ส่งผู้ช่วย หรือ TA มาคอยแปลข้อที่ไม่เข้าใจให้ครับ แต่จากประสบการณ์ มัวแต่ถาม TA แล้ว เสียเวลาครับ ดังนั้นอยากทำข้อสอบให้ได้เร็วๆ ใช้เวลาน้อยหน่อยก็ควรจะท่องคำศัพท์เฉพาะทางที่เป็นภาษาเกาหลีไปบ้าง

จะว่าเป็นข้อเสียก็ไม่ผิด สำหรับการเรียนเคมีเป็นภาษาเกาหลี เนื่องจากว่า คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับเคมีทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นชื่อปฏิกิริยาเคมี ชื่อธาตุต่างๆ ภาษาเกาหลีมีศัพท์เฉพาะสำหรับธาตุแต่ละธาตุครับและการอ่านธาตุนั้น จะสลับกันกับวิธีอ่านในภาษาอังกฤษ (เช่น Potassium Hydroxide ภาษาเกาหลีจะใช้คำว่า 수산화 칼륨 ซึ่งถ้าให้แปล มันจะแปลว่า Hydroxide Potassium)

 บางทีเจอภาษาเกาหลีมากๆก็ทำเอามึนได้เหมือนกัน วิชาวิทยาศาสตร์แท้ๆ แต่ก็เจอภาษาเกาหลีซะเยอะ ทำให้ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจมากกว่าชาวบ้าน
บางทีเจอภาษาเกาหลีมากๆก็ทำเอามึนได้เหมือนกัน วิชาวิทยาศาสตร์แท้ๆ แต่ก็เจอภาษาเกาหลีซะเยอะ ทำให้ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจมากกว่าชาวบ้าน (ตัวอย่างจริงจากใบสรุปผลการทดลอง และสไลด์บรรยายวิธีทำแล็บ)

ถ้ามองโลกในแง่ดีขึ้นมาหน่อย ผมต้องกลับมามองตัวเองว่า นี่เรากำลังแข่งภาษาเกาหลีกับคนเกาหลีอยู่ คนเกาหลีที่มีศักยภาพในการทำความเข้าใจเนื้อหาในชั้นเรียนทั้งหมดทันที ตั้งแต่ในห้องเรียนแต่สำหรับคนต่างชาติที่จะต้องทำงานหนักกว่าเดิม ดังนั้นผมอาจจะเป็นคนนึงที่ไม่ได้เอาเกรดมาวัดการเรียนของตัวเองทั้งหมด แต่ก็พิจารณาตัวเองว่าเราพยายามให้กับแต่ละวิชามากน้อยแค่ไหน

การดูแลนักเรียนชาวต่างชาติ

(ซ้ายบน) ปฐมนิเทศผู้ปกครองนักเรียน (ขวาบน) กิจกรรม Tutoring (ล่าง) ปฐมนิเทศสำหรับนักเรียนต่างชาติ
(ซ้ายบน) ปฐมนิเทศผู้ปกครองนักเรียน (ขวาบน) กิจกรรม Tutoring (ล่าง) ปฐมนิเทศสำหรับนักเรียนต่างชาติ

อันนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่มหาลัยค่อนข้างให้ความเอาใจใส่นักเรียนค่อนข้างดี นักเรียนทุกคนจะได้เรียนวิชานึงเป็นเหมือนวิชาแนะแนว ซึ่งค่อนข้างเป็นประโยชน์ เพราะอาจารย์จะแนะนำวิธีการเรียนการลงวิชาเรียน รวมไปถึงแนะนำรุ่นพี่มาแนะนำในชั้นเรียน ซึ่งอาจารย์ที่สอนวิชานี้ก็จะเกี่ยวข้องกับคณะเราโดยตรง อีกทั้งคณะยังจัดประชุมผู้ปกครอง ให้มาทานข้าวร่วมกับอาจารย์ในคณะ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด แนวทางการศึกษา ทำให้รู้สึกใกล้ชิดกับอาจารย์มากยิ่งขึ้น และทำความเข้าใจเกี่ยวกับเส้นทาง แผนการทำงานในอนาคตด้วย

ในระหว่างที่เรียน หากต้องการความช่วยเหลือ เราสามารถลงทะเบียนหาติวเตอร์ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายซึ่งติวเตอร์ที่จะมาติว ก็จะเป็นนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาลัย ที่ได้คะแนนจากวิชาที่เราต้องการให้ช่วยเหลือไม่ต่ำกว่า A มาเป็นคนติวให้ ซึ่งผมก็ได้ให้มหาลัยจัดหาติวเตอร์ที่จะสอนภาษาเกาหลีให้ซึ่งเค้าก็จัดมาให้ผมสี่เทอมต่อเนื่อง ซึ่งข้อดีนอกเหนือจากการได้ทบทวนภาษาเกาหลีแล้ว เรายังได้รู้จักเพื่อน ที่คอยให้คำปรึกษาเราเกี่ยวกับภาษาเกาหลี คอยแก้คำผิดให้ เรื่องทั่วไปเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยการลงทะเบียนเรียน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้บางอย่างก็ไม่มีใครบอก ต้องอาศัยทราบจากเพื่อนเกาหลีเท่านั้นครับ

ในมหาวิทยาลัยก็ยังมีศูนย์บริการนักเรียนชาวต่างชาติ Global Lounge ผมเรียกมันว่าเป็นที่พักพิเศษสำหรับนักเรียนต่างชาติเลยก็ว่าได้ เพราะข้างในจะเป็นห้องใหญ่ๆ พร้อมกับเก้าอี้นุ่มๆ ให้ไปนั่ง นอนเล่น แล้วก็ยังมีโต๊ะไว้ให้สำหรับทำการบ้าน ไม่ต้องไปแย่งคนเกาหลีในห้องสมุด ก็ถือเป็นอีกที่นึงสำหรับไปนั่งพักผ่อนทำการบ้าน และยังเป็นที่ตั้งของออฟฟิศสำหรับนักเรียนต่างชาติ ใครที่จะสมัครเรียน หรือสอบถามเกี่ยวกับการศึกษาต่อ ก็ต้องมาที่นี่ครับ

อัพเดตมหาวิทยาลัยหลังปรับปรุงใหม่

เรียกว่าช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยเลยครับที่ใช้เวลาไปกับการปรับปรุงทัศนียภาพ น่าจะเกือบๆ 2 ปีที่มหาวิทยาลัยเต็มไปด้วยรถเครนและแผงกั้นก่อสร้างเต็มไปหมด ทำเอาไปเรียนลำบากอยู่ช่วงหนึ่งเลยครับ แต่หากใครที่มีโอกาสได้มาชมมหาวิทยาลัยในช่วงนี้สิ่งที่เห็นอาจจะไม่เหมือนกับที่เสนอไปในบล็อกแล้วครับ เรามีบางส่วนมาให้ชมกัน

2014_yonsei_university

2015_year_yonsei

2015_yonsei

สรุป

การได้มาศึกษาต่อที่เกาหลีนี้ คิดว่ามีหลายเรื่องที่ทำให้เราต้องปรับตัว เปลี่ยนแปลงตัวเอง ต้องปรับแนวคิดเพื่ออดทนกับกับหลายๆเรื่อง ทั้งเรื่องการใช้ชีวิตคนเดียว หรือแม้แต่กระทั่งความกดดัน ที่จะต้องเรียนแข่งขันกับคนเกาหลี ซึ่งยอมรับว่าเค้าผ่านช่วงเวลาลำบากในช่วงชั้นม.ปลายมาอย่างโชกโชน ที่บอกได้ก็จากประสบการณ์ที่คลุกคลี ทำงานกับคนเกาหลีมาบ้าง ฟังคนเกาหลีเล่าให้ฟังเองบ้าง ผมเองยอมรับเลยว่าช่วงเวลาที่เค้าพยายามเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยนี้ เด็กเกาหลีได้ถูกปลูกฝังนิสัยการอ่านหนังสือ การท่องจำและการทำข้อสอบมาเป็นอย่างดี เมื่อใกล้ช่วงสอบ ที่นั่งในห้องสมุดก็จะเริ่มถูกจอง ทุกคนอ่านหนังสือกันแบบโต้รุ่ง เดินไปไหนก็ต้องถือชีทอ่านไปด้วย ซึ่งเป็นภาพที่มีให้เห็นบ่อยๆ อีกทั้งเท่าที่ผมได้รู้จักกับเพื่อนๆเกาหลีหลายๆคน เมื่อถามเกี่ยวกับแผนในอนาคต ว่าอยากจะทำอะไรในอนาคต หรือระยะเวลาสั้นๆ อย่างปิดเทอมก็พบว่า ทุกคนมีเป้าหมายที่ค่อนข้างชัดเจน ว่าอยากจะทำงานที่ไหนบ้างก็คิดวางแผนที่สอบวัดระดับภาษาอังกฤษ TOEFL, TOEIC เพื่อไปศึกษาต่อต่างประเทศ ซึ่งผมเองก็แอบตกใจ ที่ทุกคนมีแผนเหล่านี้ไว้ค่อนข้างชัดเจน หรือแม้แต่กระทั่งแผนไปเที่ยว ทุกคนก็มีแผนชัดเจน ว่าจะไปไหน แล้วก็ทำงานเก็บเงินซึ่งตรงนี้ทำให้ผมได้เรียนรู้ว่าคนเกาหลีมีความพยายามสูงมาก

การเรียนต่อต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเกาหลี จึงเหมาะกับคนที่อยากจะหาประสบการณ์ใหม่ๆ ด้วยการศึกษาต่อต่างประเทศ โดยเฉพาะเกาหลีซึ่งเป็นประเทศในกลุ่มเอเชีย ข้อดีคือความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่ไม่สูงมาก (ลักษณะของคนเอเชียก็ค่อนข้างคล้ายคลึงกันมากๆ ทำให้ลดความแตกต่าง ดังนั้นประเทศในกลุ่มเราจะเข้ากับเพื่อนเกาหลีได้ง่ายกว่าเพื่อนชาติอื่นๆ) เหมาะสำหรับคนที่สนใจในภาษาเกาหลี หรือคนที่ต้องการทำงานในด้านเทคโนโลยี วิศวกรรมยานยนต์ อาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีมากครับ

บล็อกในตอนนี้จึงเป็นบล็อกอีกตอนนึง ที่อยากให้เห็นภาพรวมของการศึกษาในมหาวิทยาลัยในเกาหลีหลายๆคนที่อาจจะยังเฝ้าหาโอกาสในการเรียนต่อที่เกาหลี และต้องการหาข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางหวังว่าบล็อกตอนนี้ที่ผมใช้เวลานั่งอ่าน แก้ไขอยู่หลายครั้งตอนนี้ จะเป็นประโยชน์ให้กับทุกคนไม่น้อยนะครับแล้วครั้งต่อไปในโอกาสหน้า เราจะมาพูดถึงอีกโปรแกรมสนุกๆของมหาวิทยาลัย ที่ได้เกริ่นเอาไว้ในตอนต้น “Residential College” แล้วรอติดตามกันตอนต่อไปนะครับ 😀

yonsei-university-sign