[D-8-7] บันทึกการย้ายงาน :: จัดการเอกสารที่ธนาคาร คุยกับ CTO

0
2703

ต้องบอกกับคุณผู้อ่านโดยเฉพาะคนที่ทำงานอยู่ที่ไทยว่า เนื้อหาจับฉ่ายมากครับ 555 บล็อกตอนหลัง ๆ จะเป็นแนวไดอารี แต่ถ้าอ่านดี ๆ อาจจะได้ไอเดียว่าสังคมการทำงานที่นี่เป็นยังไง มีขั้นตอนอะไรยังไงบ้างนะครับ พอรู้ไว้เป็นข้อมูลกัน ​และด้วยความที่ตอนนี้ด้วยความที่ไม่ค่อยมีอะไรอัพเดตมาก เลยขอรวบรวมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน D-8 และ D-7 ไว้ในตอนเดียวกันครับ

D-8 ธุระที่ธนาคาร เปิดบัญชีรับเงินหลักออกจากงาน

วันนี้ก่อนเข้างาน ผมมาทำธุระที่ธนาคาร ยื่นเอกสารเพื่อขอเปิดสมุดบัญชีเพื่อใช้สำหรับรับเงินหลังออกจากงาน ที่ได้เกริ่นไปในตอนแรกครับ

ขั้นตอนไม่ค่อยยุ่งยากแค่ไปที่ธนาคาร บอกกับพนักงานว่าต้องการเปิด บัญชีทเว-จิกยอนกึม IRP (퇴직연금 IRP) แล้วก็นำบัตรต่างด้าว (Alien card) ไปยื่นใช้ประกอบกับการเปิดบัญชี

ถ้าจะมีอะไรแนะนำ ก็คงเป็น แนะนำให้เปิดบัญชีกับธนาคารเดิมที่มีอยู่แล้ว หรือที่เคยทำธุรกรรมด้วย เพราะเราจะประหยัดเวลาในการกรอกเอกสาร เช่น พวกที่อยู่ ข้อมูลส่วนตัว แค่เซ็นชื่อและเช็คเครื่องหมายผ่านจอ ใช้เวลาประมาณ 10 นาที

เราจะได้สมุดบัญชีขึ้นมาหนึ่งเล่มครับ ให้เรานำเอกสารนี้ไปยื่นกับบริษัท เมื่อเงินเข้าเราจะได้รับแจ้งเตือนทางอีเมล หรือโทรศัพท์ (ของผมไม่ได้เปิดรับข้อความจากธนาคาร เลยให้ส่งไปทางเมลแทน เช็คอีเมลที่เราลงทะเบียนไว้กับธนาคารให้เรียบร้อย) เมื่อเราได้รับแจ้งเตือน ก็ให้นำสมุดบัญชีไปยื่นเรื่องขอยกปิดบัญชี (해지) เพื่อนำเงินไปไว้ในบัญชีธนาคารปกติของเราภายใน 30 วัน

ระหว่างนี้พี่พนักงานแบงค์ก็ชวนคุยเยอะครับ ว่าทำไมเราถึงมาสมัครบัญชีนี้ จะกลับไทยแล้วเหรอ ตัวเขาเห็นเราเป็นคนไทยก็รู้สึกประทับใจ เพราะเคยดูรายการ

สมุดบัญชีเพื่อรับเงินทเวจิกกึม

ที่มีคนไทยมาเที่ยวเกาหลี พอได้เห็นบทสนทนาภาษาไทยแล้วรู้สึกอยากเรียน มันมีเสน่ห์

ยังสงสัยชื่อผมอีกว่า “Rachata เนี่ย ที่ไทยเนี่ยโหลหรือเปล่า?” เพราะว่าเหมือนได้ยินชื่อนี้ในรายการด้วย ผมเคยได้ยินใครพูดเรื่องนี้ครั้งหนึ่งแล้วครับ และก็เดาได้ว่า น่าจะคิดว่าชื่อผมต้องไปคล้ายกับ “พี่ปรุง ทัชระ”  คนไทย ที่เป็นผู้ดำเนินเนื้อเรื่องในรายการ 어서와 한국은 처음이지 ที่เพิ่งออกอากาศเรื่องราวของคนไทยที่มาเที่ยวในเกาหลีไม่นานมานี้ ซึ่งเขาว่าพี่ปรุง “ชื่อคล้ายกัน” กับผม คิดอยู่นานว่าคล้ายกันได้ยังไง ก็ได้คำตอบว่า ถ้าเกิดเอาชื่อเรา (เขียนแบบภาษาเกาหลี) มาสลับจากหลังมาหน้าจะได้เป็น Ta-cha-ra (ชื่อพี่เขานั่นเอง) เอ้อ … เอาจริง ๆ นึกไม่ถึงเหมือนกันครับ

“พี่ปรุง” ที่ไปออกรายการ Welcome, First Time in Korea? ภาพจาก Newsen

สุดท้ายพี่พนักงานยังแนะนำให้ผมมาเปิดสมุดบัญชีเพิ่ม เป็นบัญชีสะสมทรัพย์ฝากประจำ (예금) หลังจากที่ได้เงินออกจากงานนี้อีก ก็เรียกว่าขายของกันเต็มที่ ถ้าเกิดรู้สึกว่าชีวิตต้องการความมั่นคงจะเปิดก็ไว้ก็ไม่เสียหายนะครับ สร้างนิสัยการออมดี ผมเองขอบายเพราะว่ารอบที่แล้ว มาธนาคารสาขานี้เลยล่ะ ก็เปิดบัญชีออมทรัพย์เพื่อบ้านกับพี่เขาไปแล้ว … พี่เขาคงจำผมไม่ได้เอง 555

D-7 สัมภาษณ์กับ CTO

อีกวันที่เริ่มรู้สึก ตัวเราจะค่อย ๆ ก้าวออกจากออฟฟิศ​ พี่หัวหน้าแผนกถามผมว่า “อยากให้ประกาศลง Slack เมื่อไหร่ ว่าเราออก” เพราะปกติก็จะบอกล่วงหน้าเป็นเดือนก็มี 15 วัน, 7 วัน สีหน้าตอนที่พี่เขาถามผมก็ดูไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ผมเองเลยบอกไปว่า “แล้วแต่เห็นสมควรเลยครับ” พร้อมกับยื่นโดนัทคริสปี้ครีมให้ดื้อ ๆ (ซื้อมากะว่ากินเป็นของว่าง แต่ถึงตอนนั้น ไม่รู้อะไรให้ผมอยากหยิบขนมไปปลอบใจหัวหน้าแผนกเหลือเกิน) ผมเองสีหน้าก็ใช่ว่าจะดีเหมือนกัน !

ขอ Insert ภาพหัวหน้าแผนก – จริง ๆ ผมไม่เคยเรียกว่า ‘ท่านหัวหน้า’ เลย เพราะบริษัทมีชื่อเล่นให้กับทุกคน แต่ถ้าดูจากหน้าที่ของพี่เขา ก็คือหัวหน้าแผนกครับ

หัวหน้าแผนกของผม อายุแค่ 30 ต้น ๆ เองครับ เป็นผู้หญิงที่แกร่ง ถึก ทำงานได้เร็วและ Multitasking มาก มีเชี่ยวชาญการทำ Google sheet สร้างตารางเพื่อนำเสนอข้อมูลตัวเลขต่าง ๆ เรียกว่าเป็นเจ้าแม่ Sheet เลยก็ว่าได้ เลยค่อนข้างสนิทและมีอะไรผมปรึกษาเขาได้หลาย ๆ เรื่องเลย ดูแลความเป็นอยู่ของผมและเพื่อน ๆ ต่างชาติ เป็นธุระเรื่องวีซ่าให้ผมด้วยตอนช่วงสมัครงานใหม่ ๆ ผมคงจะได้พูดถึงพี่เขาอีกรอบในบล็อกตอนท้าย ๆ ครับ

ส่วนช่วงบ่ายแก่ ๆ ผมมีนัดกับ CTO ของบริษัท (รูปปกของบทความนี้คือถ่ายกับ CTO) ซึ่งทำหน้าที่ดูแลโครงสร้างขององค์กร ดูภาพรวม,เศรษฐกิจของบริษัท ก็มาขอนัดสัมภาษณ์ผมครับ จริง ๆ ก็เหมือนพูดคุยกันนอกรอบเล่น ๆ เขาก็พูดตลอดว่าเสียดายที่ไม่ได้ทำงานด้วยกันต่อ ว่าที่มาที่ไปของเราทำไมถึงออกจากบริษัท ทำเป็นข้อมูล และที่ถามเป็นเพราะว่าเราทำงานกับบริษัทมานาน น่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลง เห็นจุดที่ควรปรับปรุง สาระสำคัญจึงเป็นการขอไอเดียว่ามีอะไรที่ดี และควรปรับปรุง

จริง ๆ ผม “เก็งคำถาม” พวกนี้ไว้แล้วก็เตรียมคำตอบไว้แล้วครับ ถามว่าทำไมต้อง “เก็ง” เพราะว่า ไม่อยากให้การสนทนามันดูตรงไปตรงมา คำตอบพวกนี้อยากจะคิดหน้าคิดหลังให้รอบคอบดี ๆ สักหน่อย​ (โดยเฉพาะต้องพูดเป็นภาษเกาหลี กลัวจะสื่อสารได้ไม่ตรงตามความรู้สึกที่เราต้องการ) แต่ทุกอย่างก็ตอบไปบนพื้นฐานความเป็นจริง ผมเชื่อว่าระหว่างทำงาน คงมีเรื่องจู้จี้จุกจิกมากมายที่เราอยากระบาย หรือไม่พอใจกันบ้าง แต่สุดท้ายถ้าอะไรมันพอให้อภัยได้ หรือไม่พูดถึงมันอีกผมก็รู้สึกว่ามันก็อาจจะดีกว่าเอามาพูดถึงอีกครั้ง ผมมีเรื่องอึดอัดใจบ้างในการทำงานแต่ไม่ถึงขั้นต้องเอามาตำหนิให้ฟังเป็นฉาก ๆ เพราะการทำงานส่วนตัวแล้วผมค่อนข้างกับพอใจ ยากคือยาก ง่ายคือง่าย ไม่ค่อยแสดงความรู้สึกเหนื่อยหน่ายให้ใครเห็นเท่าไหร่ ก่อนจะเล่าผมก็ชื่นชมสิ่งที่บริษัททำได้ดี สิ่งที่รู้สึกว่าบริษัทนี้ไม่มีเหมือนที่อื่น ก่อนจะเสนอแนะอะไรให้แก้ไขบ้าง ส่วนใหญ่จะเน้นไปทางชมฮะ

บทสนทนาจบไปไม่ตึงเครียด ใช้เวลา 20 นาที ก่อนที่ CTO จะทิ้งท้ายกับผมว่า “อยากให้เราจำภาพที่ดีของกันและกันเอาไว้ และถ้ามีโอกาสจะได้ทำงานด้วยกันเอง ที่นี่ยังเปิดรอเราเสมอ” 

ครับ Happy Ending .. CTO ยังบอกให้ผมหาโอกาสกินข้าวอาทิตย์หน้ากับเพื่อนร่วมงานคนอื่นด้วย กินข้าวกับเขาด้วย และถ้าเป็นไปได้บอกเจ้านาย CEO ให้เลี้ยงข้าวด้วย เขาพูดปนขำปิดท้ายไป ก่อนที่จะแยกย้ายกัน

ตอบ

Please enter your comment!
Please enter your name here

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.