[D-9] บันทึกการย้ายงาน :: แรงจูงใจที่ออก สิ่งแรกที่ต้องทำ

0
3028

บล็อกนี้ได้แรงบันดาลใจมาจาก “บันทึกเตรียมออกจากงาน” ของคุณ  ตอนนั้นกำลังเข้าไปหาข้อมูลเกี่ยวกับเอกสารที่ต้องใช้เตรียมเพื่อยื่นลาออกจากบริษัทพอดี เลยลองนำมาเรียบเรียง แชร์ประสบการณ์ย้ายงานครับ

ที่มาที่ไป

ผมทำงานที่บริษัทสตาร์ทอัพในเกาหลีแห่งหนึ่ง ทำเป็น Content Editor ดูแลเนื้อหาภาษาไทยให้กับแอพบนเฟซบุ๊กตัวหนึ่งที่เชื่อว่าหลายคนมีโอกาสได้เล่นกัน เป็นงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และเรียนรู้อยู่บนโลกโซเชียลเพื่อศึกษาความชอบของคนไทย อะไรเวิร์ค อะไรไม่เวิร์คมาตลอด 4 ปีเต็ม ๆ โดย 2 ปีทำงานเป็นพาร์ทไทม์ให้และเมื่อเรียนจบแล้วก็ได้วีซ่าทำงานที่นี่ เข้ามาทำงานบริษัทนี้อย่างจริง ๆ จัง ๆ เมื่อปี 2017

ทำงานในบริษัทที่สเกลไม่ได้ใหญ่มาก งานและวัฒนธรรมในการทำงานจึงมีความยืดหยุ่นสูง ทุกคนอยู่กับเหมือนสมาชิกในครอบครัว เรียกชื่อเล่น ไม่มีเรียกตำแหน่งว่าท่านประธาน หรือ หัวหน้าฯ เหมือนกับบริษัทเกาหลีอื่น ๆ ใครไปไหนมาไหน ก็พูดคุย บอกกันได้ ทำให้ข้อจำกัดในการทำงานถือว่าน้อยมาก ๆ และรู้สึกว่าบริษัทแบบนี้หาได้ยากถึงยากมาก ๆ ในเกาหลี เวลาใครมาถามผมว่า “ทำงานในบริษัทที่เกาหลีเป็นยังไงบ้าง” ผมมักจะให้คำตอบแบบทั่วไปไม่ได้ เพราะบริษัทนี้มีรูปแบบการทำงาน สวัสดิการ ที่แตกต่างไม่เหมือนที่ไหนเลย เพราะไม่มีที่ไหนกล้าให้วันลาแบบไม่จำกัด หรือให้เงินไปทานข้าวเที่ยงได้อย่างอิสระ สวัสดิการแบบนี้มีที่นี่ที่เดียว 555 เอาเป็นว่าอาจจะมีบล็อกอีกสักตอนที่พูดถึงประสบการณ์ทำงานในบริษัทนี้แล้วกันครับ

วันไหนที่ออกไปหาอะไรกินกันเป็นทีม ก็จะจัดเต็มแบบนี้

เหตุจูงใจของผมส่วนหนึ่งคือ “ความอยากรู้ในสายงานใหม่ ๆ” อยากมีทักษะที่กว้างขึ้นออกไป ทำงานอยู่บนสื่อออนไลน์มานานก็พอจะพบแนวทางในการทำงานบ้าง แต่ก็อยากขยับขยายไปในสเกลที่ใหญ่ขึ้น มีเรื่องที่ต้องให้คิดให้วางแผนมากขึ้น ผมเลยมองมาทางด้าน “เกม” ที่มีกลุ่มตลาดรองรับค่อนข้างสูง บริษัทเกมในเกาหลีก็มีหลากหลาย แข่งกันออกเกมใหม่ ๆ โดยเฉพาะตลาด Mobile จึงคิดว่าน่าจะสามารถใช้โอกาสนี้ได้เข้ามาเล่นเกมและมาศึกษาตลาดเกมที่ไทยอย่างจริง ๆ จัง ๆ ได้

แต่ก็ใช่ว่าความอยากเพียงอย่างเดียวที่จะสามารถเปลี่ยนใจให้ผมเปลี่ยนงานได้ง่าย ๆ เพราะมันก็ย่อมมีบ้าง ที่จะยังคงติดความสะดวกสบายบน Comfort zone เดิม ๆ อยู่ ผมก็ถามตัวเองซ้ำไปซ้ำมาว่าอยากจะเห็นอนาคตตัวเองในเกาหลีแบบไหน พอมีคำตอบในใจ + รวบรวมความกล้า จึงเริ่มมองหาสมัครงานที่อื่นดูครับ

ผมเริ่มมองหาที่ทำงานใหม่ ค้นหางานจากเน็ต สอบถามจากรุ่นพี่ที่รู้จัก จนมาถึงขั้นตอนการสมัครงาน สัมภาษณ์งาน (3 รอบ) ตั้งแต่เริ่มต้นหางานไปจนถึงวันสุดท้ายถึงได้รับข่าวให้เข้าไปร่วมทำงานในบริษัทแห่งใหม่ ก็น่าจะใช้เวลาร่วม 2-3 เดือน

จึงเป็นที่มาของบล็อกในตอนนี้ วันที่ต้องเริ่มต้นบอกกับที่ทำงานว่าเราจะลาออก การเตรียมตัวเข้าไปสู่ที่ทำงานใหม่ หน้าที่ที่ต้องทำก่อนลาออกจากบริษัทเดิมที่เกาหลีว่ามีอะไร ความรู้สึกนึกคิดของผมในตอนนั้นเป็นยังไง ได้ลองถ่ายทอดและเรียบเรียงมาให้ได้อ่านกันครับ

D-9 (22 พ.ค. 2019) จัดการเรื่องเงินพึงได้เมื่อลาออก

ก่อนหน้านี้แม้ว่าจะบอกกับที่บริษัท บอกหัวหน้าแผนกของเราเกี่ยวกับการลาออกแล้ว วันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งวันที่ได้รับข้อความมาจากฝ่าย HR ที่ดูแลเรื่องเอกสาร สัญญาต่างของเรา พี่เขาติดต่อมาเกี่ยวกับการเตรียมตัวเพื่อออกจากงาน ครับ

ที่เกาหลีจะมีระบบหนึ่งที่เรียกว่า “ทเวจิกกึม (퇴직금)” แปลว่า เงินที่ได้รับเมื่อออกจากงาน มีจุดประสงค์เพื่อให้เราใช้เลี้ยงชีพหลังออกจากงาน ซึ่งจะได้รับไม่ว่าจะเป็นกรณี ลาออกด้วยความสมัครใจ หรือ ถูกไล่ออก อันนี้เป็นสิทธิ์สำหรับคนที่ทำงานเกิน 1 ปีจะต้องได้รับโดยพื้นฐานครับ

ลองไปสืบหาข้อมูลมาว่า เงินก้อนนี้จะเป็นเงินจำนวนเท่าไหร่ ก็พบว่ามันคือ…

(ค่าเฉลี่ยของเงินเดือน 3 เดือนย้อนหลัง ) x จำนวนปีที่ทำงาน

เงินจำนวนนี้จะถูกโอนเข้าบัญชีพิเศษของเรา ซึ่งเราจะต้องไปทำเรื่องขอเปิดบัญชีที่ธนาคาร เรียกว่า 개인형IRP เพื่อใช้รับเงินทเวจิกกึม หรือ ทเวจิกยอนกึม (퇴직연금) นี้โดยเฉพาะ ขั้นตอนนี้เข้าใจว่าแต่ละบริษัทมีนโยบายไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับว่าบริษัทไปทำประกันไว้กับบริษัทไหน เอกสารไม่ต้องใช้อะไรเลย สามารถไปบอกพนักงานที่ธนาคารเพื่อเปิดบัญชีนี้ได้ทันที แต่จะให้แนะนำก็คือไปธนาคารที่เรามีบัญชีอยู่แล้วเพื่อความสะดวก ไม่ต้องกรอกเอกสารเยอะครับ

สมุดบัญชีเพื่อรับเงินทเวจิกกึม

ใช้โอกาสนี้ที่พี่เขาทักมาขอเอกสารกลับไปบ้าง เป็นเอกสารที่ทางบริษัทใหม่ขอให้เราจัดการ ก็จะมี เอกสารเกี่ยวกับการเงินของเรา เป็นเอกสารระบุการจ่ายเงินเดือนจากบริษัท และรายละเอียดการชำระภาษีต่าง ๆ เท่าไหร่ (จะสำคัญมากหากบริษัทที่ไปทำเป็นสตาร์ทอัพ หรือบริษัทขนาดกลางในเกาหลี เนื่องจากเกาหลีใต้มีการละเว้นภาษีนี้), เอกสารประสบการณ์ทำงาน (경력증명서) กรณีที่เราย้ายงาน และที่ทำงานใหม่ต้องการหลักฐานว่าเรามีประสบการณ์ทำงานก่อนหน้า ก็จำเป็นที่จะต้องยื่นเพิ่มเติมครับ ซึ่งในรายละเอียดเอกสารจะระบุชื่อของเรา ตำแหน่ง ระยะเวลาทำงาน ที่อยู่ของบริษัท และมีตรารับรองของบริษัทระบุเอาไว้

เตรียมของตอบแทนเจ้านาย แทนความสัมพันธ์ดี ๆ กับเพื่อนที่ทำงาน

อันนี้ก็คิดเหมือนกันว่าเราอยากให้คนที่บริษัทเก่าจดจำเราอย่างไร ไม่จดจำแต่ก็อยากตอบแทนความรู้สึกดี ๆ ที่เรามีให้กับที่บริษัท ดูตัวอย่างจากคนที่เคยออกมา ก็มีที่ออกไปเฉย ๆ ไม่ได้ให้อะไร หรือ บางคนก็มีของเล็ก ๆ น้อยให้เพื่อนที่แผนก ทีมของผมที่แทบไม่มีใคร และไม่ใหญ่มาก เลยตัดสินใจจะหาของที่ระลึกให้กับคนที่ดูแลช่วยเหลือคนต่างชาติคนนี้ (ที่ปัญหาเยอะ 55) เลยคิดถึงไอเดียของน้องแจน เป็นน้องคนไทยที่เคยหาของให้เจ้านายที่บริษัทก่อนจะลาออก น้องพูดถึง “บัตรกำนัลทานอาหารไทย” มาพอดี ซึ่งก็ชอบไอเดียนี้มาก อยากให้เขาจำอะไรเกี่ยวกับเรา นำเสนออะไรไทย ๆ ให้คนที่ทำงานรู้จัก มันก็น่าจะเป็นบัตรให้ไปกินอาหารไทย

ผมมีร้านอาหารไทยที่รู้จักอยู่ รู้จักผู้จัดการร้าน รู้จักพี่เชฟ เลยโทรไปสอบถามที่ร้านว่าเขามี Gift voucher จำหน่ายหรือเปล่า ร้านก็บอกกับผมมาว่า “ไม่มี” แต่ถ้าจะทำให้เจ้านายทั้งที ก็ยินดีนะ ยินดีเล่นด้วย บอกให้เราไปดีไซน์มาเองเลย มานำเสนอเขาเองเลย ผมก็บ้าจี้ออกแบบ Gift voucher ภายใน 30 นาที แล้วส่งกลับไปให้เจ้านายร้านอาหารไทย approve อีกที ก็หวังว่าคนรับจะได้ทานอาหารไทยอร่อย ๆ ในบรรยากาศร้านดี ๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริการจากผู้จัดการร้านอาหารไทยที่พร้อมจะดูแลแขกคนสำคัญให้เราอย่างดี

เรื่องราวในวันถัด ๆ ไปจะทยอยนำมาเล่าไม่ให้ยืดเกินไปนะครับ

ปล. ในการออกเสียงคำว่า ทเวจิกกึม มันอาจจะยากเกินไป บางคนเลยเรียก แทจิกกึม , เทจิกกึม ครับ

ปล. 2 สายงานคนละประเภทกัน งานออฟฟิศก็อีกแบบ งานโรงงานก็อีกแบบครับ ดังนั้น สำหรับแรงงานไทย (ที่มาถูกต้องตามกฎหมาย) ที่ทำงานเกิน 1 ปี มีสิทธิ์ได้รับเงินนี้เช่นกัน แต่รายละเอียดและระเบียบแนะนำให้ไปขอกับที่บริษัทครับ มีคนรีวิวเอาไว้มากมายสามารถค้นหาใน Google ว่า “แทจิกึม” ก็จะมีรายละเอียดบอกไว้ด้วย

ตอบ

Please enter your comment!
Please enter your name here

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.