Homeรีวิวเกาหลีชีวิตประจำวัน รักษาสายตาด้วยเลนส์เสริม ICL ที่เกาหลี (รายละเอียด+ราคา)

[รีวิว] รักษาสายตาด้วยเลนส์เสริม ICL ที่เกาหลี (รายละเอียด+ราคา)

สวัสดีครับ หายหน้าหายตาจากการเขียนบล็อกไปอย่างยาวนาน และแล้วก็มาถึงอีกหนึ่งเรื่องที่อยากจะบันทึกเอาไว้หน่อย กับประสบการณ์การผ่าตัดปรับสายตาด้วยการใส่เลนส์เสริม (ICL) ในเกาหลีครับ

*รีวิวนี้ไม่ได้รับการสนุนจากโรงพยาบาลแต่อย่างใดนะครับ ตามคอนเซ็ปต์ของตัวเองซื้อเองจ่ายเอง #내돈내산 เพื่อประกอบการตัดสินใจและเป็นข้อมูลสำหรับผู้ที่สนใจผ่าตัดใส่เลนส์เสริมครับ

ทำไมถึงต้องผ่าตัดใส่เลนส์เสริม?

ผมเป็นคนที่สายตาสั้นสูงมาก เพราะใส่แว่นตั้งแต่เด็ก ๆ ข้างซ้าย -11.25 (หรือ 1,125) ข้างขวา -10.25 (หรือ 1,025) แล้วก็พบว่าสายตาเริ่มมาเอียงในช่วงหลัง คือซ้าย -2 (200) และขวา -2.25 ​(225) หลังจากที่พบว่าตัวเองเป็นคนที่ต้องทำงานกับคอมพิวเตอร์อยู่ตลอดเวลาและใช้สายตาหนักตลอดทั้งวัน ทำงานไปสักพักรู้สึกว่าสายตาล้าง่าย และส่งผลให้รู้สึกปวดหัวบ้าง เลยมองหาแว่นตาป้องกันแสงสีฟ้า (Bluelight) หรือป้องกัน UV โดยหวังว่าจะช่วยลดความเหนื่อยล้าของสายตา แต่ก็พบว่าการตัดแว่นพวกนี้ กับค่าสายตาสูง ๆ มีตัวเลือกไม่ค่อยเยอะ และมีค่าใช้จ่ายสูง ก็เลยเกิดความคิดว่าทำไมเราไม่ผ่าตัดปรับสายตาทำเลสิคไปเลย พอหาข้อมูลก็ทำให้พบว่า เดี๋ยวนี้มีเทคโนโลยีที่เรียกว่า “SMILE” (스마일 라식, ที่ไทยจะมีอีกชื่อคือ ReLek SMILE) ที่สามารถผ่าตัดแล้วไม่ต้องใช้เวลาพักฟื้นนาน วันต่อมาสามารถใช้ชีวิตปกติได้เลย เรื่องนี้ช่วยลบภาพเกี่ยวกับการทำเลสิคเจ็บ ๆ ของเราในอดีต เลยเริ่มศึกษาหาข้อมูล แต่สุดท้ายก็พบว่ามีข้อจำกัดหลายอย่างที่ทำให้คนสายตาสั้นสูงเกินพันสามารถทำได้ เลยต้องมาหาทางเลือกอื่น ก็มาเจอเป็น การใส่เลนส์เสริม (ICL : Implantable Collamer Lens) ที่จะรองรับค่าสายตาได้สูงขึ้นไปอีก แต่คนส่วนใหญ่มักจะเลือกทางนี้เป็นทางเลือกท้าย ๆ ด้วยเรื่องของค่าใช้จ่ายที่สูงแม้ว่าจะเป็นหนึ่งในรูปแบบการผ่าตัดปรับค่าสายตาที่มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง ตอนหาข้อมูลส่วนใหญ่ก็เน้นหาอ่านเป็นภาษาเกาหลีเสียส่วนใหญ่ เนื่องจากต้องการพยายามทำความเข้าใจคำศัพท์เทคนิคต่าง ๆ เพื่อใช้ในการรับคำปรึกษา ส่วนที่ไทยก็เห็นมียูทูปเบอร์ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าตัดเลนส์เสริมอยู่บ้างครับ

รีวิวการผ่าตัดใส่เลนส์เสริมในรพ.ไทย (ช่อง MayyR)

ตรวจสายตาเพื่อใส่เลนส์เสริม

ก่อนที่จะสรุปได้ว่าเราจะสามารถทำอะไรได้ไม่ได้จริง ๆ ก็ต้องมาตรวจสายตาก่อนครับ พอศึกษาข้อมูลจากรีวิวในเว็บต่าง ๆ ก็ตัดสินใจว่าจะมาใช้บริการของคลินิก 서울밝은세상안과 (Seoul BGSS Eye Clinic) เหตุผลอาจจะเป็นเพราะว่าเป็นคลินิกที่ค่อนข้างใหญ่มีสองสาขาที่โซลและปูซาน ที่สำคัญคือใกล้กับออฟฟิศที่ทำงาน เผื่อว่ามีปัญหาอะไรก็จะได้สามารถเดินทางไปรักษาได้สะดวกหน่อย ก็สามารถนัดวันที่สะดวกได้ทาง Kakaotalk ของโรงพยาบาล แจ้งว่าเราสนใจจะตรวจสายตาแบบละเอียด (정밀검사) ทางคลินิกก็จะนัดวันเวลาที่สะดวก กรณีที่เป็นชาวต่างชาติ ช่วงนี้เหมือนทางคลินิกจะมีมาตรการเกี่ยวกับโควิด-19 เป็นพิเศษ ก็จะต้องยื่นเอกสารที่เรียกว่าเป็นในรับรองการเข้าออกประเทศ (출입국사실증명서) มาประกอบด้วยเพิ่มเติม ซึ่งเป็นเอกสารที่จะต้องไปออกที่เขตในราคา 2,000 วอน เพื่อรับรองว่าในช่วงเร็ว ๆ นี้ไม่ได้มีการเดินทางในประเทศกลุ่มเสี่ยง

คลินิกตั้งอยู่ใกล้กับสถานี 압구정로데오 (Apgujeongrodeo Station) ประตูทางออก 5 เดินตรงมาจะเห็นอาคารแบบนี้ ชั้น 7 จะเป็นศูนย์ตรวจตาครบวงจร และชั้น 2 จะเป็นห้องสำหรับผ่าตัดและแผนกผู้ป่วยนอก

ไปถึงชั้น 7 ของคลินิก ตรงนี้ก็จะเป็นศูนย์ตรวจสายตาครบวงจร เข้ามาก็จะมีกรอกประวัติพื้นฐานว่ามีความผิดปกติเกี่ยวกับสายตาอย่างไรบ้าง แล้วก็จะมีคำแนะนำเกี่ยวกับการตรวจสายตา ตรวจสายตาจะมีเป็นฐานตรวจอยู่หลายฐาน เดินไปเรื่อย ๆ ซึ่งใช้เวลาตรวจตรงนี้รวม ๆ แล้วเกือบ 3 ชั่วโมง ขั้นตอนนี้ก็จะมีเจ้าหน้าที่ขานชื่อเราไปตามฐานอยู่เรื่อย ๆ อ้อ ต้องบอกก่อนว่าทางคลินิกมีบริการล่ามให้ โดยมีค่าใช้จ่าย 50,000 วอน/ครั้ง ซึ่งหากเราไม่สันทัดภาษาเกาหลี ก็สามารถติดต่อไปทางคลินิกได้ แต่ผมตัดสินใจที่จะไม่ใช้ล่ามและดำเนินทุกอย่างด้วยตัวเอง ตรวจสายตาก็จะมีตั้งแต่วัดความดันตา, ตรวจขนาดตา, การมองเห็นในที่มืด, จอประสาทตา ประมาณฐานที่ 2-3 พอมีการตรวจค่าสายตาและพบว่าเรามีค่าสายตาที่สูง และไม่สามารถทำเลสิคได้เจ้าหน้าที่ก็จะแจ้งให้เราทราบ ก่อนที่จะแนะนำให้เราทำเป็น “การใส่เลนส์เสริม” ภาษาเกาหลีจะเรียกว่า 안내렌즈삽입술 (อาน-เน-เลน-จึ-ซา-บิบ-ซุล) ซึ่งการใส่เลนส์เสริม ก็จะมีรายละเอียดยิบย่อยออกไปอีก ตามสภาพของสายตา ในบรรดาการตรวจไม่ค่อยมีอะไรเจ็บเป็นพิเศษ มีการหยอดยาขยายม่านตาอยู่เรื่อย ๆ อาจจะมีรู้สึกระคายเคืองตาบ้าง หลัก ๆ ก็จะอยู่แค่เอาหน้าคางวางแท่น หน้าผากแตะ ลืมตากว้าง ๆ ถ้าถามถึงการตรวจอะไรแปลก ๆ หน่อยก็น่าจะเป็นการตรวจหาพื้นที่ใต้ลูกตาผ่านคลื่นตามที่เห็นขั้นตอนในวิดีโอถัดไป (ถามว่าเจ็บมั้ย ไม่เจ็บ…)

การตรวจหาพื้นที่ภายในตาเพื่อการทำเลนส์เสริม (วิดีโอจากคลินิก) เนื้อหาจะอยู่ตั้งแต่นาทีที่ 5:20 เป็นต้นไป

 

เทคโนโลยีการใส่เลนส์เสริม

สรุปสั้น ๆ เลนส์เสริม คือการใส่เลนส์รูปแบบเฉพาะ ที่มีคุณสมบัติยืดหยุ่นและเข้ากับร่างกายของเราได้ เข้าไปในดวงตาของเราครับ เลนส์เสริมแบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ ใส่หน้าม่านตา จะเรียก 전방렌즈 (ชอน-บัง-เลน-จึ) และเลนส์ที่ใส่หลังม่านตา จะเรียก 후반렌즈 (ฮู-บัง-เลน-จึ) ดวงตาเราจะเหมาะกับรูปแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่ภายในตาของเราที่สามารถรู้ได้จากการตรวจสายตาแบบละเอียด และอีกหนึ่งสิ่งที่จะเป็นตัวกำหนดว่าจะต้องใช้เลนส์รูปแบบไหน ก็คือ ค่าสายตาเอียง (난시) โดยลำพังตัวเลนส์เสริมสามารถแก้เรื่องปัญหาสายตาสั้นได้ เรียกว่าหมดจดตั้งแต่คนที่มีค่าสายตา 50 – 1,800 เลย แต่ส่วนที่เป็นสายตาเอียง หากมีค่าสายตาเอียงสูงกว่า 200 ขึ้นไป ก็อาจจะต้องพิจารณาใช้เลนส์เสริมที่แก้ปัญหาสายตาเอียงสูงโดยเฉพาะที่เรียกว่า “Toric ICL” (토릭 ICL) ซึ่งจะมีราคาแพงกว่าเลนส์สายตาสั้นปกติ “Aqua ICL” (아쿠아 ICL) ประมาณ 1 ล้านวอน (26,000 บาท)​ โดยปกติแล้วการแก้สายตาเอียงในค่าที่ไม่สูงมาก ตัว Aqua ICL ก็สามารถปรับสายตาเอียงได้ในระดับหนึ่งอยู่แล้ว ถ้าแก้แล้วยังมีค่าสายตาเอียงหลงเหลืออยู่ ทางคลินิกแนะนำให้ทำเป็น PRK (Lasek – 라섹) ต่อหลังจากผ่าตัดไปแล้ว 3 เดือน ส่วนเคสที่มีค่าสายตาเอียงร่วมด้วยสูงมาก คงจะหนีไม่พ้นการใส่เลนส์เสริมชนิด Toric ICL

การใส่เลนส์เสริมเข้าไปในบริเวณหลังม่านตา (ที่มา PeposeVision Institute)

ผลข้างเคียง & สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับการทำเลนส์เสริม ICL

พูดถึงตัวผลข้างเคียงของการใส่เลนส์เสริม ที่มักพูดถึงกันมากที่สุดก็จะหนีไม่พ้น โอกาสที่จะเกิดโรคต้อหิน (glaucoma, 녹내장) และต้อกระจก (cataract, 백내장) ซึ่งคุณหมอจะพูดในทางทฤษฎีว่ามันมีโอกาสเกิด หากมีกรณีที่ตัวเลนส์มีการเสียดสีในตาของเรา ซึ่งอาจจะมาจากขั้นตอนที่ขาดความเชี่ยวชาญ ขนาดของเลนส์ไม่เหมาะสมกับผู้ป่วย หรือเหตุสุดวิสัย ซึ่งก็อาจจะทำมีโอกาสในการเกิดได้แต่ที่ผ่านมาเคสแบบนี้ก็ยังถือว่าน้อยอยู่

อีกเรื่องน่าจะเป็นโอกาสในการกลับมาสายตาสั้นอีกครั้ง เรื่องนี้เห็นว่าก็มีโอกาส แต่ก็น้อยในกรณีที่สายตามีค่าที่คงที่ระดับหนึ่งแล้ว และหากมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ก็สามารถผ่าตัดนำเลนส์ออกได้ทันทีโดยที่สภาพของดวงตายังคงเดิม ซึ่งแตกต่างจากการผ่าตัดเลสิคที่สูญเสียกระจกตา

มีรายละเอียดที่อยากให้อ่านเพิ่มเติม เป็นบทความของรพ.กรุงเทพ ที่สรุปคำถาม-คำตอบ เกี่ยวกับเรื่องการทำเลนส์เสริม ICL ไว้ครับ [ถามตอบเรื่องที่คุณสงสัยกับการผ่าตัดใส่เลนส์เสริม ICL]

ผลการตรวจตา & ราคาในการผ่าตัดใส่เลนส์เสริม

หลังจากที่ผ่านการตรวจสภาพตาของเรามาทั้งหมดแล้ว ก็อยู่ในเกณฑ์ที่น่าจะทำได้ครับ ขั้นตอนสุดท้ายก็จะมีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการผ่าตัดปรับค่าสายตาที่เหมาะสมกับเรา แจ้งสภาพสายตา ขั้นตอนการผ่าตัด รวมไปถึงราคาด้วย โดยที่นี่ราคาสำหรับการผ่าตัดแก้สายตาสั้น (อย่างเดียว) ด้วยเทคโนโลยี Aqua ICL + จะอยู่ที่ 4,400,000 วอน (ประมาณ 118,800 บาท) ซึ่งเป็นราคาที่คลินิกลดให้และเป็นราคาลด 2 แสนวอน และตัดสินใจรับการผ่าตัดในวันเดียวกัน สำหรับราคาในการแก้ไขสายตาที่มีสายตาเอียง ด้วย Toric ICL นั้นจะแพงกว่า 1 ล้านวอน อยู่ที่ 5,400,000 วอน (ประมาณ 145,800 บาท) ราคาทั้งหมดนี้เป็นการแก้ไขสายตาทั้ง 2 ข้าง, ยังไม่รวมค่ายา (ประมาณ 3 หมื่นวอน)​ และค่าตรวจสายตา (ประมาณ 4 หมื่นวอน)

ก่อนที่คิดว่าตัวเองจะได้เข้ารับการผ่าตัด ก็จะต้องพบจักษุแพทย์เป็นด่านสุดท้าย Final ครับ ทันทีที่ผมเข้าไปในห้องตรวจ ก็จะมีอุปกรณ์ตรวจด้วยแสงจ้าๆ ดูสภาพภายในตาโดยรวมอีกทีหนึ่ง ก่อนที่คุณหมอจะบอกกับผมว่า “ผ่าตัดวันนี้ยังไม่น่าจะได้ เพราะว่าจอประสาทตาไม่ค่อยแข็งแรง” “ต้องทำการรักษาแล้วดูอาการก่อนถึงจะทำได้” ผมก็ได้แต่ เฮ้ย! เกิดอะไรขึ้น ไม่เหมือนที่เจ้าหน้าที่คุยไว้ ความตั้งใจที่กะว่าจะทำให้แล้วเสร็จภายในวันนี้ก็หายไป ก็เลยค่อย ๆ สอบถามไปเรื่อย ๆ จนทำให้เข้าใจว่า ก่อนการผ่าตัดหากมีสภาพของดวงตาอะไรที่ประเมินแล้วว่าอาจจะไม่พร้อม หรือเสี่ยงในเรื่องของความปลอดภัย ก็อาจจะต้องมีการรักษาก่อนได้ครับ สำหรับผมที่ใส่แว่นตาสั้นสูงมาเป็นระยะเวลานาน จะมีโอกาสเกิดอาการที่เรียกว่า “จอประสาทตาหลุดลอก (Retina detachment, 망막 박리)” ซึ่งถ้าไม่รักษาก่อนและปล่อยไว้เรื่อย ๆ ก็อาจจะทำให้จอประสาทตาลอกและสูญเสียการมองเห็นได้ ก็เลยต้องรักษาจอประสาทตาในวันเดียวกัน และรอติดตามผลในอีก 1 สัปดาห์ถัดไป ตรงนี้ก็จะเป็นส่วนของการรักษาที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแยก เป็นเงิน 114,800 วอน (ประมาณ 3,100 บาท – ประกันสุขภาพเกาหลีเบิกได้บางส่วน)

รักษาจอประสาทตาลอก

พอตรวจตาเสร็จ ก็รอคิวตรวจจอประสาทตาลอกตรงนั้นเลยครับ ก็จะมีหยอดยาชาและยาขยายม่านตา มีเครื่องที่หน้าตาคล้าย ๆ กับเครื่องวัดสายตา เอาหน้าผากประกบเครื่อง มีที่ล็อคให้ติดกับเครื่อง แล้วก็ทำการปล่อยแสงให้เราจ้อง แพทย์ก็จะใส่เลนส์ประกบที่ตาแล้วก็ยิงเลเซอร์ไปครับ ทุกครั้งที่ยิงก็จะเป็นเหมือนแสงกระพริบ ๆ ไม่มีอะไรที่รู้สึกว่าเจ็บแสบ แต่มันเป็นเจ็บแบบปวด ๆ จากข้างหลังทุกครั้งที่ยิงครับ อารมณ์ปวดตาเป็นไมเกรน 555 (ถ้าให้สรุปความเจ็บปวด การรักษาจอประสาทตาลอกนี่อาจจะเจ็บกว่าใส่เลนส์เสริมอีกครับ)

นัดคิวผ่าตัดตัด

จริง ๆ ผ่านไป 5 วัน ไม่ถึง 1 สัปดาห์ ผมก็ขอคิวกับทางคลินิกให้มาตรวจสุขภาพสายตา เช็คอัพหลังจากรักษาจอประสาทตาไป เพื่อประเมินว่าเราอยู่ในสภาพผ่าตัดใส่เลนส์เสริมได้หรือไม่อีกครั้งครับ ผลสรุปก็คือ “ผ่าน” ก็ได้ใบสั่งยาไปซื้อยามาใช้สำหรับกินเพิ่มเติมเมื่อผ่าตัดเสร็จ ก่อนเดินทางมาที่คลินิกนั้น ในวันผ่าตัดก็จะต้องหยอดยาขยายม่านตาและยาฆ่าเชื้อ ทุก ๆ 5 นาที จำนวน 6 ครั้ง (ข้างละ 12 หยด รวม 1 ชั่วโมง) ก่อนเดินทางมาที่คลินิกครับ หลังจากหยอดยา ก็จะพบว่าสายตาเราอาจจะมองเห็นได้ไม่ค่อยชัดและไม่สามารถสู้กับแสงจ้ามาก ๆ ได้ ก็ต้องอาศัยคนขับรถมาหรือนั่งท็กซี่ไปครับ

ผมได้คิวผ่าตัดเวลา 11.30 น. เมื่อเข้าไปนั่งรอคิว ก็จะมีเอกสารเป็นภาษาอังกฤษให้เซ็นยินยอมการผ่าตัด ด้านในเอกสารก็จะพูดถึงภาพรวมการผ่าตัด, อาการหรือผลข้างเคียง หลังการผ่าตัด, การดูแลรักษาตัวเองหลังการผ่าตัด เมื่อเซ็นยินยอมครบทั้งหมดแล้ว ก็จะได้เข้าไปคุยรายละเอียดเกี่ยวกับการผ่าตัด สอบถามข้อมูลที่สงสัย แจกอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการดูแลหลังการผ่าตัด (แว่นตาสำหรับครอบตาก่อนนอน) และชำระเงินส่วนที่เหลือ

จากนั้นรอคิวประมาณ 10 นาทีก็ได้เข้าไปในห้องผ่าตัดครับ ตรงนี้ก็จะมีล็อคเกอร์สำหรับเก็บสัมภาระ ให้เก็บแว่นเก่าของตัวเองใส่กระเป๋าไว้ได้เลย แล้วก็จะมีให้ล้างหน้า ใส่เสื้อและหมวกคลุม (ก่อนมาแนะนำให้ล้างหน้าให้สะอาด รวมถึงสระผมด้วย เพราะหลังจากผ่าตัดแล้ว จะไม่สามารถล้างหน้าหรือสระผมได้เป็นระยะเวลา 5 วัน) เตรียมตัวเสร็จก็ถูกพามาอีกห้องเพื่อให้คุณหมอ ตรวจตาแล้วก็มีการใช้เหมือนปากกา มาร์กตำแหน่งสำหรับการผ่าตัดตา (ตรงนี้เท่าที่ศึกษาข้อมูลก็พบว่า สำหรับคนที่มีสายตาเอียงประกอบด้วย ก็จะต้องอ้างอิงตำแหน่งที่เหมาะสม เพื่อแก้ปัญหาสายตาเอียงไปในตัว) ซึ่งขั้นตอนตรงนี้ก็ไม่มีเจ็บอะไรครับ

เข้าไปก็จะมีเจ้าหน้าที่คอยเช็ดทำความสะอาดรอบดวงตา แล้วก็เหมือนพูดปลอบ ๆ ตลอดเวลาว่าเข้าไปข้างในก็ให้จ้องแสงส้มนะ ไม่มีอะไรเจ็บเลย แปปเดียว จะเสร็จเร็วหรือช้าก็จะอยู่กับความร่วมมือของคนไข้ด้วย บลาๆ ได้คิวเข้าไปบนเตียงก็คือนอนเลยครับ มีอุปกรณ์วัดการเต้นของหัวใจหนีบนิ้วชี้เราไว้ จากนั้นก็จะมีผ้าเอามาคลุมหน้าเรา คุณหมอก็จะเข้ามาบอกให้เรามองตามองล่าง (밑으로 보시고 ~ ) แล้วก็มีอะไรมาแปะที่ตาเราเหมือนล็อกสายตาเราไว้ จากนั้นก็เริ่มหยอดยา สลับกับน้ำ ล้างตาไปมา เราก็มีหน้าที่แค่มองไปที่แสงจ้า ๆ ครับ ไม่ได้รู้สึกเจ็บอะไร อาจจะเป็นแค่ความตื่นเต้น การผ่าตัดเริ่มที่ข้างซ้ายก่อน เราก็อ่านรีวิวมาว่าไม่เจ็บ ๆ ก็ไม่เจ็บจริง ๆ ครับ แต่ถามว่ารู้สึกอะไรไหม ก็รู้สึกเป็นเรื่องปกติ ทุกขั้นตอนทำอะไรกับตาของเราก็เห็น ส่วนตาเราจะกระพริบได้ไหม ขอบอกเลยว่ามันกระพริบไม่ได้เพราะมีอุปกรณ์ยึดไว้หมดแล้ว ดังนั้นก็สบายใจได้ว่าจะไม่มีอาการเผลอไปกระพริบตาแน่นอนครับ ในตลอดการทำคุณหมอก็จะเชียร์และให้ข้อมูลเราเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น “เก่งมาก” “ไม่มีตรงไหนเจ็บเลย” “แปปเดียวก็เสร็จแล้ว” “อันนี้จะหยอดน้ำไปนะครับ ไม่ต้องตกใจ จะเย็น ๆ หน่อย” ฟังไปฟังมาก็ช่วยลดอาการตื่นเต้นของเราได้เยอะเหมือนกัน

ใช้เวลาทำข้างหนึ่ง เท่าที่รู้สึกคือประมาณ 5- 10 นาที จากนั้นก็เปลี่ยนมาทำอีกข้าง รอบนี้พอเรารู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็เลยอาจจะมีการตื่นเต้นนิดหน่อย ซึ่งคุณหมอก็จะบอกเราเองว่า ไม่ต้องเกร็งครับ ปล่อยตามสบาย (힘을 빼세요 – ฮี-มึล-เป-เซ-โย) บอกแบบนี้อยู่เรื่อย ๆ เบ็ดเสร็จใช้เวลาไม่ถึง 15 นาที

แว้บแรกที่เรามองผ่านเลนส์เสริมหลังหลงจากเตียงคือ เห็นลาง ๆ ครับ ยังไม่เห็นชัดทันทีเพราะมีความรู้สึกเหมือนมีน้ำยาอะไรเต็มตาไปหมด​ จากนั้นก็จะเข้ามาที่ห้องที่มีเก้าอี้ใหญ่ ๆ นุ่ม ๆ ให้พักผ่อนตรงนี้ประมาณ​ 30-40 นาที นั่งหลับตา ก่อนที่จะตรวจความดันตาก่อนกลับ

หลังผ่าตัดตาแล้วเอาจริง ๆ เมื่อผ่านไป เราจะมองเห็นได้ลาง ๆ ครับ ไกล ๆ จะชัดหน่อย ใกล้ ๆ จะยังมองไม่เห็น คือสามารถเดินไปไหนได้บ้าง แต่!! ถึงอย่างไรก็ตาม อาการที่เป็นผลข้างเคียงจากยา หรือจากการผ่าตัดใหม่ ๆ ก็ยังคงรู้สึกอยู่ นั่นก็คือ “เวียนศีรษะ และรู้สึกคลื่นไส้ อยากจะอาเจียน” อันนี้เลยแนะนำว่าหากเป็นไปได้ก็อย่าใช้สายตาเยอะ พยายามกลับไปที่พักแล้วก็นอนสักหลายๆ ตื่น บวกกับการหยอดยาตามที่แพทย์แนะนำให้อยู่เรื่อย ๆ

สภาพหลังออกจากห้องผ่าตัด ที่ดูไม่มีร่องรอยการต่อสู้ ดูไม่มีอะไรเกิดขึ้น ยังพอสู้ฟ้าอากาศได้ แต่ถึงกระนั้นก็ควรนำแว่นป้องกันสายตา แว่นกันแดด มาปกป้องสายตาด้วย เนื่องจากยาขยายม่านตายังคงเหลืออยู่ทำให้ไม่สามารถสู้แดดหนัก ๆ ได้

สภาพสายตาหลังผ่าตัด 1 วัน

คืนหลังจากผ่าตัดเสร็จผมว่าก็เห็นชัดขึ้นในระดับ 70-80% แล้วครับ และหลังผ่าตัด 1 วันก็จะต้องไปตรวจติดตามอาการที่คลินิกอีกครั้ง ซึ่งสภาพสายตาของผมก็เห็นได้ชัดอยู่ในระดับที่พอใจ (ประมาณ 1.2 ทั้งสองข้าง) แต่ก็ต้องบอกตรง ๆ ว่า ไม่ได้ใสชัดระดับ HD หรือเหมือนกับตอนใส่แว่น ต้องมีเพ่งเพื่อให้เห็นตัวอักษรอยู่บ้าง อาจจะเป็นเพราะตัวยาที่หยอด, แผลที่ยังคงมีอยู่ และสายตาที่ต้องรอการปรับ ทั้งนี้ทั้งนั้นสภาพสายตาหลังการทำ รวมไปถึงความดันลูกตาหลังการผ่าตัดอยู่ในเกณฑ์ปกติดีครับ และจะต้องมาติดตามอาการหลังจากนี้ 3 วัน, 1 เดือน และติดตามอาการทุกปี

สิ่งที่ต้องทำหลังจากผ่าตัดใส่เลนส์เสริม

  • หยอดตาเป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยจะได้ยามา 2 ชุด เป็น Antibiotics และ Anti-Inflammation หยอดสองตัวสลับกัน เว้นช่วงห่างแต่ละอัน 5 นาที (เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน)
  • ทานยาที่แพทย์จ่ายยาให้ 3 เวลา หลังอาหาร 30 นาที (เป็นเวลา 3-4 วัน)
  • มีวิตามินเสริมบำรุงสายตาที่คลิกนิกให้มาด้วย 1 กล่อง อันนี้กิน 2 เวลา เช้า-เย็น
  • สวมแว่นตาป้องกันการขยี้ตาก่อนนอน เป็นเวลา 2 สัปดาห์
  • งดใช้สายตาหนักจากการทำงานคอมพิวเตอร์, ใช้โทรศัพท์มือถือ ในสัปดาห์แรก (ถ้าเลี่ยงไม่ได้ให้พักสายตาทุก ๆ 50 นาที เป็นเวลา 10 นาที)
  • ไม่สามารถล้างหน้า สระผม ใน 5 วันแรก (ต้องไปให้ที่ร้านสระผมสระให้ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าตาและการก้มหน้าที่จะทำให้เกิดความดันตาสูง) จะมีปฏิทินกิจกรรมที่สามารถเริ่มทำได้แนบมาให้
  • นอนหมอนสูง, งดการก้มหน้า เพื่อไม่ให้ความดันลูกตาขึ้นสูง
  • หลังผ่าตัดห้ามขยี้ตาเด็ดขาด

ความรู้สึกส่วนตัว – คุ้มหรือไม่คุ้ม

ในวันนี้​ที่บันทึกหลังเขียนบล็อก ก็เป็นวันที่ 8 หลังจากผ่าตัด ภาพรวมอาการปวดตาก็ค่อย ๆ เริ่มหายไป จำได้ว่าวันแรกที่เริ่มล้างหน้าได้ พอเราไปแตะบริเวณดวงตาก็พบว่ายังมีอาการปวดหลงเหลืออยู่ (ซึ่งปกติถ้าไม่จับก็ไม่ปวด) เลยรู้สึกว่าการรักษายังต้องรอระยะเวลาฟื้นฟูไปอีกสักระยะ บ้างก็ว่า 2 สัปดาห์เป็นต้นไปจนถึงเป็นเดือนกว่าสายตาจะเข้าที่ อาจจะมองในแง่หนึ่งว่าเราสายตาสั้นมาก และใส่แว่นมาตลอด ทำให้ความคุ้นเคยกับสายตาใหม่ยังไม่ค่อยเข้าที่เข้าทางเท่าไหร่ ในวันที่ 8 นี้ให้ความสมบูรณ์ของสายตาใหม่ไว้สัก 85% ยังมีมัว ๆ ให้อารมณ์เหมือนคนขี้ตาเยอะ ๆ ยังคงต้องรอวันที่รู้สึกว่าเห็นทุกตัวอักษรใสแจ๋วอีกสัก 2-3 อาทิตย์หลังจากนี้ และถ้าเกิดมีความรู้สึกยังไง จะเอาไว้มาอัปเดตในบล็อกต่อไปครับ

ส่วนถามว่าคุ้มค่ากับเงินที่เสียไปไหม เพื่อสุขภาพของสายตาเราในอนาคต ผมก็ยังมองว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าครับ บวกกับแอบไปศึกษา เปรียบเทียบราคากับที่ไทยก็พบว่าที่นี่เกาหลีแอบถูกกว่าอยู่พอสมควร การที่ไม่ต้องใส่แว่นก็จะช่วยให้การใช้ชีวิตเรามีความคล่องตัวมากขึ้น ออกมานอกอาคารไม่ต้องเจอฝ้าขึ้นแว่น, ตื่นนอนตอนเช้าไม่ต้องคลำหาแว่น, ใส่แว่นกันแดด หรือหาแว่นแฟชั่นเท่ ๆ ไว้ใส่เวลาไปเที่ยวเปลี่ยนบรรยากาศ ก็คงมีหลากหลายเหตุผลกันไป ก็หวังว่ารีวิวการใส่เลนส์เสริม ICL นี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจในการผ่าตัดปรับค่าสายตากันนะครับ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ติดตามเรื่องอื่นๆ