เรียบเรียงมาให้สำหรับใครที่กำลังศึกษาภาษาเกาหลีอยู่ และอยากจะเสริมการเรียนรู้โดยเฉพาะการท่องจำคำศัพท์ภาษาเกาหลี ถ้ามัวมาเปิดพจนานุกรมเป็นเล่มๆก็อาจจะเสียเวลาและอีกอย่างอาจจะไม่มีข้อมูลเยอะด้วยข้อจำกัดของกระดาษ เนื้อหาในตอนนี้เลยจะขอนำเสนอเว็บไซต์ที่คิดว่ามีประโยชน์สุดๆสำหรับการเรียนภาษาเกาหลี และที่ผมมักจะใช้อ้างอิงในการทำงานด้วยครับ มาเริ่มต้นกันที่เว็บแรกกันเลย …
1. KMARU
เป็นเว็บไซต์พจนานุกรมออนไลน์ ที่อธิบายความหมายไว้หลายภาษารวมถึงภาษาไทย คำแปลภาษาไทยค่อนข้างอธิบายสถานการณ์ไว้อย่างชัดเจนหลายคำ และที่ดีที่สุดสำหรับเว็บไซต์นี้ ที่คิดว่าเป็นประโยชน์ในการเรียนภาษาเกาหลีคือ มีกลุ่มคำศัพท์ที่ควรจำคู่กัน เช่น ค้นหาคำว่า 신문 (หนังสือพิมพ์) ก็จะมีคำที่ควรจำคู่กัน อย่างเช่น
신문 한 부. (หนังสือพิมพ์ หนึ่ง ฉบับ – ก็จะสอนลักษณะนาม)
신문 보도. (ข่าวหนังสือพิมพ์)
신문을 구독하다. (ติดตามรับ หนังสือพิมพ์)
신문을 발행하다. (ออก หนังสือพิมพ์)
신문을 보다. (อ่าน/ดู หนังสือพิมพ์)
ผลการค้นหาจริงๆ จะไม่มีอธิบายภาษาไทยในวงเล็บให้ (แต่ก็สามารถเอาไปค้นต่อได้ไม่ยาก) เพียงแต่เขียนให้ดูเป็นตัวอย่างเฉยๆว่า คำศัพท์ที่เอามาอธิบายเพิ่มเหมาะกับการจำคู่กันจริงๆ เวลาที่เราเอาไปใช้ก็สามารถนำกริยา หรือคำคุณศัพท์ มาใช้ได้เหมาะสมกับคำนั้นๆ
ทุกคำศัพท์จะมีตัวอย่างประโยค 2-3 ประโยค แสดงถึงวิธีการใช้ (ซึ่งไม่ใช่เป็นประโยคที่ยากมาก)
และมีตัวอย่างบทสนทนา ที่ใช้คำศัพท์นั้น ซึ่งเป็นประโยคที่พบเห็นในชีวิตประจำวันจริงๆ
ตอนช่วงที่เรียนภาษาจึงชอบเว็บนี้เป็นพิเศษ
ข้อจำกัดของเว็บนี้ : ไม่สามารถค้นหาคำศัพท์เกาหลีด้วยภาษาไทยได้ (เว็บที่หาได้จะเป็นข้อ 2,3) และ ถ้าค้นหาคำศัพท์ที่เขียนเหมือนกันแต่มีหลายความหมาย (เพราะรากตัวอักษรจีนต่างกัน) จะใช้เวลาค้นหานานหน่อย
2. Daum Dictionary
(http://dic.daum.net/index.do?dic=th)
เว็บนี้เป็นของ Daum เว็บไซต์พอร์ทัลชื่อดังของเกาหลีอีกค่าย จริงๆก็เพิ่งจะมามี (ตอนที่เราเรียนภาษาจบแล้ว) จุดเด่นคือสามารถค้นหาคำศัพท์ภาษาเกาหลีด้วยภาษาไทยได้ และให้การค้นหาที่รวดเร็วมาก สามารถหาคำแปลกๆ สำนวนไทย (บางอย่างได้)
ดังตัวอย่างการค้นหา สำนวนไทย “เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง” ก็จะอธิบายว่า ความหมายแบบแปลตรงตัว แปลว่าอะไรในภาษาเกาหลี และความหมายในเชิงสำนวน ขวามือก็จะมีตัวอย่างประโยค เทียบให้ดูว่าภาษาเกาหลีมีสำนวนที่คล้ายกันอยู่ด้วย
นอกจากนี้อาจจะได้เจอคำศัพท์แปลกๆระหว่างการค้นหา ที่คนไทยอาจจะไม่รู้เยอะ เพราะเล่นยกฐานข้อมูลคำศัพท์ของพจนานุกรมที่เขียนโดยมหาวิทยาลัยฮันกุ๊ก (Hankuk University of Foreign Studies) กว่า 6 หมื่นคำมาบรรจุเอาไว้เลย
เป็นโอกาสดีที่จะได้เรียนภาษาเกาหลีและทบทวนภาษาไทยไปในตัวด้วยเลย
3. NAVER Dictionary
พอ Daum เปิดตัวพจนานุกรมได้สักพัก NAVER ก็ตามมาติดๆ เปิดตัวพจนานุกรมภาษาไทยมาเหมือนกัน แต่ส่วนตัวรู้สึกว่ายังไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าไหร่ เว็บยังดูไม่ค่อยน่าอ่าน แต่ว่าเว็บนี้จะให้ข้อมูลดีเกี่ยวกับเรื่อง “การออกเสียง” เพราะคำศัพท์ภาษาเกาหลีบางคำที่ควบเสียง การเอาคำศัพท์ไปค้นหาในเว็บนี้แบบ เกาหลี-เกาหลี จะบอกคำอ่าน และการอ่านออกเสียงที่ถูกต้อง รวมไปถึงการหาคำที่มีความหมายตรงข้ามหรือคำที่มีความหมายเหมือนกัน ในเว็บไซต์พจนานุกรมของ NAVER จะครอบคลุม และหาง่ายกว่า
ไม่พอเว็บ NAVER จะมีข้อมูลที่เป็น Open Dictionary หรือส่วนที่ผู้ใช้ทั่วไปสามารถเข้ามาอธิบายหรือให้ความหมายเพิ่มเติมได้ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคำสแลง (속어) หรือคำใหม่ๆ (신조어) แต่ก็อาจจะได้ความหมายที่เป็นภาษาเกาหลีให้เราไปแปลความหมายหรือถามเพื่อนคนเกาหลีกันต่อไป
4. NAVER CAST (네이버 캐스트)
(https://terms.naver.com/list.nhn?cid=58737&categoryId=58737)
เป็นเว็บที่เรียบเรียงบทความไว้เป็นหมวดหมู่ เช่น สถาปัตยกรรมศาสตร์, เศรษฐศาสตร์, วรรณกรรม ฯลฯ ความยากง่ายก็คละๆกันไป ลองเริ่มจากเรื่องที่ดูแล้วน่าสนใจ ซึ่งการได้อ่านบทความจากหลากหลายด้านนี้แหละจะเป็นประโยชน์มากกับการทำข้อสอบ TOPIK โดยเฉพาะพาร์ทการอ่าน ที่เราไม่สามารถเดาได้เลยว่าบทความที่ออกจะเป็นด้านวิทยาศาสตร์ สังคม หรือหมวดหมู่ไหน จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่เราจะต้องเตรียมตัวไปให้ครบทุกด้าน
+1 แถม
5. พจนานุกรมจากสถาบันภาษาเกาหลีแห่งชาติ
(https://krdict.korean.go.kr/tha/mainAction)
เป็นเว็บไซต์ที่เพิ่งเปิดตัวใหม่ (เลยลืมสนิทเลยว่ามีอีกเว็บที่ให้ข้อมูลค่อนข้างครบถ้วน) สามารถค้นหาได้ทั้งภาษาไทยและภาษาเกาหลี และให้ความหมาย ตัวอย่างประโยคที่ครบถ้วน มีคำอ่าน (เหมือนรวมฟังก์ชันของเว็บแรกและเว็บที่สองเข้าไว้ด้วยกัน) รวมไปถึงผู้ที่เรียนระดับสูงสามารถค้นหารากคำศัพท์จากตัวอักษรจีน เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้นได้อีกด้วย
ไม่พอเมื่อคลิกเข้ามาดูรายละเอียดของคำนั้นๆ ก็มีตัวอย่างประโยคและคำพ้องความหมาย (Synonym) และคำตรงข้าม (Antonym) ให้ได้จำไปเป็นชุดๆได้อีกด้วย
เพิ่มเติมเกี่ยวกับการหาคำศัพท์
ถ้าหาคำไหนไม่เจอ ให้ลองหาเว็บไซต์อื่นประกอบดู 1-2-3 ตามลำดับครับ เพราะว่าฐานข้อมูลของแต่ละเว็บไม่เหมือนกัน และคำที่อยู่ในรูปที่ผันแล้วอาจจะค้นหาไม่เจอ ให้ใช้รูปก่อนผันจะหาง่ายที่สุด
ย้อนกลับไปแต่ก่อน การค้นหาความหมายคำศัพท์ภาษาเกาหลีแต่ละคำก็ไม่ได้ง่ายเลย ต้องหาเป็น Talking dictionary หรือเป็นพจนานุกรมเล่มๆ เพื่อมาหาความหมาย ซึ่งต้องใช้เวลาและความพยายามพอสมควร แต่คิดว่าปัจจุบันมีเว็บไซต์ที่อำนวยความสะดวกอยู่เยอะมาก และรวบรวมสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ศึกษาภาษาเกาหลี ก็หวังว่าบทความตอนนี้จะทำให้การเรียนภาษาเกาหลีสะดวกและง่ายขึ้นนะครับ
อย่าลืมแชร์บทความนี้ไปให้เพื่อนๆที่กำลังเรียนภาษาเกาหลีด้วยล่ะ ^_^