Homeเล่าสู่กันฟังเรียนรู้อะไรจากการจัดการโควิด-19 ของเกาหลี

เรียนรู้อะไรจากการจัดการโควิด-19 ของเกาหลี

จะบอกก่อนว่าเรื่องที่มาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ มาจากการสังเกตการณ์ทั้งหมดครับ

หากย้อนไปก่อนเราจะรู้จักกับโควิด-19 ก็น่าจะได้ยินคำว่า “อู่ฮั่น” กันมาก่อน เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดหนักที่นั่น จนเป็นข่าวคราวปิดเมือง แต่ละประเทศตรวจสอบประชาชนในพื้นที่ก่อนจะส่งเครื่องบินไปรับ ทำให้พอเราได้รู้สึกถึงความรุนแรงของโรคนี้กันบ้าง

ช่วงที่ติดตามข่าวก็เดินทางกลับมาพักผ่อนที่ไทยช่วงเทศกาลตรุษจีนพอดี เอาตรง ๆ ที่ไทยในตอนนั้น ยังไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้กันเท่าไหร่ครับ วันที่เดินทางเตรียมกลับมาเกาหลีก็รู้แค่ว่าที่สนามบินน่าจะมีโอกาสเสี่ยงที่เจอผู้คนเยอะ เราก็เตรียมสวมหน้ากากเอาไว้ ในวันที่เดินทางเกือบ 70% ของนักท่องเที่ยวที่สวมหน้ากากอยู่ในสนามบินสุวรรณภูมิ

วันแรกที่รู้สึก ‘ตื่นตัว’ กับโคโรน่าไวรัสรอบนี้ น่าจะเป็นที่สนามบินสุวรรณภูมิ ก่อนเดินทางกลับไปเกาหลี

เดินทางกลับมาทำงานที่เกาหลีวันที่ 27 มกราคม จำได้ว่าเลขผู้ติดเชื้อของเกาหลียังไม่เยอะเท่าไหร่ ไทยยังนำมาก่อนหลายคน มีเรื่องเคสผู้ติดเชื้อนอกจีนแผ่นดินใหญ่รายงานมาอย่างต่อเนื่อง ผมเรียกว่ากลับมาแล้วก็ใช้ชีวิตอย่างปกติอยู่สักพักและก็เชื่อลึก ๆ ว่าที่ไม่เกาหลีไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องนี้

ในขณะที่คนรอบข้าง เพื่อนร่วมงาน นั่งนับตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันให้ฟังทุกวัน ๆ เข้าสู่ตอนนั้นเกาหลีก็มีผู้ติดเชื้อหลัก 20-30 คนตามไทยมาเรื่อย ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นผู้สูงอายุ หรือผู้ที่เดินทางมาจากจีน, อู่ฮันเลยโดยตรง ตอนนั้นด้วยความที่จำนวนน้อยมาก ก็ทำให้เราพอนับได้ว่าผู้ติดเชื้อหมายเลขเท่าไหร่ เพื่อหาความเชื่อมโยงได้

สำนักข่าวเกาหลีหลายเจ้า จะทำรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ก็เริ่มทำ Infographic จับโยงความสัมพันธ์ว่าผู้ติดเชื้อคนไหนมาจากไหน แพร่เชื้อให้ใคร มีความสัมพันธ์เป็นยังไง เพื่อทำให้การวิเคราะห์ง่ายขึ้นเนื่องจากโรคนี้ติดกับคนใกล้ชิดได้ง่าย  ช่วงประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์เกาหลีเริ่มจับตามองประเทศกลุ่มเสี่ยงอื่น ๆ นอกจากจีนตอนนั้นมีข่าวที่หญิงคนหนึ่งไปเที่ยวเมืองไทยกลับมาแล้วติดเชื้อ ก็เริ่มฮือฮาเพราะเป็นเคสแรก ๆ ที่มีผู้ป่วยติดเชื้อมาจากประเทศที่ไม่ใช่จีน

ช่วงแรกๆ ที่ยังเป็นหลัก 10 คน ก็ยังมีการนำความเกี่ยวข้องมาเชื่อมโยง เพื่อหาเส้นทางการแพร่เชื้อ (รูปจากสำนักข่าว 머니투데이, 연합뉴스)

ผู้ติดเชื้อรายที่ 31 กับความตื่นตัวของคนเกาหลี

จนกระทั่งวันที่ 22 กุมภาพันธ์​ เรื่องราวของ “Super Spreader” ป้ามหาภัยก็เริ่มน่าจะเป็นที่พูดถึงบนโลกโซเชียล เมื่อผู้ติดเชื้อรายที่ 31 ของเกาหลีเป็นสมาชิกของโบสถ์​ลัทธิหนึ่งในเมืองแดกู ที่มีผู้เข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก นำมาซึ่งการแพร่กระจายและติดเชื้อในวงกว้างส่งผลให้เกาหลีใต้มีผู้ติดเชื้อสูงขึ้นหลักร้อยคนต่อวัน (และถ้าให้สรุปจากรายงานล่าสุดของวันที่ 13 มีนาคม ที่มีผู้ติดเชื้อยอดรวมทั่วประเทศในเกาหลี 7,979 คน เป็นเคสของลัทธินี้ไปแล้ว 4,780 หรือคิดเห็น 59.9%)

“คุณป้ามหาภัย” ที่คนไทยเรียกหรือ ผู้ติดเชื้อรายที่ 31 เป็นต้นเหตุที่ทำให้คนเกาหลี “ตื่นตัว” ที่จะออกมาปกป้องตัวเองอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น ทางการเกาหลีใต้ จากเดิมที่สามารถนั่งนับเป็นคน ๆ ได้ ก็ต้องเตรียมสร้างจัดการกับข้อมูลของผู้ป่วยไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ให้รองรับการทำงานกับผู้ป่วยที่มากขึ้น ท่ามกลางอุปสรรคเรื่องของแรงต่อต้านจากคนในลัทธิ และการไม่ให้ความร่วมมือในการเปิดเผยรายชื่อของผู้ร่วมลัทธิ ทำให้ทางการไม่สามารถตรวจสอบการเดินทางของแต่ละคนได้

ลัทธิ “ชินชอนจี” ที่อยู่ยังต้องรักษาความเชื่อจากผู้ศรัทธาทั่วประเทศอยู่เป็นจำนวนมาก ก็ไม่อ่อนข้อต่อรัฐบาลเท่าไหร่ในช่วงแรก ผู้คนที่นับถือบ้างก็ถูกกระแสสังคมต่อต้าน จะไปนมัสการที่โบสถ์อื่นก็ไม่มีใครรับ จนมีคำศัพท์ใหม่ปรากฏในอินเทอร์เน็ตช่วงหนึ่งที่ว่า “ชินมิ่งเอาท์” ที่มาจาก “ชินจอนจี” + “Coming out” การยอมรับว่าตัวเองเป็นคนในลัทธิก็กลายเป็นเรื่องที่หวาดกลัวของคนในโบสถ์เองเช่นกัน

ป้ายหน้าโบสถ์แห่งหนึ่งที่ห้ามคนจากลัทธิชินชอนจีเข้า (ภาพจาก 서남투데이)

ถึงช่วงนั้นการแพร่ระบาดในเกาหลีก็เริ่มหนักขึ้นอย่างจริงจังในปลายเดือนกุมภาพันธ์ มีการตั้ง Call Center 1339 ศูนย์ Hotline ตามภูมิภาค, ตั้งจุดตรวจกันอย่างรวดเร็ว และแน่นอนว่าในขณะนั้นหน้ากากอนามัยก็หมดอย่างรวดเร็วเช่นกัน จากที่เดิมชิ้นละ 15-40 บาท ราคาก็พุ่งไปชิ้นละ 100 บาท

การให้ข้อมูลที่รวดเร็ว ต่อเนื่องนำมาสู่การเผชิญกับ Fake News

สิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงของเกาหลีในขณะนั้น อย่างหนึ่งคือกระแสของข่าวปลอม (Fake news) ที่ก็รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ภาพของผู้ป่วยตามสถานที่ต่างๆ, อาการของโรค ให้ผู้คนรู้สึกหวาดกลัว หรือการเผยใบหน้าของผู้ติดเชื้อรายที่ 31 เพื่อสร้างความเกลียดชัง แต่สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลเอาชนะเรื่องนี้ได้อย่างหนึ่งคือความร่วมมือของสื่อมวลชน และการออกมาทำหน้าที่ของรัฐ ในการรายงานสถานการณ์ทุกวันจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ออกมาจัดการกับเรื่องนี้ได้ค่อนข้างดี ประจวบเหมาะกับที่เกาหลีพิจารณา “ยกระดับความรุนแรง” เป็น “ขั้นสูงสุด”

ในฐานะคนที่อาศัย (เฉย ๆ) ในเกาหลีอย่างผม ในตอนนั้นก็รู้สึกตกใจว่าทำไมต้องยกระดับความรุนแรง เกรงว่าจะเป็นการสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนแทนหรือเปล่า ช่วงนั้นมีข่าวลือมากมายว่าหากเปลี่ยนระดับความรุนแรงเป็น ‘สูงสุด’ นี้ ก็มีโอกาสที่จะปิดประเทศกันเลยหรือเปล่า จะถึงขั้นต้องกักตุนอาหารเลยหรือเปล่า (ซึ่งจริง ๆ ก็ไม่ได้เป็นอย่างงั้น) แต่คิดว่าเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการจัดการ, ออกคำสั่งเด็ดขาดเกี่ยวกับการปราบปรามการชุมนุมหรือรวมตัวกันจนทำให้เกิดความเสี่ยง ก็เรียกว่าเป็น ‘ความใจถึงของรัฐบาล’ ที่ไม่ห่วงการประเมินจากต่างประเทศ แต่อาศัยประเมินจากสถานการณ์ภายในประเทศ ที่ผมพอจำคร่าว ๆ ได้ในวันที่ประกาศยกระดับ ปธน.เกาหลีใต้ มุน แจอิน ได้กล่าวไว้ทำนองว่า “เขาเคยประเมินว่าเราสามารถควบคุมได้ แต่เมื่อมีการแพร่กระจายที่มาจากวิถีที่ผิดปกติ ทำให้สถาณการณ์มันแตกต่างไปจากเดิม” และตัดสินใจยกระดับสถานการณ์

การกระจายข่าวสารจากทางการ ทั้งผ่านสื่อทีวีช่องหลัก, Emergency Alerts, โซเชียลเน็ตเวิร์คตั้งแต่ IG ยัน Twitter รายงานความเคลื่อนไหวของผู้ติดเชื้อ เข้าถึงทุกกลุ่มคนเพราะมีทั้งแปลภาษาอังกฤษและมีภาษามือด้วย

การจัดชุดทีมทำงานของกระทรวงสาธารณสุขเกาหลี ที่ให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง สื่อสารกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ด้วยความ “จริงใจและเยือกเย็น” ผมใช้คำนี้เพราะว่า ยังไม่มีข่าวผู้อำนวยการกรมควบคุมโรคคุณจอง อึนคยอง (정은경) ของขึ้นหรือตะหวาดใส่ใครเลย ซึ่งถ้าใครมีโอกาสได้ติดตามคลิปต่าง ๆ ก็น่าจะพอเข้าใจ ยิ่งในช่วงที่มีการระบาดแรก ๆ มีการตั้งศูนย์รายงานความคืบหน้าทั้งช่วงเช้าและช่วงเย็นมีรายงานวันละ 2 ครั้ง จนตอนนี้เปลี่ยนเป็นการรายงานวันละครั้ง มีการอัพเดตตัวเลขอย่างเป็นทางการบนสื่อโซเชียล โดยการแชร์ข้อมูลจากส่วนกลางอย่างต่อเนื่อง เปรียบเทียบจำนวน และที่สำคัญมีการใส่ลำดับของผู้ติดเชื้อทุกคนสำหรับการติดตามอาการ และวิเคราะห์เส้นทางต่าง ๆ แน่นอนข้อมูลพวกนี้เราสามารถเข้าไปเว็บไซต์ติดตามรายละเอียดได้หมด

การรายงานแบบวันต่อวันของกรมควบคุมโรค (KCDC) สามารถติดตามย้อนหลังได้จากทาง YouTube

มีการส่งข้อความเตือนภัยพิบัติเป็นข้อความเตือนจากผู้ให้บริการ แจ้งเตือนตลอดว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่ม อยู่ในละแวกใกล้เคียงกับเรา (อาศัยการตรวจสอบพิกัดจากเสาสัญญานโทรศัพท์) ทำให้เราสามารถเข้าไปเช็คเส้นทางการเดินทางของผู้ติดเชื้อรายนี้ได้ หากพบว่าไปสถานที่ดังกล่าวในเวลาเดียวกันกับผู้ติดเชื้อ ก็ให้สำรวจอาการด้วยตัวเอง หากไม่ดีขึ้นก็ให้ ‘โทรศัพท์แจ้งคอลเซ็นเตอร์’ ก่อน ‘เข้ารับการตรวจรักษา’

ซึ่งการประกาศซ้ำแล้วซ้ำอีกของรัฐบาลว่า ‘ให้แจ้งคอลเซ็นเตอร์ก่อน’ ทุกครั้ง จึงจะสามารถเข้ารับการบริการได้นั้น ก็เป็นแนวทางการป้องกันแพร่กระจายของเชื้อได้แต่เนิ่น ๆ ได้ค่อนข้างดี สร้าง ‘พฤติกรรมที่ดี’ ให้กับประชาชน เป็นอีกการวางแผนที่อยากจะชื่นชม เพราะถ้าให้ประชาชนไปตรวจเองสุ่มสี่สุ่มห้า ไม่ระมัดระวังตัวเอง โอกาสที่จะทำให้เกิดการแพร่เชื้อก็เป็นไปได้สูง การคมนาคมเกาหลีมันสะดวกก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่ง เพราะถ้าเกิดคนเดินทางไปตรวจอย่างไม่ระมัดระวังตัว ใช้ขนส่งสาธารณะเดินทางไปในที่ที่แออัด เกมก็อาจจะจบได้เลยในทันที เรียกว่ามีการวางแผนกันอย่างรอบคอบ มีการกระจายชุดตรวจโรค (kit) ไปตามสถานพยาบาล โรงพยาบาลทั่วประเทศ ให้สามารถตรวจสอบได้รวดเร็วขึ้นจากที่เราจะเห็นได้ว่าผู้ที่ได้รับการตรวจนั้นสูงมากกว่าประเทศอื่นๆ

เทคโนโลยีเดิม เพิ่มเติมคือแก้ปัญหาปัจจุบัน

เมื่อสามารถวางรากฐานของระเบียบการให้การรักษา การจัดการลำดับของผู้ป่วยได้แล้ว ก็มาให้ความสำคัญกับเรื่องหน้ากากอนามัยที่มีไม่เพียงพอ สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลของเกาหลีใต้ทำก่อนคือ ‘ยอมรับ’ ว่ามันไม่เพียงพอ จากปริมาณที่สามารถผลิตได้ต่อวัน ก็ได้มีการช่วยเหลือประชาชนโดยการเพิ่มการกระจาย รัฐจัดสรรหาและจัดระเบียบการซื้อได้คนละไม่เกิน 2 ชิ้น/สัปดาห์ มีการวางระบบเชื่อมกับร้านขายยา-ไปรษณีย์-ร้านค้าสหกรณ์​ เพื่อให้สามารถนำบัตรประชาชนไปตรวจสอบการซื้อได้ว่ามีการซื้อเกินหรือเปล่า เบื้องหลังของเรื่องการตรวจสอบการซื้อซ้ำนี้ เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเดิมที่เกาหลีมีใช้ตามร้านขายยาอยู่แล้วนั้นคือ DUR (Drug Utilization Review) โดยเทคโนโลยีนี้ จะช่วยให้ร้านขายยาสามารถติดตามและตรวจสอบประวัติการรับยาของแต่ละคนได้ ระบบนี้จึงออกแบบมาเพื่อป้องกันการใช้ยาผิดวิธีหรือผลข้างเคียง ทำให้สามารถนำระบบนี้มาประยุกต์ในการตรวจสอบจำนวนหน้ากากที่เคยได้รับ สามารถนำประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้มาประยุกต์ใช้ได้ทั่วประเทศอย่างเหมาะสมและทันต่อสถานการณ์​

รายงานจำนวนหน้ากากอนามัยที่มีการกระจายเป็นรายวัน โดยจะเห็นว่ามีการกระจายให้กับพื้นที่กลุ่มเสี่ยง, ร้านขายยา, ร้านค้าสหกรณ์ และสถานพยาบาล (อ้างอิงของวันที่ 13 มี.ค. แจกจ่ายไป 8,686,000 ชิ้น) สามารถตรวจสอบรายวันได้จากเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ)

ระบบที่ดีก็ต้องมาพร้อมกับการจัดระเบียบที่เหมาะสม การจำหน่ายหน้ากากก็ยังมีการแบ่งจำหน่ายหน้ากากตามวัน ด้วยว่าคนที่เกิดลงท้ายปีไหน ต้องไปซื้อวันไหน เพื่อป้องกันการแห่ไปซื้อ แม้ว่าทุกอย่างนี้มันดูจะไม่ได้ผล มองเผิน ๆ ก็คงจะต้องมีคนตำหนิ เนียนไปซื้อวันอื่น หรือลืมวันกันบ้าง แต่ก็ชื่นชมว่ามันเป็นความร่วมมือของประชาชนด้วยในการให้ความร่วมมือ ทางการก็พยายามส่งข้อความไปเตือนตอนเช้าทุกวันว่าวันนี้เป็นคิวของคนที่เกิดปีท้ายเลขอะไรบ้างทำให้ไม่เกิดความสับสน

ความใส่ใจเรื่องหน้ากากก็ไม่ได้ถูกหมดเพียงแค่นี้ ยังมีการสร้างระบบในการรายงานสถานะของปริมาณหน้ากากแบบ Real-time (ในระดับหนึ่ง) ทำให้เราสามารถค้นหาร้านขายยาใกล้เคียงได้อีก มีการเปิดเผยข้อมูลเป็น Open API ให้สามารถเชื่อมเอาข้อมูลไปแสดงในแผนที่ เพิ่มความสะดวกสบายให้กับประชาชน สามารถเข้าไปตรวจสอบได้จากเว็บไซต์อย่าง https://mask-nearby.com/ หรือในระบบแผนที่ของ NAVER Map ได้

open data map corona mask
จากผังจะเห็นว่าเป็นการให้ความร่วมมือกันหลายองค์กร ไม่ว่าจะเป็นสารสนเทศ, ความมั่นคง, กระทรวงสาธารณสุขก่อให้เกิดเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างโปร่งใสผ่าน Open data

เกาหลีหลังจากนี้

สิ่งที่ต้องยอมรับต่อจากนี้คือ สภาพเศรษฐกิจของเกาหลี รายได้ที่มาจากการท่องเที่ยวที่ไม่น่าจะสู้ดีเท่าไหร่ เศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างเมืองแดกูที่มีการแพร่ระบาดหนัก คงต้องใช้เวลาฟื้นฟูกันอีกยาวนาน ยังมีเรื่องของความกลัว สภาพจิตใจของคนในพื้นที่ บวกกับโรคโควิด-19 ที่มีการขยายไปเป็นโรคระบาดระดับโลก น่าจะกระทบกับการท่องเที่ยวและการเดินทางในระยะยาวต่อให้เกาหลีใต้พลิกฟื้นสถานการณ์กลับมาได้เป็นปกติก่อน แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้คือนอกเหนือจากเรื่องที่คาดการณ์ได้นี้ เกาหลีใต้โฟกัสมากกับประชาชน ให้ประชาชนได้รับการบริการพื้นฐาน แก้ปัญหาทีละจุดให้เต็มที่ เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะชื่นชมรัฐบาลเกาหลีผ่านการสังเกตการณ์ทั้งหมดของผมครับ

 

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

ติดตามเรื่องอื่นๆ