สวัสดีคุณผู้อ่านทุกท่านครับ ผมเพิ่งจะมีโอกาสได้กลับมาบล็อกในรอบเดือนทั้งเดือนนี้ แต่ก็ไม่พลาด
ที่จะนำสาระดีๆมาฝากคุณผู้อ่าน เนื่องจากวันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ได้จัดกิจกรรม บรรเลงเพลงกวีโดยเชิญ
ศิลปินแห่งชาติ อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และ คุณชูเกียรติ ฉาไธสง ซึ่งเป็นศิลปิน
นักแต่งเพลงคู่กับอาจารย์เนาวรัตน์มาโดยตลอด ซึ่งใจมีประเด็นที่น่าสนใจอยู่หลายเรื่อง ขอนำมา
เล่าบรรยากาศและสาระดีๆที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ครับ
ก่อนอื่นต้องเกริ่นประวัติของอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ก่อนครับ ท่านได้รับรางวัลศิลปิน
แห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2536 ได้รับรางวัลซีไรต์จากการเขียนคำประพันธ์ต่างๆ รางวัล เกียรติยศ
ต่างๆ นับว่าท่านมีความสำคัญในด้านของการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร และการแต่งคำประพันธ์
โดยแท้จริงครับ
ใจความตอนหนึ่งที่สำคัญของการบรรยายในวันนี้ คงเป็นเรื่องราวชีวิตก่อนที่จะมาเป็นนักเขียนรางวัล
ซีไรต์และศิลปินแห่งชาติ ท่านได้กล่าวว่า เมื่อท่านยังเป็นเด็ก มีคำประพันธ์มากมายที่คุณพ่อ เขียน
ติดตามฝาผนังให้ได้ท่องก่อนเข้าโรงเรียนและก่อนอ่านออกเขียนได้ บทประพันธ์ คำประพันธ์
ต่างๆ ผ่านสายตาของเด็กชายเนาวรัตน์ ณ ตอนนั้น ทำให้สามารถจดจำคำประพันธ์ บทอาขยาน
ต่างๆได้อย่างแม่นยำ พอมาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 (เทียบเท่า ป.6 ปัจจุบัน) ก็เริ่มมีเพื่อนๆที่กำลัง
มีความรักให้แต่งคำประพันธ์ให้ ซึ่งในขณะนั้นไม่มีใครแต่งเป็น ก็ทำให้การแต่งคำประพันธ์ของ
อาจารย์เนาวรัตน์ในวัยเด็ก เป็นเรื่องที่สนุก และสามารถสร้างรายได้จากการเก็บค่ากลอนบทละ 1 บาท
อาจารย์เล่าต่อว่า ท่านมีโอกาสได้นัดพบปะสังสรรค์กับเพื่อนที่เรียนด้วยกัน เพื่อนเข้ามาบอกอาจารย์
ว่า อย่าไปบอกแฟนนะว่า คำประพันธ์ที่แต่งให้เป็นฝีมือของอาจารย์เนาวรัตน์ เพราะตอนนี้แฟนเข้าใจ
ว่าเค้านั้นเป็นคนแต่งให้เธอ ทำให้อาจารย์รู้สึกยินดีที่คารม ความอ่อนหวาน ความไพเราะ ของการใช้
ภาษานั้นสามารถดึงดูดใจ และกินใจคนได้ถึงเพียงนี้
ท่านมีความใฝ่ฝันที่จะเข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่เป็นที่คาดหวังไว้
เพราะท่านได้เข้าศึกษาต่อที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชีวิตในมหาลัยค่อนข้างอิสระ
ทำให้อาจารย์ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการตั้งชมรมเกี่ยวกับด้านภาษา ไม่ว่าจะเป็นวรรณศิลป์ ดนตรีไทย
ด้วยความสนุกสนาน และรักในสิ่งที่ทำอยู่ อาจารย์จึงเรียนที่ธรรมศาสตร์นานกว่าเพื่อนๆ คือเป็นระยะ
เวลา 8 ปี ท่านทิ้งข้อคิดไว้ว่า ตัวอย่างที่เห็นนี้ คือ “อยากให้ทุกคนรู้จักจัดการกับปัญหาให้ได้
ชอบอะไรอย่าให้เป็นอุปสรรค ขอให้เป็นสิ่งที่ดี จะทำให้เรารู้จักช่วยตัวเองได้ ใช้ตัวเองดี“
เนื่องในวันภาษาไทยที่จะถึงในวันพรุ่งนี้ ท่านมีเรื่องราวที่เกี่ยวกับภาษาไทยของเรา ซึ่งเป็นส่วน
หนึ่งของการบรรยาย ดังนี้ครับ ท่านบอกว่า คนไทยนั้นมีวัฒนธรรมเกี่ยวกับความเชื่อที่ฝังแน่น
อาจเป็นเพราะจากความไม่รู้หนังสือของคนไทยในสมัยก่อน ที่ผู้ได้ร่ำเรียนหนังสือถูกจำกัดไว้
เพียงกลุ่มคนบางส่วน การที่จะให้ความรู้ต่างๆ จึงต้องมีอุบาย เพื่อเรียกให้มาฟัง วัฒนธรรมการฟัง
จึงคงเป็นวัฒนธรรมหลักของคนไทย ทำให้การบริโภคข้อมูล ส่วนมากมาจากการฟัง แทนที่จะเป็น
การอ่าน
ประเทศฝรั่งเศสที่อาจารย์พูดถึง อาจารย์ยกย่องในเรื่องของการที่รู้จักให้เยาวชน อ่านวรรณกรรม
ดังๆ ของโลก ท่านย้ำให้นักเรียนทุกคนทราบว่า ที่นั่นเค้าได้อ่านวรรณกรรมของท่านสุนทรภู่แล้ว
เพราะการอ่านเสมือนกับการอ่านความคิด เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งให้เราอ่านน้อยลง ครอบซึ่ง
ความคิดและความอ่าน ทั้งหมดนี้ครับที่ท่านพูดได้พูดไว้เกี่ยวเนื่องกับการใช้ภาษาไทยครับ
สุดท้ายผมฝากบทประพันธ์ที่มีเนื้อหาลึกซึ้งกินใจ ผลงานการประพันธ์ของ อ.เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
ในบทประพันธ์ที่มีชื่อว่า “เป็นมนุษย์” แล้วพบกันใหม่กับสาระดีๆที่นำมาฝากในตอนต่อ สวัสดีครับ 🙂
๏ ก่อนจะเป็นอะไรในโลกนี้
ทั้งเลวทรามต่ำดีถึงที่สุด
ก่อนจะสวมหัวโขนละครชุด
คุณต้องเป็นมนุษย์ก่อนอื่นใด๏ คุณจะต้องรู้จักการเป็นมนุษย์
ไม่ใช่ชุดเครื่องแบบที่สวมใส่
ไม่ใช่ยศตำแหน่งแกร่งฉไกร
หากแต่เป็นหัวใจของคุณเอง๏ ใจที่มีมโนธรรมสำนึก
ใจที่รับรู้สึกตรึกตรงเผง
ใจที่ไม่ประมาทไม่ขลาดเกรง
ใจที่ไม่วังเวงการเป็นคน๏ เมื่อนั้นคุณจะเป็นอะไรก็ได้
เป็นผู้น้อยผู้ใหญ่ได้ทุกหน
มโนธรรมสำนึกรู้สึกตน
ต้องตั้งตนให้เป็น คือ เป็นมนุษย์!……………………………………
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
พฤ ๑๓/๑๑/๕๑