LATEST ARTICLES

เที่ยวจีนเซี่ยงไฮ้ คนเดียวยังไหว – วัด Jing’an, Yuyuan Garden, The Bund (ตอนที่ 2)

หลังจากในตอนที่ 1 เฟรมได้พาทุกคนทำการบ้านเรื่องการเตรียมตัวการเดินทางมาพอสมควร ตอนที่ 2 เป็นต้นไป จะพาทุกคนแบกเป้มาเที่ยวไปด้วยกันครับ

Day 1 – วัด Jing’an Temple / Yuyuan Garden / Nanjing Road/ The Bund

สรุปทริป Day 1 * เข้าสวน Yuyuan Garden ต้องใช้ Passport! ให้พกไปด้วย 10:30 – วัด Jing’an Temple 11:40 – สวน Jing’an Park (ตรงข้ามวัด Jing’an Temple) 12:20 – ห้าง / ร้านกาแฟ SeeSaw 13:30 – สวน Yuyuan Garden/ ตลาดรอบๆ สวน 16:00 – Nanjing Road 16:40 – The Bund, นั่งพักที่คาเฟ่ Costa Cafe 19:30 – ร้านเสี่ยวหลงเซีย Huxiaopang Shanghai Crayfish
          เป้าหมายของเช้าวันที่ 2 นี้จริงๆ จะเป็นการไปเดินสวน Yuyuan Garden (豫园 – yùyuán) สวนสวยใจกลางเซี่ยงไฮ้ที่อายุกว่า 400 ปี แล้วไปเดินที่ถนนช็อปปิ้ง Nanjing Road แล้วจบด้วยการชมวิวกลางคืนที่ The Bund หรือภาษาจีนเรียก “ไว่ทัน” (外滩 – wàitān) ในขณะที่วัด Jing’an Temple จะเป็นแพลนสำหรับวันถัดไป ซึ่งในขณะที่กำลังนั่งรถไฟฟ้าสาย 14 เพื่อเดินทางไปสถานี Yuyuan Garden อยู่ ก็นั่งสังเกตเส้นทางของสาย 14 แล้วก็พบว่า เราจะถึงสถานี Jing’an Temple ก่อน ก็เลยปิ๊งไอเดียตรงนั้นเลยว่าเราจะแวะวัดก่อน (ซึ่งก็ควรจะเป็นแบบนี้ตั้งแต่แรก 555) เลยมาถึง วัดจิ้งอาน (Jing’an Temple) ทันทีที่ออกจากประตูทางออก 1 ซ้ายมือก็จะเป็นวัดเลยครับ จะมีแถวที่มีคนมามุงสแกน QR Code เพื่อจ่ายค่าเข้าชมวัด ซึ่งเฟรมพยายามจะเริ่มใช้ “สกิล” ในการ “สแกน” เพราะทราบว่าเมืองเซี่ยงไฮ้ไปไหนก็ต้องสแกน แต่ก็พบว่าไม่ประสบความสำเร็จตรงที่จะต้องใช้เบอร์โทรศัพท์ที่จีนครับ (บางแอปก็ไม่ต้องใช้ สามารถใช้เบอร์ไทยยืนยันตัวบุคคลได้เลย) แต่เหมือนกับการชำระค่าเข้าวัดนี้จะต้องใช้ OTP ที่ส่งมาที่เบอร์จีน และพยายามจะขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ เขาก็ชี้ให้เราเข้าไปชำระเงินสดเลยครับ ก็จะมีทางเข้าให้เราใช้เงินสด ค่าเข้าอยู่ที่ 50 หยวน (เงินสดเพิ่งจะได้เริ่มใช้ก็ตอนนี้) Jing' an Temple Shanghai China วัดจิ้งอาน เข้ามาแล้วก็จะเห็นนักท่องเที่ยวที่เข้ามากราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดจิ้งอานอยู่เต็มวัดไปหมดเลยครับ แต่ช่วงที่ไปก็ถือว่าไม่หนาแน่น มีเต๊นท์ขายธูปที่ต้องสแกนเช่นกัน จะมี QR Code ให้สแกนส่งเงินให้ ค่าธูป 10 หยวน จะต้องกรอกเลขเอง และนำรายการที่โอนชำระสำเร็จไปให้เจ้าหน้าที่แล้วก็รับธูปครับ (อันนี้เฟรมจ่ายด้วย WeChat ได้ สแกนแล้วกรอกเลข 10 หยวน เมื่อกดชำระแล้วแล้วจะมีหลักฐานว่าชำระเสร็จแล้วเด้งขึ้นมา) Jing'an Temple inside statue ก่อนเดินทางมาก็ทราบมาว่าที่นี่เป็นที่ประดิษฐานขององค์เจ้าแม่กวนอิมพันมือขนาดใหญ่ครับ บริเวณวิหารต่างๆ มีไม้แกะสลักที่ประณีต สวยงามมากๆ บริเวณรอบๆ จะเป็นอาคารที่เข้าใจว่าเป็นสถานปฏิบัติธรรมทั่วไป หรือจุดที่ให้ญาติของผู้วายชนม์มาทำความเคารพ ก็จะมีแยกโซนที่นักท่องเที่ยวเข้าไปได้ไม่ได้อย่างชัดเจน Jing an temple main hall Zhu pa ใช้เวลาเดินชมในจุดตรงนี้อย่างสงบ พุทธศาสนิกชนอย่างเราๆ ที่นานๆ ทีจะมีโอกาสเข้าวัดก็ต้องใช้โอกาสนี้ขอพรให้การเดินทางท่องเที่ยวคนเดียวนี้ปลอดภัยด้วยครับ ตรงทางออกก็จะมีเครื่องราง ซึ่งไม่ได้ทำการบ้านมาเลยขอผ่านไป ก่อนที่จะออกมาหากาแฟบ่ายกิน ในโพยของผมจะมีร้านกาแฟแฟรนไชส์ที่ชื่อ SeeSaw อยู่ใกล้ๆ แต่ก่อนจะไปตามทางแผนที่ ก็มาเจอสวนที่อยู่ตรงข้ามกับวัด ชื่อก็ตามชื่อวัดเลยครับ Jing’an Park ตรงนี้บรรยากาศก็ร่มรื่นๆ เหมาะที่จะมาพักผ่อนได้ดีเลย

Jing’an Park

Jing an park สวนสาธารณะ จิ้งอาน ตรงทางเข้าสวนมีร้านกาแฟ อยากจะอุดหนุนกาแฟแบรนด์ท้องถิ่นซะหน่อย (เรื่องจริงๆ คือทนความหอมกาแฟร้านนี้ก่อนไปถึงอีกร้านไม่ได้ – -) เลยได้มาลองสั่งกาแฟเซี่ยงไฮ้แก้วแรกที่ร้าน BE STAR Coffee (比星咖啡 – bǐxīng kāfēi) ครับ Be Star Coffee Jing An Park ร้านกาแฟ เซี่ยงไฮ้ จีน เมนูก็มีแต่ภาษาจีนครับ เรียนภาษาจีนมาก็จำแต่ประโยคเมนูกาแฟของตัวเอง “หนาเถี่ย (nátiě)” ที่แปลว่าลาเต้ แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในลายแทงตั้งแต่แรก แต่ก็พบว่ากาแฟที่นี่ ไม่เข้มจัดๆ เหมือนที่ไทย แล้วก็ไม่ได้จางเหมือนกับที่เกาหลี เป็นจุดบาลานซ์กันที่ดีเลย องค์ประกอบที่สำคัญของกาแฟลาเต้สำหรับเฟรมคือเรื่องนมด้วยครับ ดื่มแก้วเดียวก็พอจะเข้าใจว่านมที่แต่ละประเทศมีกลิ่น และรสชาติแตกต่างกัน อร่อยแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งสำหรับเฟรมกาแฟที่เซี่ยงไฮ้ให้ผ่านเลยครับ กาแฟจะไม่หวานเป็น base เหมือนกับของที่ไทยดังนั้นใครชอบหวานอาจจะต้องบอกขอเติมไซรัปเพิ่มเข้าไป แก้วนี้อยู่ที่ 24 หยวน หรือประมาณ 72 บาท เดินต่อมาก็จะเป็นทางเข้าห้างที่ชื่อว่า Réel (ชื่อจีน 芮欧百货 – ruìōubǎihuò) ครับ ตรงนี้ชั้นบนก็จะเป็นช็อปปิ้งมอลล์ที่มีแบรนด์ต่างๆ มากมายเลย ส่วนชั้นล่างก็จะเป็นโซนฟู้ดคอร์ทที่มีร้านอาหารเยอะมาก และเหมาะมากที่จะมาฝากท้องที่นี่ แต่เฟรมกาแฟมาก่อนจริงๆ เมื่อสักครู่ที่ได้ลาเต้ไปแล้วหนึ่งแก้ว ก็จะมาต่อที่ร้านกาแฟของร้าน SeeSaw ที่อยู่ในห้างนี้ตามแพลน SeeSaw Coffee Jing an reels branch Cafe in Shanghai เวลาเลือกกาแฟที่สั่ง เฟรมจะพยายามหาเมนูที่เป็น Signature ของร้าน ไม่ก็หาดื่มได้เฉพาะฤดูกาลครับ เลยมาเจอกับ Osmanthus Dirty (金桂Dirty) ที่ตอนสั่งก็ยังไม่รู้ว่า “Osmanthus” นี่มันคืออะไร (แต่ดูท่าจะเป็นของดี 555) เลยเลือกเมนูนี้มา แก้วละ 32 หยวน ซึ่งระหว่างดื่มไป ก็ได้มาทำการค้นหาและพบว่า Osmanthus หรือ 桂花 – guìhuā ก็คือ “ดอกหอมหมื่นลี้” ที่คนไทยรู้จักกัน และเหมือนจะเป็นสัญลักษณ์ของฤดูใบไม้ผลิ ก็ว่าได้เลยครับ เพราะจากที่สังเกตเฟรมเห็นหลายเมนูเครื่องดื่มที่เป็นชา-กาแฟ จะมีส่วนผสมของดอกกุ้ยฮวา หรือหอมหมื่นลี้เป็นกิมมิคของร้าน จากการสืบค้นข้อมูลก็พบว่า ดอกหอมหมื่นลี้ เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของฤดูกาลใบไม้ร่วงของที่จีนครับ แบรนด์ต่างๆ ที่จีนก็จะชอบใช้ดอกหอมหมื่นลี้มาเป็นไอเทมทางการตลาดเต็มไปหมด อารมณ์เหมือนฤดูใบไม้ผลิก็ต้องมีดอกซากุระ กาแฟ Dirty หอมหมื่นลี้ ร้าน SeeSaw Coffee เซี่ยงไฮ้ เสร็จจากตรงนี้แล้วก็เดินทางต่อไปเลยครับ ตัวห้างมีจุดเชื่อมกับสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งก็สามารถนั่งรถไฟฟ้าสาย 10 ไปลงที่สถานี Yuyuan Garden ได้เลย

สวน Yuyuan Garden

เมื่อมาถึงสถานี Yuyuan Garden ก็ให้เดินตามหาประตูทางออก 1 ครับ จุดตรงนี้เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ และมีตลาดขนาดใหญ่ ไม่แปลกใจที่จะเห็นนักท่องเที่ยวมาที่ตรงนี้เยอะมากๆ ครับ เดินออกมาจะยังไม่ถึงสวนเลย และก็มาพบทีหลังว่าทางเข้าสวนมีหลากหลายทางมาก ต้องเกริ่นอย่างนี้ครับว่า สวนจะถูกล้อมไปด้วยตลาดที่ใหญ่กว่าสวนมาก​ๆ ครับ
ตลาดใกล้กับสวน Yuyuan Garden สวนอวี้หยวน
ดูจากภาพเหมือนคนเยอะ แต่พื้นที่ตรงนี้ก็ใหญ่จริงๆ การท่องเที่ยวในตรงนี้คิดว่าไม่แออัดเท่าไหร่ เทียบจากรูป
ใช้เวลาในการหาทางเข้าสวนอยู่นานพอสมควรเลย เนื่องจากไม่มีป้ายบอกเป็นภาษาอังกฤษ สุดท้ายก็มาเจอทางเข้าสวน ส่วนตรงนี้เรียกว่าเป็นสะพาน Jiuqu Bridge (九曲桥 – jiuqǔqiáo) ครับ Jiu Qu Qiao Jiuqu bridge in front of Yuyuan Garden, Shanghai ก่อนจะเข้าไปที่สวน รอบๆ สวน เราจะเห็นสระน้ำประมาณนี้ก่อนครับ คนก็เยอะจริงๆ ในช่วงที่ไป อาจจะตรงกับวันหยุดยาวของที่นี่ด้วยครับ แต่ก็ไม่ได้เบียดอะไรมาก ไม่ถึงขั้นต้องจัดแถว เมื่อข้ามสะพานเข้าไปแล้ว จะมีจุดที่คนเริ่มต่อแถว และเห็นจุดจำหน่ายตั๋ว ตรงนี้ถึงจะเป็นบริเวณสวนที่เป็นไฮไลท์ของจริง Yuyuan Garden entrance and ticket booth ในการเข้าไปส่วนตรงนี้จะต้องนำ ID Card หรือชาวต่างชาติใช้ Passport เพื่อลงทะเบียนเข้าไปด้วยครับ โดยจะมีค่าเข้าอยู่ที่ 40 หยวน Yuyuan Garden city god temple พอเข้ามาแล้วเราก็จะเห็นเป็นลักษณะเรือนหลายหลัง ที่ล้อมไปด้วยสวนต่างๆ ครับ อารมณ์เหมือนพรอพถ่ายหนังจีน ก็จะเห็นคนเข้ามานั่งพักบ้าง เดินดูชมจุดต่างๆ บ้าง จากรีวิวก็พบว่าเสียงแตกครับ มันอาจจะไม่ได้มีขนาดพื้นที่ใหญ่มาก หรือจุดสนใจใหญ่เทียบเท่ากับจุดอื่น ส่วนตัวเฟรมคิดว่าถ้ามีเวลาเยอะหน่อย เข้ามาด้านในก็ดีครับ แต่ถ้าเกิดเวลาไม่เยอะ รอบๆ ของสวน และตลาดที่อยู่ด้านนอกก็อาจจะกินเวลาช็อปปิ้งไปพอสมควร Shops and street foods around Yuyuan Garden shanghai จะว่าไปทั้งวันก็ไม่ได้กินอะไรเป็นกิจลักษณะเลย เดินมาจนสุดซอยของตลาด ก็มาเจอกับร้านขายเนื้อเสียบไม้ที่คนขายดูเสียงดังเรียกลูกค้า ลองเอากล้องเปิด Google Translate ดูก็พบว่าเป็นเนื้อเสียบไม้มีตั้งแต่ไก่ แกะ วัว และหมู ส่วนราคาก็จะต่างกันที่ไซส์ครับ วิธีการสั่งดูไม่ยุ่งยาก เพียงแค่เราสแกน QR Code ที่แปะอยู่หน้าร้านด้วย WeChat กรอกเลขของราคาไม้ที่เราจะกิน และโชว์ให้เจ้าของร้าน เขาก็จะเอาไปอุ่นและคลุกกับผงซอสให้ รสชาติโอเคเลยครับ พอรองท้องได้ ก็ยืนกินตรงนั้น เผลอทำตกไปชิ้นนึงด้วย แต่ก็เห็นคนพาหมาตัวนึงมาเดินเล่นแถวนั้น รอจังหวะคนทำอาหารหกแล้วก็ให้น้องหมาจัดการต่อ
Beef Shashlik
ไม้นี้ 300 กรัม 35 หยวนครับ
จากนั้นก็เดินย้อนกลับไปที่สถานี Yuyuan Garden จากนี้ก็ไกลเลยครับ เตรียมเดินทางไปต่อที่ Nanjing Road

Nanjing Road

ถนนช็อปปิ้งสุดใหญ่ตระการตาของเซี่ยงไฮ้อย่าง “Nanjing Road” หรือ “Nanjing Lu” นี้ ใครที่ตามหลายๆ รีวิวมา เขาจะบอกให้เรามาออกประตูทางออก 2 ของสถานี East Nanjing Road (南京东路) ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ในวันที่เดินทางมีประกาศแจ้งปิดประตูทางออก ซึ่งเขาก็มีประกาศเป็นภาษาจีนในแอป Amap ตอนเดินทางเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้สนใจเท่าไหร่ จนสุดท้ายต้องวิ่งตามคนจีนออกมาก่อนที่จะถูกปิดประตู และมาโผล่ที่ประตูทางออก 4 ถนน Nanjing Road, นานจิง ที่เที่ยวเซี่ยงไฮ้ เดินออกมาทางออก 4 ก็ยังเป็นถนนช็อปปิ้งใหญ่เช่นกัน แต่ก็ไม่รู้จะต้องไปทางไหน เพราะมันใหญ่สุดลูกหูลูกตามาก ผมเองที่ไม่ได้มีแผนมาช็อปปิ้ง หรือต้องแวะเข้าร้านใดร้านหนึ่งเป็นพิเศษ เลยเลือกเดินไปตามทางที่มุ่งหน้าสู่ The Bund ที่เป็นสัญลักษณ์ของเซี่ยงไฮ้อีกแห่ง
nanjing road china national day
นักท่องเที่ยวที่เยอะแบบสุดลูกหูลูกตา ครั้งแรกที่เคยเห็นคนเยอะแบบนี้
เนื่องจากเป็นวันหยุดยาวของที่นี่ ไม่แปลกใจเลยว่าคนหลั่งไหลเข้ามาเยอะมากๆ เป็นเยอะระดับที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนในชีวิตเลยก็ว่าได้ฮะ แต่มันเป็นเยอะที่ไม่แน่น ไม่เบียดเสียด การจัดการเขาดีมาก เขามีทหารมาคอยจัดแถว ไม่ยอมให้นักท่องเที่ยวข้ามไปอีกฝั่งเลย ถนนจะต้องเดินตามแนวไม่ย้ายเลน ก็เป็นภาพที่ไม่ค่อยคุ้นหูคุ้นตาเท่าไหร่ ตอนแรกก็นึกว่ามีพิธีสำคัญอะไรหรือเปล่า แต่ดูๆ แล้วจะเป็นวิธีการจัดระเบียบของคนที่นี่ล่ะครับ Huawei Shop Nanhing Road, Shanghai China มีแวะตามช็อปต่างๆ บ้าง ผมเองสนใจเรื่องเทคโนโลยีของจีนอยู่แล้ว Apple, Sumsung Shop เราไม่เข้า เราไปเข้า Huawei ซึ่งช่วงนี้ก็มีรุ่นใหม่ออกมาพอดี ก็พบว่าคนจีนให้ความสนใจไม่ต่างอะไรกับคนต่างชาติรุมเข้า Apple Store ด้านในมีอบรมให้ความรู้การถ่ายภาพ และได้เห็นสารพัดอุปกรณ์ไอทีจากค่ายนี้ที่เราอาจจะไม่ค่อยคุ้นหน้าคุ้นตาอย่างอุปกรณ์เล่นเกม, e-Book reader ฯลฯ
zhao lusi sketchers and nanjing road shops
สะดุดกับจ้าวลู่ซือ และเดินต่อไปก็เจอร้านค้าเยอะแยะเต็มไปหมดที่ไม่ได้หยุดแวะเลย
เดินเล่นไปสักพักและในที่สุดก็มาถึง The Bund หรือ Waitan ครับ ตรงนี้แม้ว่าจะเป็นมุมมหาชน แต่ก็มีหลากหลายโซนให้ถ่ายรูปได้ ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ได้รูปสวยๆ สิ่งที่คิดว่าอยากให้ทุกคนพิจารณามาโซนนี้ในช่วงเวลาเย็นๆ สัก 4-5 โมงนั่นก็เพราะว่า เราจะได้เห็นทั้งช่วงสว่างและช่วงที่เป็นแสงสีของโซนตรงนี้ครับ ให้อารมณ์ยุโรปอย่างที่เขาล่ำลือมากันจริงๆ เราก็ได้แต่เสพบรรยากาศในโซนตรงนี้ไปสักพัก The bund nanjing road เฟรมเข้ามานั่งพักผ่อนและรอให้ถึงเวลาให้แสงน้อยหน่อย เพื่อรอเวลาถ่ายภาพวิวกลางคืนที่ร้านกาแฟ Costa Coffee ก็เป็นแฟรนไชส์ของที่นี่อีกแบรนด์ แต่เนื่องจากปริมาณกาแฟที่จัดไป 2 แก้วในช่วงเช้า เลยตัดสินใจมาสั่งชาแทน เฟรมสั่งเป็นเมนู Fresh Coconut Oolong Tea เพื่อจะมาทดแทนสักหน่อย แต่ Coconut ที่นี่ แทบจะเป็นกะทิบ้านเราเลย แอบผิดหวังเล็กน้อยฮะ
Costa coffee Nanjing Road branch
เฟรนไชส์ร้านกาแฟที่มีที่นั่งเยอะดี มีปลั๊กให้เสียบชาร์จแบต พนักงานที่พร้อมชาร์จคุณเมื่อไปยืนดูแก้วทัมเบลอร์ แม้คุณจะฟังไม่ออกเลยก็ตามว่าเขาขายอะไร…
มานั่งพักขาทีนี่แล้วก็ชาร์จแบตด้วยครับ เจอคุณป้าโต๊ะข้างๆ เห็นสายชาร์จเราเยอะ (ชาร์จได้หลายเครื่อง) ก็มาขอเราชาร์จไปด้วยสักพักหนึ่ง นั่งเพลินจนถึงตอนนั้นก็ประมาณ 6 โมงนิดๆ แล้วครับ พอฟ้าเริ่มมืดเราก็จะได้เห็นการตกแต่งไฟตามอาคาร รวมถึงแสงไฟจากฝั่งตรงข้ามจาก The Bund ทำให้เราสามารถได้เก็บมุมมองภาพยามค่ำคืนของโซนตรงนี้ได้สวยงามเลย
Shanghai Custom House Tower Clock Nightview
อาคารหอนาฬิกาเสียงไฮ้ ยามค่ำคืน (Shanghai Custom House)
The Bund Waitan Nightview นั่งพักจนไปเก็บภาพอีกสักเล็กน้อย ก่อนที่จะมุ่งหน้าไปยังร้านอาหารมื้อค่ำ ที่เฟรมได้ลายแทงจากรุ่นน้องที่เคยมาเซี่ยงไฮ้ก่อนหน้า ที่บอกว่าต้องมาตำให้ได้กับเมนูกุ้งมินิอย่าง “เสี่ยวหลงเซีย” (小龙虾 – xiǎo lóngxiā) ลองดูพิกัดก็พบว่าเป็นแฟรนไชส์ครับ เลยใช้ Amap ค้นหาชื่อร้าน “ฮู่เฉี่ยวผางหลงเซีย” (沪小胖龙虾 – hùxiǎopànglóngxiā) เพื่อหาสาขาที่ใกล้ๆ ก็มาเจอสาขาที่สถานี Jiangning Road Station (江宁路) สาย 13 ซึ่งเป็นสายเดียวกับทางกลับโรงแรมด้วย สบายเลย! ระหว่างเดินทางไปสถานีรถไฟที่อยู่ใกล้กับ The Bund เพื่อไปร้านอาหาร ก็ต้องเดินไปขึ้นรถไฟฟ้าที่สถานี “Tiantong Road Station (天潼路)” ซึ่งใช้เวลาเดินไปประมาณ 20 นาทีน่าจะได้ แต่ระหว่างเส้นทางเดินทางมาสถานีรถไฟ ก็ทำให้เราได้พบกับมุมนี้โดยบังเอิญ มุมที่สวยมาก มุมที่มารู้ทีหลังจะเสียดายมากกกกก ขอให้ทุกท่านที่ทำการบ้านมาเที่ยวที่นี่ ได้โปรดมาผ่านสถานที่นี้ด้วยเถิด…​ ที่นี่คือ “อาคารที่ทำการไปรษณีย์ General Post Office Building” ครับ วิวกลางคืนสวยมากๆ แถมยังสามารถมอง The Bund จากไกลๆ ได้อีกด้วย General Post Office Building, Shanghai นั่งรถไฟจากสถานี Jiangning Road มาลงที่ Tiantong Road Station ใช้เวลาประมาณ 15 นาทีครับ เดินออกประตู 3 ตามแผนที่มาก็ถึงร้านอาหาร shanghai crayfish restaurant near jiangning road station เข้ามาในร้าน ร้านดูมีที่นั่งเยอะเลยครับ เราบอกเขามาคนเดียว พนักงานก็ไม่ได้ดูสับสนหรือตกใจอะไร​ (ไม่เหมือนเกาหลี กินข้าวคนเดียวลำบากมาก) เข้าไปในร้านก็มีลูกค้าอยู่ 2-3 โต๊ะทานเสี่ยวหลงเซียกันเป็นหมู่คณะ เราที่ตั้งแต่เดินทางมาถึงจีนนี้ ก็เพิ่งจะมีโอกาสได้ลองสั่งอาหารผ่าน QR Code ในร้านอาหารแบบนี้ครั้งแรก มีความประหม่าระดับหนึ่งก็เข้าไปนั่งและพยายามจะถามหาเมนูภาษาอังกฤษ พนักงานทำหน้างงหนักกกว่าที่เราเห็นมากินคนเดียวอีก เริ่มพยายามใช้ภาษาจีนง่อยๆ พูดว่า “ช่ายตาน (เมนู)” พร้อมทำท่าประกอบ พนักงานก็พูดรัวกลับมาเลยพร้อมกับผายมือไปที่ QR Code บนโต๊ะ และมี Keyword สำคัญคือ “เว่ยชิน” หรือ WeChat … เท่านั้นแหละ ก็อ๋อ แล้วก็ลงมือสแกนอย่างตั้งใจ
body language in china
ความรู้ภาษาจีนเพื่อการสนทนา + Body language
เราเองที่ก็ไม่แน่ใจว่าจะมีปัญหาอะไรกับตอนสั่งหรือเปล่า เพราะตอนเช้าเข้าวัดยังไม่สามารถสแกนด้วย QR Code ได้ ก็กลัวจะมาติดปัญหาตรงนี้ แต่ไม่เลย เหมือนระบบจะพร้อมให้เราสั่ง รู้สึกดีตรงที่พอสั่งผ่านมือถือจะมีรูป และเราสามารถแคปหน้าจอและเปิด Google Translate โดยเฉพาะมือถือ Android ที่อาจจะใช้ Feature พวก Google Lens แปลข้อความดูว่าอะไรเป็นอะไร สุดท้ายแล้วก็ไม่พ้นเมนูที่รุ่นน้องแนะนำให้สั่ง “招牌香辣龙虾” ที่ภาษาอังกฤษใน Google แปลไว้ให้อย่างสวยงามว่า “Signature Spicy Lobster” ในราคา 118 หยวน ประเมินจากราคาก็คิดว่าน่าจะหมด (ไม่รู้ว่าเอาความมั่นใจมาจากไหน) แต่เอาเป็นว่ามาลองลุ้นดูกันว่าจะมาในปริมาณไหน Food ordering interface in Chinese, Shanghai, China ผมสั่งเมนู หอยเชลล์ย่าง (烤扇贝 – kǎoshànbèi) มาทานด้วย ตามคำแนะนำอีกเช่นกัน คู่ละ 36 หยวน อาหารรอไม่นานมากครับ Grilled scallop ทีนี้ก็เป็นเวลาที่รอมานาน บอกเลยว่ารสชาติอร่อยและเป็นหนึ่งในเมนูที่รู้สึกถูกใจมากเมนูในการเดินทางมาเที่ยวเลยก็ว่าได้ครับ อาจจะเป็นเพราะเป็นคนชอบกินหมาล่าเป็นทุนเดิม การทาน “เสี่ยวหลงเซีย” นี้ ก็เป็นการทานครั้งแรกด้วยครับ ไม่รู้วิธีกินเลย รู้แต่ว่าจะเลอะ แต่ก็ยอมเลอะ (ยิ่งเลอะยิ่งเยอะประสบการณ์…) มันก็เหมือนกุ้งที่แกะยากๆ  แต่สุดท้ายเราจะเริ่มหาวิธีกินเป็นแบบของเราเอง เนื้อไม่เยอะเท่าไหร่ แต่ผมว่ามันสนุกตอนกินนี่แหละ มีเปลือกหุ้มมันบ้าง กินไปกินมาปากชา ลิ้นชาเลย (แต่มันก็ไม่เผ็ดนะ) Chinese crayfish ทานเสร็จหมดไป 187 หยวนครับ เฟรมใช้ AliPay จ่ายสแกนจ่ายกับร้านไม่มีปัญหา แต่จำได้ว่าตอนจ่ายเหมือนจะต้องรอรับเลข OTP จากธนาคารที่ไทย ทำให้มีจังหวะช็อตฟีลนิดๆ กับพนักงานร้าน แต่ก็ไม่มีปัญหาและออกมาจากร้านได้อย่างภาคภูมิใจ (ว่าในที่สุดก็สามารถทำภารกิจกินอาหารจีนในร้านอาหารคนเดียวได้แล้วโว้ยยยยย…) ก็เป็นอันจบสิ้นการเดินทางในวันที่สองที่เซี่ยงไฮ้ของเฟรมครับ ในวันนี้ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง และสร้างความคุ้นเคยกับการเดินทางไว้พอประมาณ ทำให้มีความมั่นใจเพิ่มขึ้นอีกเยอะเลยครับ วันพรุ่งนี้จะมีอะไรอยู่ในทริปนี้ มารอติดตามไปพร้อมกันนะครับ ^^

เที่ยวจีนเซี่ยงไฮ้ คนเดียวยังไหว – พาร์ทเตรียมตัว (ตอนที่ 1)

สวัสดีครับ ห่างหายไปจากการเขียนอะไรลงบล็อกไปนานพอสมควร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าที่ผ่านมานี้ชีวิตไม่มีอะไรอัปเดตเลยฮะ เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเดินทางไปเที่ยวประเทศจีนครั้งแรก​ และด้วยความที่เป็นครั้งแรกนี่แหละ ก็ย่อมมีอะไรที่ไม่รู้มาก่อนเกี่ยวกับประเทศนี้เยอะ บวกกับเป็นการเดินทางคนเดียวด้วย จึงต้องมีการเตรียมพร้อมที่เยอะเป็นพิเศษ จึงคิดว่ามีข้อมูลอะไรหลายๆ ส่วนที่อยากจะมาแบ่งปันให้กับนักเดินทางที่เตรียมหาแพลนเที่ยวประเทศจีน โดยเฉพาะ ‘เซี่ยงไฮ้’ ที่เฟรมได้มีโอกาสเดินทางไปเที่ยวในครั้งนี้ครับ

ประเทศจีน First time

การเดินทางครั้งนี้เกิดขึ้นจากรัฐบาลเกาหลีประกาศวันหยุดเพิ่มขึ้นอีก 1 วันในช่วงเทศกาลชูซอก ซึ่งเป็นหนึ่งในช่วงเวลาวันหยุดยาวของที่นี่ และทุกๆ ปี ในช่วงเวลาหยุดยาวแบบนี้จะค้นพบว่าตัวเองไม่ค่อยได้ออกไปไหน นอนเล่น อยู่บ้าน ปุ๊บๆ ปั๊บๆ วันหยุดหายไปอย่างรวดเร็ว ด้วยความรู้สึกเสียดายก็เลยวางแผนจะไปเที่ยวที่ไหนสักที่ เปิด Google Flight หาส่องตั๋วเครื่องบินราคาถูก ก็พบว่าจีนจริงๆ ก็ใกล้ แล้วก็ไม่แพง ผนวกกับช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีโอกาสได้นัดคุยกับรุ่นน้องคนไทยที่เกาหลีหลายคน ที่มีโอกาสได้เดินทางไปจีนมาก่อนหน้า ก็มาเล่าประสบการณ์ท่องเที่ยวให้ฟัง บอกว่านี่คือ “ยุโรปแห่งเอเชีย” เลย จากคำบอกเล่าเอย จากหน้าฟีดที่ตอนนั้นเต็มไปด้วย YouTuber ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเซี่ยงไฮ้เอย ก็เลยตัดสินใจจะไปเที่ยวจีนดูสักครั้ง จึงเป็นที่มาของ “ประเทศจีน First time” ของเฟรมครับ ขึ้นชื่อว่าเดินทางท่องเที่ยวในประเทศจีน ก็มีอุปสรรคด่านแรกเลยคือเรื่องการทำวีซ่า สำหรับเฟรมยิ่งที่อยู่อาศัยในต่างแดน ก็ไม่รู้ว่าการทำวีซ่าเข้าประเทศจีนในเกาหลีจะยากแค่ไหน ก็ได้แต่กังวลจนมีรุ่นน้องมาบอกโพยให้ได้เตรียมตัว ก็พบว่าใช้เวลาเตรียมตัวประมาณ​ 1 สัปดาห์ และขั้นตอนเฟรมเชื่อว่าก็ไม่น่าจะต่างจากการดำเนินการจากที่ไทย
China
หน้าตาของวีซ่าท่องเที่ยวประเทศจีน

การเตรียมความพร้อมก่อนเดินทางเที่ยวประเทศจีน

วีซ่าประเทศจีน

การดำเนินการวีซ่าเพื่อเข้าประเทศจีนสามารถดำเนินการด้วยตัวเองได้ครับ หลักๆ จะเป็นการเข้าไปกรอกรายละเอียดแบบฟอร์มในเว็บไซต์วีซ่าของประเทศจีน → จองคิวผ่านเว็บไซต์ → เข้าไปยื่นเอกสารที่ศูนย์วีซ่า ในเคสของเฟรมใช้เวลาประมาณ​ 3 วันทำการในการขอวีซ่าครับ เฟรมขอแยกเรื่อง [การขอวีซ่าประเทศจีนในประเทศเกาหลีใต้] ไว้ให้เป็นอีกหัวข้อหนึ่งเลย

อินเทอร์เน็ตประเทศจีน – ซิมโรมมิ่ง VS Pocket WiFi VS VPN แบบไหนดีกว่ากัน

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สงสัยมาก และเลือกทำการบ้านเป็นต้นๆ ก่อนเดินทางไปเที่ยวเลยครับ เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศจีนจำกัด (บล็อค) การเข้าเว็บไซต์ต่างประเทศหลายเว็บ ซึ่งจะส่งผลให้สายโซเชียลที่ต้องอัปเดตชีวิตผ่าน Facebook, IG หรือรายงานสถานการณ์ทางบ้านผ่าน LINE หรือแม้แต่กระทั่งการหาข้อมูลเส้นทาง-หาข้อมูลแปลภาษาผ่านบริการของ Google Maps, Google Translate ก็จะถูกบล็อกหมด หากเชื่อมต่อสัญญานอินเทอร์เน็ตจากประเทศจีน แต่หากเราเปิดการใช้งานโรมมิ่ง หรือซื้อแพ็กเพจโรมมิ่งเฉพาะมา ก็จะสามารถใช้งานบริการต่างๆ ที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ได้ตามปกติ โดยความเร็วในการเชื่อมต่อก็ถือว่าไม่แย่เลยครับ ตลอดทั้งทริปของเฟรม ถ้าเป็นการใช้งานอุปกรณ์มือถือ ส่วนใหญ่ใช้โรมมิ่งจากซิม, อุปกรณ์ Tablet และ Laptop จะใช้ Pocket WiFi, ในส่วนโรงแรมมี WiFi ให้บริการ พยายามลองใช้ VPN ในการเชื่อมต่อ จะพบว่าต่อได้บ้าง ไม่ได้บ้าง และพอใช้แก้ขัดประหยัด Data อินเทอร์เน็ตได้บ้างครับ แต่จังหวะที่หลุดบ่อยๆ ก็จะเสียอารมณ์เลยทำให้สุดท้ายต้องกลับมาใช้ Pocket WiFi แชร์อินเทอร์เน็ตให้ Laptop อีกที จึงจะทำให้การใช้งานไม่ว่าจะทำงาน หรือติดต่อสื่อสาร วิดีโอคอลผ่าน LINE กลับบ้านสามารถทำได้ไม่สะดุดหน่อย
Internet access in China portable wifi, vpn or roaming sim
ไปจีนเลือกใช้อินเทอร์เน็ตแบบไหนดี?
เลยลองสรุปการใช้งานมาตามรายละเอียดในตารางนี้ จากประสบการณ์ที่ได้ลองใช้หลากหลายรูปแบบครับ อินเทอร์เน็ตมีความจำเป็นในการเที่ยวของเฟรมที่เซี่ยงไฮ้มาก เพราะจำเป็นต้องใช้ในการใช้จ่ายผ่าน Alipay, WeChat รวมถึงหาข้อมูลเดินทางด้วย
ประเภท ราคา ข้อดี-ข้อเสีย
1. Roaming Sim (ซิมโรมมิ่งเล่นอินเทอร์เน็ตต่างประเทศ) ทดลองใช้ของ GOMO 427 บาท – แพ็กเกจ Asia Australia 7GB ข้อดี: เร็วที่สุด, ใช้งานสะดวก เล่นโซเชียลเปิดแผนที่ไม่ติดปัญหาอะไร ข้อเสีย: แพ็กเกจอาจจะแพง ถ้า Backup รูปเยอะ หรือใช้งาน Data หนักไม่คุ้ม
2. Pocket Wifi ทดลองใช้ของ 와이파이 도시락 (บริษัทให้เช่าอินเทอร์เน็ตพกพาในเกาหลีใต้) 40,000 วอน (1,080 บาท/ 5 วัน) – แพ็กเกจ 3GB/วัน x เช่า 5 วัน ข้อดี: ราคาถูก, สะดวก-แชร์เน็ตให้อุปกรณ์อื่นได้, มีแพ็กเกจแบบเน็ตไม่อั้น (ราคาประมาณ​ 12,900 วอน/วัน (350 บาท), ใช้โซเชียลปกติได้ ข้อเสีย: ใช้หลายเครื่องแบตอาจจะหมดเร็ว, เน็ตเร็วระดับ 4G (ใช้หลายอุปกรณ์อาจช้าได้)
3. VPN ทดลองใช้ของ BullVPN 179 บาท/เดือน ข้อดี: กรณีที่พักมีอินเทอร์เน็ต ใช้เน็ตโรงแรมอาจเป็นตัวเลือกที่ดี ข้อเสีย: หลุดบ่อย ช้า ไม่ค่อยเสถียร (ขี้นอยู่กับสภาพอินเทอร์เน็ตโรงแรมด้วย)

แอปที่ควรมีติดเครื่องสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในจีน

แอปแนะนำ ก่อนเดินทาง เที่ยวจีน Recommended App for Travelling in China
  1. แอปสามัญประจำทริป WeChat (บังคับโหลด) – ต้องวงเล็บเลยว่า บังคับโหลด เพราะคุณจะทำอะไรไม่ได้เลยถ้าไม่มีแอปนี้ขณะอยู่ในประเทศจีน (เว้นแต่ว่าซื้อทัวร์ไปแล้วเที่ยวตามทัวร์อย่างเดียว) เพราะเป็นซูเปอร์แอปที่มีฟังก์ชั่นตั้งแต่การเป็นแอปแชท, ชำระเงิน, สแกน QR Code เพื่อเชื่อมไปยังเพจ (หรือในนี้จะชอบเรียกว่าเป็นมินิโปรแกรม) เฉพาะสำหรับการสั่งอาหาร เลยจะต้องยกให้แอปนี้เป็นแอปจำเป็นอันดับ 1 เลยครับ คนจีนจะเรียกว่า “เว่ยซิ่น (微信 – wēixìn)”, การสมัครเฟรมพบว่ามีความท้าทายประมาณหนึ่ง จะต้องลงทะเบียนโดยใช้เบอร์โทร และมีขั้นตอนในส่วนการยืนยันตัวบุคคลเพื่อเปิดใช้งานฟังก์ชั่นการชำระเงิน (Payment) เพื่อเชื่อมต่อกับบัตรเครดิต ในส่วนขั้นตอนการสมัครดูไม่มีขั้นตอนอะไรมาก แต่การเปิดใช้บัญชี อาจจะต้องให้คนที่เคยลงทะเบียนสำเร็จแล้วยืนยันการเปิดบัญชีให้​ ค่อนข้างยุ่งยากประมาณหนึ่งเลยครับตัวอย่างตำแหน่งของ QR Code ที่เรามักจะพบเห็นตามจุดต่างๆ เช่น บนโต๊ะอาหาร (กรณีที่ร้านให้ดูรายการอาหารและสั่งผ่าน QR Code), ป้ายเมนู (อันนี้อารมณ์เหมือนพร้อมเพย์บ้านเราที่ผู้ใช้งานต้องกรอกจำนวนเงินเอง), ป้ายหน้าร้าน (ร้านไหนที่คนเยอะๆ อาจจะมีป้ายให้สั่งอาหารแต่ไกลๆ เช่น ร้านขายชา, อาหารเสียบไม้) ซึ่งเราก็จะใช้แอปอย่าง WeChat หรือ Alipay สแกนเพื่อดำเนินการต่อได้ครับ (ใช้โหมดกล้องของเครื่องเปิด QR Code ไม่ได้)
    Ordering food in Shanghai via QR Code
    ตัวอย่าง QR จ่ายเงินค่าสินค้า / ดูเมนู / สั่งอาหาร (ซ้ายไปขวา)
    WeChat Weishin App Interface Food Ordering Scenario
    ตัวอย่างหน้าตาแอป WeChat สำหรับการสั่งอาหารจากที่ร้านค้า และการชำระเงินจากแอป WeChat
    Alipay – เป็นแอปที่มีฟังก์ชั่นหลักๆ 2 อย่าง 1. ชำระเงิน 2. ระบบบัตรโดยสาร (ขึ้นรถบัส/รถไฟใต้ดิน) Alipay คนจีนจะเรียก “จือฟู่เป่า” (支付宝 – zhīfùbǎo) หรือประสบการณ์ส่วนตัวแค่แสดงสัญลักษณ์แล้วพูดว่า อาลีเพย์ ก็จะพอเข้าใจแล้วครับ
    Alipay App usage in Shanghai metro demonstration
    ตัวอย่างการใช้แอป Alipay เมนู Transport เพื่อสแกน QR Code สำหรับขึ้นรถไฟใต้ดิน-รถบัส ในเซี่ยงไฮ้
    True Money Wallet – เอาไปเป็นช่องทางสำรองในการชำระเงินจริงๆ ครับ เพราะเฟรมจะใช้ของบริการที่คล้ายกันของฝั่งเกาหลี คือ Kakao Pay เป็นหลัก แต่ทั้งนี้ด้วยความสงสัยก็มีลองจ่ายด้วย True Money Wallet ด้วยเช่นกัน และพบว่าแทบจะทำหน้าที่เดียวกับ Alipay เลยครับ เพราะเข้าเป็น Partner กัน ซึ่งเฟรมลองเอาไปใช้ในตอนไปจ่ายเงินที่ Starbucks ได้เรทอยู่ที่ (1 CNY = 5.096) ซึ่งเทียบกับบัตรเครดิตที่ใช้อยู่เรท ณ วันนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 5.15 บาทประสบการณ์การชำะระเงินของที่นี่ หลังจากที่เฟรมได้เชื่อมบัตรเครดิตของไทยไว้ทั้ง 2 แอป การใช้งานก็จะพบว่ามีบางครั้งที่จ่ายด้วย WeChat ไม่ได้บ้าง ก็จะเปลี่ยนมาจ่ายด้วย Alipay สลับกันไปมาครับ เข้าใจว่าขึ้นอยู่กับระบบของแต่ละร้านค้า จะมีขึ้นหน้ามาให้ยืนยัน OTP จากธนาคารตอนชำระเงินบ้างเป็นบางช่วง ก็ต้องให้มั่นใจว่าโทรศัพท์สามารถรับ OTP จากเมืองไทยได้ด้วยเพื่อไม่ให้ติดขัดในการชำระเงินครับ เวลาที่ใช้แอปอื่นๆ ชำระเงินที่ไม่ใช่ WeChat หรือ Alipay พนักงานร้านค้าจะทำหน้างงๆ มีเกาหัวกันนิดหน่อยล่ะครับ ว่ามันคือแอปอะไร เพราะถ้าครั้งแรกเราสแกนไม่ติด ไม่ผ่าน เขาจะพยายามบอกให้เราไปเข้าแอป Alipay แทน
  2. แอปนำทาง Amap – เป็นแอปแผนที่ ที่ส่วนตัวใช้บ่อยกว่าอีกค่าย Beidu Map อาจจะด้วย Interface ที่เข้าใจง่ายกว่า จะมีข้อมูลรีวิวร้านค้า มีรูปภาพประกอบ แต่ทั้งหมดก็อยู่ในพื้นฐานว่าเป็นภาษาจีนทั้งหมด ซึ่งเฟรมไม่ได้ภาษาจีนก็จะต้องอาศัยแคปรูปภาพแล้วเอาไปเปิดในแอปแปลภาษาอย่าง Google Translate ต่อไป แต่โดยพื้นฐานจะช่วยวางแผนเส้นทางการเดินทางว่าจะต้องไปขึ้นรถไฟสายไหน ลงที่ไหนแบบคร่าวๆ ได้ครับ
    Amap Map Navigation App for travel in China Shanghai
    Amap – แอปแผนที่แนะนำเส้นทางการเดินทางในจีน สามารถแนะนำเส้นทาง ขนส่งสาธารณะได้ และยังสามารถค้นหาร้านอาหาร ร้านค้าใกล้เคียงได้ด้วย (แต่เป็นภาษาจีนหมดเลย Y_Y)
    Explore Shanghai – เป็นแอปแสดงเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินเซี่ยงไฮ้เป็นภาษาอังกฤษ​ เอาไว้วางแผนเส้นทางอีกที พอเป็นภาษาอังกฤษก็ดูง่าย มีทั้งเป็นแอปและดูผ่านเว็บไซต์ได้
  3. แอปหาข้อมูลท่องเที่ยว Dianping – “ต้าจ้งเตี่ยนผิง” หรือสั้นๆ “เตี่ยนผิง” (大众点评 – dàzhòng diǎnpíng) แอปนี้จะเป็นกึ่งๆ เหมือน Social Network ของจีน แนวๆ Lemon8 ที่มีข้อมูลอาหารและแหล่งท่องเที่ยวค่อนข้างเยอะ ไว้เป็นแนวทางในการสแกนหาอาหารหน้าตาหน้ากิน หรือกิจกรรมพิเศษๆ ที่จัดขึ้นเฉพาะช่วง ความดีงามอีกอย่างก็คือ ในโพสต์จะมีแปะพิกัดของร้านไว้ด้วย ทำให้เราสามารถเอาชื่อ-สาขาของร้าน มาค้นต่อในแอปอื่นๆ ได้
    Dianping Food and restaurant review app in China
    Dianping – แอปโซเชียลสายรีวิวร้านอาหารที่หลังๆ ก็จะมีรีวิวกิจกรรม สถานที่ท่องเที่ยว ที่พอให้หาข้อมูลในละแวกที่เราจะไปท่องเที่ยวได้ ก็ทำให้เราติดตามเมนูแปลกๆ หรือกิจกรรม เทศกาล อะไรต่างๆ ในช่วงที่เราจะไปได้ ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยการเปิดแอปแปลภาษาเทียบการศึกษาเส้นทางไปด้วย

การลงทะเบียนสุขภาพก่อนเข้าประเทศจีน

ในช่วงที่เดินทางยังเป็นช่วงที่มีการคัดกรองสุขภาพล่วงหน้า แต่ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป ทราบว่าในขั้นตอนส่วนนี้ไม่จำเป็นต้องทำแล้วครับ (ยกเว้นผู้ที่มีปัญหาสุขภาพก่อนเดินทาง) QR Code สามารถกรอกผ่านทางเว็บไซต์นี้ได้
China health declaration
การกรอกข้อมูลสุขภาพก่อนเข้าประเทศ (อัปเดตตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 ทางการจีนได้ยกเลิกการตรวจสอบ QR Code ดังกล่าวนี้แล้ว)
 

การทำลิสต์สถานที่ท่องเที่ยวไว้ก่อนล่วงหน้า

เรื่องนี้จะช่วยให้การเดินทางง่ายขึ้นสำหรับผู้ที่ไม่สันทัดภาษาจีนครับ ให้คิดเล่นๆ ก็ได้ครับว่าเราไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวในแอปแผนที่ได้เลย ดังนั้นก็ชัดเจนแล้วครับว่าควรจะต้องมีคลังภาษาจีนไว้ติดตัว เฟรมใช้วิธีการทำการบ้านชื่อสถานที่สำคัญต่างๆ โดยเฉพาะพิกัดสถานที่ท่องเที่ยวที่จะไปไว้เป็นภาษาจีน อาจจะจดใส่แอป Notes ไว้ แล้วถึงเวลาเมื่อต้องการไป ก็คัดลอกแล้วนำไปวางให้สร้างเส้นทางการเดินทางจากจุดที่อยู่ เป็นต้น
Shanghai tourist attractions written in English and Chinese
ตัวอย่างลิสต์สถานที่ท่องเที่ยวที่เฟรมรวบรวมไว้ใน Google Sheet พอถึงเวลาจะไปที่ไหน ก็จะมา Copy ภาษาจีนไปค้นหาวิธีการเดินทางต่อในแอป Amap

การแลกเงิน

ช่วงที่ศึกษาหาข้อมูลมาพบว่าส่วนใหญ่ร้านค้ารับชำระผ่าน QR Code เยอะมากครับ และประสบการณ์ส่วนตัวหลังจากไปเที่ยวมาตลอด 5 วัน 4 คืนนั้น การชำระเงินจะเป็น QR Code ผ่านแอป Alipay, WeChat, Kakao Pay, TrueMoney ไม่พ้นทั้งหมดที่พูดถึงขึ้นก่อนหน้า เงินสดจำไม่ได้เลยว่าได้ใช้ตอนไหนแต่ก็คิดว่าควรมีต้องแลกไว้กรณีที่ฉุกเฉิน มือถือไม่ทำงาน เชื่อมต่ออะไรไม่ได้ก็ควรที่จะมีเงินสดไว้ครับ ซึ่งเฟรมได้ทำการแลกติดตัวไว้เล็กน้อยผ่านตู้แลกเงินก่อนเดินทาง
Currency exchange machine in Korea near Gimpo International Airport
เดี๋ยวนี้มีตู้แลกสกุลเงินต่างประเทศในเกาหลีไว้ให้บริการตามสถานีรถไฟฟ้าใหญ่ๆ ในเกาหลีครับ สามารถนำหนังสือเดินทางมาสแกนเพื่อแลกเงินต่างประเทศได้ ซึ่งจุดของสนามบินคิมโพ มีให้บริการแลกเงินวอนเป็นหยวน (จีน) ได้ด้วย อัตราแลกเปลี่ยนก็ไม่ค่อยแย่เลยครับ

Day 1 – ออกเดินทางจากสนามบิน Gimpo International Airport → Hongqiao International Airport

สนามบินที่เซี่ยงไฮ้จะมี 2 แห่งใหญ่ๆ ครับ ให้ความรู้สึกเหมือนสุวรรณภูมิกับดอนเมืองบ้านเราเลย เฟรมนั่งจากสนามบินคิมโพ (Gimpo) ซึ่งก็เหมือนสนามบินดอนเมืองเกาหลี ไปลงดอนเมืองเซี่ยงไฮ้ (พยายามจะเปรียบเทียบ 555) ซึ่งก็เป็นครั้งแรกที่ได้ลองนั่งเที่ยวบินต่างประเทศจากสนามบินที่นี่เช่นกัน Gimpo Internatioal Airport  สำหรับเฟรมคิมโพเป็นเหมือนสนามบินที่ได้รับความนิยมสำหรับเที่ยวบินในประเทศ เวลาไปเมืองปูซาน เจจู อะไรเสียมากกว่า แต่ถ้าเป็นไฟลท์ต่างประเทศส่วนใหญ่จะเป็นใกล้ๆ อย่างญี่ปุ่น ไต้หวัน และมีไม่กี่สายการบินครับ ความสะดวกในการเดินทางจากคิมโพ และการไปลงที่ หงเฉียว เซี่ยงไฮ้ นี้ เฟรมคิดว่ามีความสะดวกในเรื่องการเดินทาง เนื่องจากใกล้เมืองทั้งคู่เลย Gimpo international airport Korea เฟรมนั่งสายการบิน China Eastern ที่เขาโคกับ Shanghai Airline ครับ ใช้เวลาเดินทางเพียง 2 ชม. 20 นาที เที่ยวบินเป็นที่นั่งแบบ 3-3-3 แถว มีสื่อ Entertainment บนเครื่อง มีอาหารบนที่เป็นเหมือนกับข้าวอย่างละนิดหน่อย รสชาติพอทานได้ครับ แต่จำได้ว่าไก่จะเป็นไก่ผัดพริกได้กลิ่นหมาล่าด้วย เรียกว่าเปิดเมนูเผ็ดให้ทานกันตั้งแต่บนเครื่องเลย China Eastern from Gimpo Korea to Hongqiao Shanghai

จุดตรวจคนเข้าเมืองสนามบินหงเฉียว เซี่ยงไฮ้

พอมาถึงแล้ว จะมีจุดคัดกรองสุขภาพก่อนเลยครับ จะเห็นชัดเจนเลยคนที่ไม่ได้กรอกมาล่วงหน้าจะต้องมาวิ่งหากรอกข้อมูล ส่วนคนที่กรอกมาแล้วสแกน QR Code แล้วมองกล้องเดินผ่านไปได้เลย พอผ่านจุดนี้มาแล้ว สิ่งที่ไม่รู้มาก่อนล่วงหน้าคือจะต้องกรอกใบเข้าเมือง (Arrival Card) ด้วย เลยต้องรีบไปหาใบกรอกแถวนั้น (ไม่ได้แจกตั้งแต่อยู่บนเครื่อง) และกรอกข้อมูลซึ่งจะประกอบด้วยข้อมูลส่วนตัวสำคัญ, เที่ยวบินที่เดินทางมา, วันที่เดินทางกลับ, วัตถุประสงค์ของการเดินทาง และที่อยู่ที่พำนักในประเทศจีนไม่ต่างจากฟอร์มเข้าเมืองของประเทศอื่นๆ ตม.ที่นี่ค่อนข้างเข้มงวดประมาณหนึ่งครับ แต่สำหรับเฟรมที่เป็นคนไทย เดินทางมาจากประเทศที่ไม่ใช่ประเทศภูมิลำเนา (มาจากเกาหลี) แถมเดินทางคนเดียว ก็จะต้องมีบทสนทนาเยอะหน่อยเป็นธรรมดา ก็มีการถามย้ำครับว่า วัตถุประสงค์ของเรามาทำอะไร ซึ่งเราก็บอกว่ามา “ท่องเที่ยว” ระยะเวลาเท่าไหร่ “5 วัน 4 คืน” ทางตม. ก็มีการเช็กเอกสารการกรอกว่ากรอกมาตรงตามที่แจ้งใน Arrival Card หรือไม่ รวมถึงเฟรมเข้าใจว่าน่าจะตรวจเช็กจากข้อมูล Visa ที่มีการสมัครเข้าไปด้วยว่าตรงกันหรือเปล่า และย้ำอีกทีว่าเรามาเที่ยวคนเดียว ไม่ได้มีผู้ติดตาม หรือมาเจอเพื่อนที่นี่ใช่ไหม ซึ่งเราก็ตอบไปตามนั้นครับ เข้าใจว่าต้องพยายามแจ้งข้อมูลให้ตรงกับตามที่เขียนไว้ใน Arrival card และที่แจ้งไว้ในตอนสมัครวีซ่านั้นสำคัญที่สุด Hongqiao international airport China arrival card สนามบินหงเฉียวยามค่ำคืน เรียกว่าเงียบสงบเลยครับ ไม่มีร้านค้าเปิดอะไรมากมายให้ช็อปปิ้งทันทีที่ถึง จากสนามบินที่เฟรมมาลงจะเป็นอาคารโดยสาร Terminal 1 ซึ่งจะต้องเดินออกประตู และเดินไปอีกประมาณ 5 นาที ถึงจะเป็นทางไปสถานีรถไฟใต้ดินสาย 10 สถานี Hongqiao Airport Terminal 1
From Hongqiao airport to subway station exit 3
สังเกตสัญลักษณ์ Subway เมื่อออกมาแล้วจะเป็นทางเดินไปอาคารข้างนอก เพื่อไปทางเชื่อมกับสถานี Hongqiao Airport Terminal 1

การซื้อตั๋วโดยสารและการนั่งรถไฟใต้ดินในเซี่ยงไฮ้

การซื้อตั๋วโดยสาร จะมีตู้ Kiosk จำหน่ายตั๋วโดยสาร มีภาษาอังกฤษให้เราเลือกสถานีปลายทางเพื่อคำนวณค่าใช้จ่ายในการเดินทางครับ การชำระเงินเพื่อซื้อตั๋วแบบเที่ยวเดียว (Single Journey Ticket) นี้ สามารถใช้วิธีการสแกนจ่ายผ่าน QR Code ของ WeChat, Alipay ได้ หรือจ่ายด้วยเงินสด โดยเครื่องจะออกเป็นบัตรโดยสารมาให้ครับ Ticket station in Shanghai subway แต่ก็ต้องบอกก่อนว่าการซื้อตั๋ว Single Journey ก็เป็นครั้งแรก และครั้งสุดท้าย เพราะส่วนใหญ่แล้ว เฟรมจะใช้ผ่านแอป Alipay ทั้งหมดเลย พอเราได้ทำการเชื่อมบัตรเครดิตเข้ากับแอป Alipay และเปิดการใช้งานฟังก์ชั่นบัตรโดยสาร (Transport) ทำให้เราสามารถขึ้นรถไฟฟ้าได้เลยโดยการสแกน QR Code ที่จะมีตัวสแกนอยู่หน้าประตูทางเข้าครับ ตอนออกจากชานชาลาก็สแกนกลับไปที่เดิม ก็จะมีการเรียกเก็บค่าโดยสารตามมาทีหลัง (จะไม่หักทันที) ทุกครั้งที่เราเดินทางด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน จะต้องมีการสแกนสัมภาระครับ อันนี้ก็ตรวจจริงจัง เพราะทุกจุดเขาจะมีเครื่องสแกนเหมือนกับในสนามบิน ก็จะต้องให้ความร่วมมือเตรียมกระเป๋าวางไว้ในเครื่องสแกน

รีวิวที่พัก โรงแรม Holiday Inn Express Shanghai Jinsha

เลือกจองที่พักผ่าน Agoda ครับ [ลิงก์ข้อมูลโรงแรมใน Agoda] วิธีการเลือกโรงแรมเฟรมมี 3 เงื่อนไขหลักๆ คือ 1. เป็นโรงแรมที่มีสาขาในต่างประเทศ เครือที่น่าเชื่อถือหน่อย เพื่อความสบายใจเรื่องมาตรฐานในบริการ 2. ราคาสมเหตุสมผล 3. ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า นอกจากนี้ก็ไม่ได้ทำการบ้านอะไรเป็นพิเศษครับ ว่าจะอยู่ใกล้-ไกล ที่ท่องเที่ยวขนาดไหน
Holiday Inn Express Jinsha
บริเวณโรงแรมจะมีทางเชื่อมระหว่างสถานีรถไฟฟ้า และห้างอยู่
ห้องพักที่จองเป็นแบบ Standard Queen Room เตียงใหญ่ 1 เตียง ตกคืนละประมาณ​ 2,400 บาท สิ่งอำนวยความสะดวกในห้องครบครันเลยครับ มีเตารีดและฐานรองเตารีดให้ด้วย Holiday Inn Express Jinsha Shanghai China ส่วนตัวคิดว่าห้องพักมาตรฐานครับ อุปกรณ์ภายในห้องอาจจะไม่ได้ดูใหม่มาก ห้องค่อนข้างร้อน (เหมือนกับเคยได้ยินใครบอกว่าที่จีนแอร์จะไม่ได้เย็นเหมือนบ้านเรา) แต่ก็ยังมีพัดลมเตรียมไว้ให้แยกต่างหาก สำหรับเฟรมคิดว่าโอเคสำหรับการท่องเที่ยวคนเดียว ที่นี่มีบริการอาหารเช้าพ่วงมาด้วยสามารถลงมาทานได้ตั้งแต่ 07:00 – 09:00 น. อาหารค่อนข้างหลากหลายและได้มาตรฐาน เลยคิดว่าจะสะดวกมากๆ หากต้องเดินทางมากับครอบครัว เพราะจะตัดเรื่องมื้อเช้าไปได้แล้วอย่างน้อยหนึ่งมื้อครับ (อาหารรสชาติกลางๆ แต่หลากหลายดี) Breakfast Holidayinn Express Jinsha Shanghai จุดสะดวกอีกอย่างคือโรงแรมใกล้กับศูนย์การค้าขนาดย่อมๆ แถวโรงแรมมีร้านกาแฟท้องถิ่นอย่าง Manner Coffee หรือแม้แต่ Starbucks Reserved, Tim Horton’s อยู่ครับ ยังมีซูเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่นอย่าง “เหอหม่าเชียนเชิง”(盒马鲜生) และร้านอาหารญี่ปุ่น Sukiya อยู่แถวๆ นี้ด้วย แต่จะปิดเร็วหน่อยสัก 3-4 ทุ่มก็น่าจะปิดแล้ว ถ้าเกิดดึกกว่านั้นอาจจะต้องมาฝากท้องกับร้าน Family Mart ที่อยู่แถวๆ นี้
Shops and Cafes nearby the Holidayinn Expess Shanghai Jinsha
ร้านคาเฟ่ Starbucks Reserved และร้านกาแฟ Local อย่าง Manner Coffee อยู่ติดกับอาคารโรงแรมเลยครับ ส่วนซุปเปอร์และร้านอาหารก็มีอยู่ในละแวกนั้นเช่นกัน
เนื่องจากไฟลท์ถึงสนามบินประมาณ 2 ทุ่มครึ่ง ใช้เวลากับตม. ไปประมาณ 40 นาที กว่าจะถึงที่พักก็ประมาณ 4 ทุ่มเลยครับ ร้านค้าที่อยู่ใกล้กับโรงแรมส่วนใหญ่ก็ปิดกันหมดแล้ว เลยต้องมาฝากท้องไว้กับร้านสะดวกซื้อ “Family Mart” ที่อยู่ไม่ใกล้จากที่พัก (เดินประมาณ 8 นาที) เดินสำรวจของกินที่นี่ไปพลางๆ ครับ สนุกทุกครั้งที่ได้เดินดูรอบๆ ร้านสะดวกซื้อ มีขนมหน้าตาแปลกๆ อยู่เยอะพอสมควร เวลาซื้อของที่นี่ จะไม่แจกถุงพลาสติกให้ จะต้องมีซื้อกระเป๋าผ้า ซึ่งพนักงานจะถามเราครับว่า เราต้องการถุงหรือเปล่า? อาจจะฟัง Keyword คำว่า “ไต้จึ” (袋子 – dàizi) ที่แปลว่า ถุง ไว้ก็ดีครับ หรือบอกไปเนิ่นๆ เลยว่าเอาหรือไม่เอา การจ่ายเงินที่ร้านสะดวกซื้อสามารถใช้ Alipay สแกนจ่ายได้ไม่มีปัญหาครับ Family mart in China ถุงส่วนใหญ่จะเป็นถุงเหมือนถุงผ้าบางๆ หน้าตาเหมือนในรูปด้านบนครับ เมนูมื้อดึกเป็นสปาเกตตี้ และหัวหมูตุ๋นเผ็ด (จากการแปลผ่าน Google Translate) ที่ไม่รู้ว่าปกติอาหารแบบนี้คนจีนเขากินกับอะไร แต่เราเอามากินเป็นเหมือนเครื่องเคียงกันกินไม่อิ่มแทน และสารพัด นม ขนม ชา ที่รู้สึกว่าอาหารที่นี่ก็โอเคใช้ได้เลยครับ มารอติดตามกันต่อไปครับว่าการเดินทางเข้าเมืองในบล็อกตอนต่อไปนี้ของเฟรมจะเป็นยังไงบ้าง เป็นว่าจบบันทึกสำหรับการเดินทางในวันแรกด้วยครับ 🙂

[รีวิว] ขั้นตอนขอวีซ่าเที่ยวจีนจากเกาหลีใต้

ขอบันทึกเอาไว้สำหรับใครที่วางแผนเดินทางจะไปท่องเที่ยวประเทศจีนจากประเทศเกาหลีใต้ครับ ทั้งนี้การขอวีซ่าจีนจากที่เกาหลี น่าจะมีเงื่อนไขว่าผู้สมัครจะต้องถือวีซ่าของเกาหลี (วีซ่านักเรียน, วีซ่าทำงาน, วีซ่าอยู่อาศัย ฯลฯ) จึงจะสามารถสมัครวีซ่าเดินทางไปจีนจากเกาหลีใต้ได้ครับ
Namsan Square China Visa Service Center
พอเข้ามาในอาคาร ด้านขวามือจะเห็นประตูที่มีป้ายมาตั้งไว้ว่า ศูนย์บริการวีซ่าจีนจะอยู่ชั้น 3 ให้ขึ้นบันไดครับ

ขั้นตอนการขอวีซ่าเดินทางท่องเที่ยวจีนจากเกาหลี

  1. ทำรายการออนไลน์, จองคิวออนไลน์ล่วงหน้า
    1. กรอกใบสมัครออนไลน์ ผ่านทางเว็บไซต์ https://visaforchina.cn/SEL4_EN/ (ลิงก์ของศูนย์ให้บริการที่โซล)China visa application service center thai
    2. เข้าไปที่เมนู New Application Form และกรอกข้อมูลสำคัญของผู้เดินทางให้ครบถ้วน พยายามตรวจสอบรายละเอียดให้เรียบร้อยที่สุดเพื่อป้องกันการถูกปฏิเสธ​หรือมีปัญหาที่คนเข้าเมืองรายละเอียดที่เฟรมจะให้ดูเป็นพิเศษจะเป็นในหัวข้อ กรอกออนไลน์หัวข้อ Visa Details เพราะเป็นส่วนที่ใส่ไปไม่ถูกต้องและตอนไปถึงที่ศูนย์วีซ่ามีแก้ไขส่วนนี้ครับ สำหรับคนที่เดินทางครั้งเดียว เนื่องจากระยะเวลาสำหรับให้เดินทางได้ไม่เกิน 3 เดือน และอยู่ได้ไม่เกิน 30 วัน (แม้ว่าในกำหนดการจะเดินทางไม่กี่วันก็ตาม) 2.2A Validity of visa ให้ใส่ 3 2.2B Maximum duration of longest stay ให้ใส่ 30
  2. ยื่นเอกสารที่ศูนย์วีซ่า Chinese Visa Application Service Center   – ที่ตั้งศูนย์วีซ่าจีนในเกาหลีในอาคาร 남산스퀘어빌딩 (Namsan Square Buidling) ชั้น 3 ใกล้กับสถานีรถไฟ 충무로 (Chungmuro) สาย 3,4 ประตูทางออก 5Namsan Square Building, Seoul, China Visa Center map – แนะนำให้มาถึงก่อนเวลาจองประมาณ 1 ชม. ถ้าจะใช้บริการแถวปกติ คิวที่อาจจะยาวไปถึงบันได้ชั้น 5 (ศูนย์วีซ่าอยู่ชั้น 3)   – อ้างอิงจากคิวตอน 08:23 นาที มีคิวก่อนหน้าประมาณ 10-15 คน, แต่ใกล้เวลาประมาณ 20-30 นาที คนเริ่มมาเยอะขึ้นมาก เริ่มเปิดให้เข้าตอน 08:45 น.   – พนักงานจัดคิวจะตรวจใบจองคิวออนไลน์และบอกให้ไปแถวที่ต้องการรับบริการ (VIP หรือ ปกติ) – กรณีที่ต้องการใช้ Fast track (VIP) สามารถแจ้งความต้องการตอนที่เขาเปิดแถวให้เข้าไปได้เลยครับ ไม่จำเป็นต้องจองออนไลน์ ทันทีที่ถึงเวลาทำการจะมีการเปิดประตูให้ทะยอยเข้าไปทีละคน และสอบถามความต้องการว่าเราต้องการใช้บริการแถวปกติ หรือ VIPขั้นตอนขอวีซ่าประเทศจีน ในเกาหลีใต้  
  3. ตรวจเอกสาร (5 นาที)   – บางส่วนไปแถวทั่วไป, แถว VIP ตอนนั้นมีคิวก่อนหน้า 5 คน       (แถว VIP มีคนตรวจเอกสารช่วยกัน 3 คน ใช้เวลารอประมาณ 5 นาที จัดการเอกสารเสร็จ 08:57 น.)   – พนักงานคัดกรองเอกสาร / กรอกใบลงทะเบียนใช้บริการ VIP     – ออกบัตรคิว
  4. รอคิวเคาน์เตอร์ (5 นาที)   – มีคิวรอก่อนหน้า 6 คิวใช้เวลา ​< 5 นาที (เป็นกลุ่มแรกๆ ที่เรียก) 5. พนักงานเคาน์เตอร์ตรวจและกรอกข้อมูล (5-10 นาที)   – ใช้เวลาประมาณ 5 นาที
    – ตรวจใบสมัครที่กรอกออนไลน์, ใบจองโรงแรม (ชื่อจะต้องตรงกับหนังสือเดินทาง), ใบจองตั๋วเครื่องบิน, แผนการเดินทาง, หนังสือเดินทาง, 외국인등록증, รูปถ่าย 1 ใบ    – ชำระค่าธรรมเนียมด้วยบัตร หรือโอนเงินได้ – แผนการเดินทางเราจะต้องเขียน วันที่ และชื่อเมือง ที่ต้องการเดินทางไปโดยคร่าวๆ ครับ แนะนำให้ทุกอย่างเขียนเป็นหน้าๆ (ไม่พิมพ์หน้า-หลัง เพราะจะโดนให้ไปแก้ไขใหม่) * ค่าธรรมเนียม 55,000 วอน (วีซ่าท่องเที่ยว, Single, ออกแบบปกติ) * ท่องเที่ยวอยู่ได้ไม่เกิน 30 วัน และเดินทางภายในไม่เกิน 3 เดือนหลังจากออกวีซ่า * รูปถ่ายใบจริงต้องเตรียมไปด้วย 1 ใบ และพิมพ์ไม่ได้ (ต้องกระดาษ Photo) * วีซ่าท่องเที่ยวระยะสั้นไม่ต้องสแกนลายนิ้วมือและถ่ายรูป * เวลา เป็นเวลาที่เฟรมใช้บริการจริงในช่วงเวลาที่เดินทางไปและเลือกใช้บริการแบบ VIP จึงอาจทำให้มีความแตกต่างในการเข้าไปขอรับบริการจริงครับ China visa pick up detail example * เลือกรับหนังสือเดินทางด้วยตัวเองได้ 3 วันทำการ (ไม่นับวันยื่น)   รับในวันที่ระบุเลยสามารถรับได้ตั้งแต่ 13:00 – 14:30 , เลือกรับวันอื่นมาได้ตั้งแต่ 09:00 – 14:30 น.

เป็นนักแปล งั้นก็ต้องเก่งภาษาล่ะสิ? ข้อคิดจากนักแปลบทภาพยนตร์ชาวเกาหลี

มีบทสัมภาษณ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “นักแปลบทภาพยนตร์” ที่คุณยูแจซอก (유재석) และคุณโชเซโฮ (조세호) ได้สัมภาษณ์คุณ “ฮวังซอกฮี (황석희)” นักแปลบทภาพยนตร์ที่ได้รับการยอมรับจากผู้ติดตามชาวเกาหลีมากคนหนึ่ง และโด่งดังจากการแปลภาพยนตร์เรื่อง Deadpool ถึงขนาดคอมเมนต์ชาวเน็ตเกาหลีบอกว่า “ต้องมีรางวัลให้คนแปลซับด้วยแล้วหรือเปล่า” ยอมรับว่ามีหลายมุมมองที่ไม่เคยได้คิดตามมาก่อน สำหรับคนที่ทำอาชีพเป็นนักแปลครับ โดยคุณซอกฮีกล่าวว่า “ไม่ได้แปลว่าเห็นบทบรรยายแล้วจะสามารถแปลได้ทันที ถ้าหากแบ่งเวลาการแปลบทออกเป็น 10 ส่วน, 2 ส่วนคือส่วนที่คุณเข้าใจ และคุณจะต้องใช้เวลาอีก 8 ส่วนไปกับการแต่งประโยค” “หลายคนอาจจะเข้าใจผิดว่า นักแปลจะต้องเป็นคนที่เก่งภาษาอังกฤษมากๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วการแปลเป็นคนละส่วนกับการตีความ เมื่อตีความเสร็จแล้วส่วนถัดไปจึงจะเป็นการแปล”
นักแปล ภาษาเกาหลี นักแปลบท
ภาพแคปเจอร์จากวิดีโอ : https://youtu.be/PPcW4A7z2tM
หลายเรื่องที่ตัวเขาเองต้องทำการบ้านไปล่วงหน้า โดยเฉพาะเรื่องที่มีฐานแฟนคลับ (แฟนด้อม) เยอะๆ หรือตัวละครที่ได้รับความนิยมเป็นพิเศษ หรือมีโครงสร้างเรื่องเป็นจักรวาลใหญ่ๆ ก็ต้องไปทำการบ้านว่าในชุมชนนั้นๆ มีวิธีการบริโภคคอนเทนต์อย่างไร ต้องทำการบ้านเยอะขึ้นผ่านการอ่านหนังสือ หรือแม้แต่กระทั่งศึกษาว่าผู้กำกับหนังเรื่องนั้นมีรสนิยมอย่างไร เพื่อสามารถปรับอารมณ์และความรู้สึกของการนำเสนอได้ตรงกับความตั้งใจได้มากที่สุด คุณฮวังซอกฮี เข้ามาสู่วงการการแปลตั้งแต่สมัยเรียนเรียนอยู่ม.ปลาย โดยเริ่มจากแปลสารคดีโดยรวมแล้วก็หลักๆ 5-6 ร้อยเรื่อง สู่การแปลภาพยนตร์ในโรง ความฝันของเขาคือการได้แปลภาพยนตร์ที่มีโครงสร้างของเรื่อง อย่างจักรวาลใหญ่ๆ และสิ่งที่เขาทำสำเร็จแล้วก็คือการได้ทำงานอยู่ในวงการนี้มากว่า 10 ปีกับผลงานแปลมากกว่า 500 เรื่อง

คำที่แปลยากสำหรับนักแปล?

คำที่อยากสำหรับคุณซอกฮีคือ คำง่ายๆ ทั้งหลายนี่แหละ เช่น Hey, Hi, OMG แม้ว่าจะเป็นคำทักทาย ที่ตัวละครจะพูดซ้ำๆ ทั้งเรื่อง แต่ในบริบทภาษาเกาหลีการจะทักทายด้วยคำเดิมๆ ก็จะไม่เข้าจึงต้องหาคำที่เหมาะสมในแต่ละสถานการณ์

เหตุการณ์แปลผิด?

คุณซอกฮียอมรับว่ามี สิ่งสำคัญคือต้องยอมรับผิดให้ได้ และไม่ทำให้เกิดข้อผิดพลาดขึ้นอีกครั้ง

ฟีดแบคเกี่ยวกับการแปลที่ไม่ชอบที่สุด?

”ทำไมแปลลวกจัง/ แปลส่งๆ จัง” – คุณซอกฮีบอกว่า ถ้าจะติงในส่วนของคุณภาพการแปลนั้นพอรับได้ แต่การตำหนิในส่วนของความพยายามเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ค่อยได้เท่าไหร่ ตัวเขาเองเคยพยายามรับข้อเสนอแนะการแปลของตัวเองผ่านทางอีเมล น้อมรับข้อเสนอต่างๆ แต่ก็พบว่าไม่ได้ทำให้เขารู้สึกดีขึ้น จนท้ายสุดต้องปิดไปเพื่อรักษาสุขภาพของตัวเอง เป็นหนึ่งในเรื่องราวของคนที่มีความสามารถในการใช้ภาษามาฝากกันครับ มีข้อคิดรวมถึงทัศนคติดีๆ ในการทำงานด้านสายการใช้ภาษา ส่วนตัวสิ่งที่รู้สึกเห็นด้วยคงเป็นเรื่องที่บอกว่า “การแปล” เป็นขั้นตอนหลังจากการตีความ และทำความเข้าใจ ดังนั้นความสามารถและความพยายามในการทำความเข้าใจเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่นักแปลต้องมีเลยล่ะครับ ใครที่สนใจสามารถไปติดตามบทสัมภาษณ์ในรายการ 유 퀴즈 온 더 블럭 (YouTube : tvN D ENT) (ภาษาเกาหลี) เต็มๆ ได้จากใน YouTube ได้เลย

[แนะนำ] เว็บแก้ไขไฟล์ HWP (Hancom) เวิร์ดเกาหลี ทั้งฟรีและดี!

สิ่งที่คนที่อาศัยอยู่ในเกาหลีจะเข้าใจเป็นอย่างดีเลยก็คือ โปรแกรม Word Processing ที่บ้านเขาใช้ แต่ก่อนนั้นจะไม่ใช่ Microsoft Word อย่างที่เรามักจะใช้กัน แต่เกาหลีดันมีโปรแกรมที่เรียกว่า Hangul (한글) หนึ่งในชุดโปรแกรมของ Hancom Office ซึ่งเทียบเท่ากับ Microsoft Office ที่นิยมใช้กันในหน่วยงาน ราชการ โรงเรียนเกาหลีที่มีมาตั้งแต่ช้านาน และนามสกุลไฟล์ .HWP เป็นอีกหนึ่งสกุลไฟล์ที่สร้างความปวดหัวให้กับนักเรียนสมัยนี้ที่ไม่ได้ติดตั้งโปรแกรมนี้กันทุกเครื่อง

และเชื่อหรือไม่ว่า แม้กาลเวลาผ่านจะไปก็ใช่ว่าประเทศเกาหลีจะละเลิกการใช้นามสกุลไฟล์นี้ แต่ยังพบชนิดเรียกว่า “ทั่วไป” ทั้งนักเรียน และวัยทำงาน จะดาวน์โหลดฟอร์มเอกสารราชการมาแก้ไข เมื่อเจอไฟล์ HWP ทีไร ก็อาจจะต้องไป PC방 (ร้านคอมฯ) ห้องสมุด เพื่อแก้ไขเอกสาร หรือแย่ที่สุดก็อาจจะต้องดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์มาใช้

วันนี้บล็อกเฟรมคุง ขอแนะนำเว็บไซต์ที่สามารถอ่านไฟล์ HWP โดยสามารถแก้ไข และสร้างไฟล์ได้จากเว็บเบราเซอร์ ที่ให้บริการฟรีโดยผู้พัฒนาโปรแกรมอย่างถูกต้อง ปลอดภัย และสะดวก เพราะสามารถแก้ไขได้ทุกที่ที่มีอินเทอร์เน็ตครับ (อ่อ บน Windows, Mac ใช้ได้หมดเลย)

วิธีการใช้งาน

  1. เข้าไปสมัครสมาชิกที่เว็บไซต์ https://space.malangmalang.com/ กดเลือก 무료로 시작하기 (ภาษาเกาหลี) หรือ Start for Free

    แก้ไขไฟล์​ HWP
  2. สามารถเลือกสมัครโดยการเชื่อมต่อกับบัญชี เช่น Google หรือ NAVER หรือสร้างโดยใช้อีเมลก็ได้เช่นกัน กรณีนี้ผมจะลองสร้างบัญชีใหม่ขึ้นมา
  3. จากนั้นก็จะได้รับจดหมายส่งไปยืนยันบัญชีทางอีเมล กด 인증하고 시작하기 (ยืนยันและเริ่มใช้งาน)

  4. เมื่อล็อกอินเข้ามาแล้ว ก็จะเห็นหน้าแรก ในหน้านี้เหมือนเป็นหน้า Home นอกเหนือจากเราจะสามารถแก้ไขไฟล์ HWP ที่เปรียบเสมือน Word ของเกาหลีแล้ว เรายังสามารถแก้ไขไฟล์ Spreadsheet (Excel) ผ่านโปรแกรม 한셀 หรือ Presentation (PowerPoint) ผ่านโปรแกรม 한쇼 ได้อีกเช่นกัน กรณีที่เราต้องการแก้ไข หรือ สร้างไฟล์ HWP ให้ไปที่เมนู 한글 (เมนูแรก)

  5. จากนั้นแตะที่ปุ่มเมนู ขีดสามขีด ด้านซ้าย จะมีปุ่มให้เลือก [+ 새로 만들기] สร้างไฟล์เอกสารใหม่ หรือ [+ 업로드] อัปโหลดเอกสาร

  6. กรณีที่เรามีเอกสารที่ต้องการแก้ไข ก็สามารถอัปโหลดเอกสารขึ้นไปเพื่อแก้ไขได้ทันที ยังสามารถเลือก อัปโหลดทีละไฟล์ (파일 업로드) หรืออัปโหลดทั้งโฟลเดอร์ (폴더 업로드) ก็ได้เช่นกัน

  7. เอาตัวอย่างแบบฟอร์มที่เวลาใครไปตม.จะต้องกรอก มาเป็นตัวอย่างให้ดูเลยแล้วกัน 555 เมื่ออัปโหลดเสร็จ ก็สามารถดูเอกสารคร่าวๆ ได้ดังนี้

  8. หากต้องการแก้ไข ให้คลิกที่คำว่า 편집 (แก้ไข) จากนั้น จะมีหัวข้อให้เลือกแก้ไขเอกสารผ่านเว็บ (한컴오피스 Web으로 편집)

  9. เมื่อคลิกเข้ามาแล้ว ก็จะมีหน้าต่างเตือนบอกว่า การแก้ไขเอกสารอาจจะไม่สมบูรณ์แบบเทียบเท่ากับการใช้โปรแกรมจริง (แต่เอาจริงๆ ก็สมบูรณ์แบบของมันในระดับหนึ่งแล้วล่ะ อย่าคิดมาก) แล้วกดปุ่ม 한컴오피스 Web으로 열기 (เปิดเอกสาร Hancom Office ผ่านเว็บ) เพื่อเข้าไปแก้ไขได้เลย
  10. เราสามารถใช้ฟังก์ชั่นที่มีอยู่ในการกรอกเอกสาร ใส่ตัวหนา ตัวเอียง เว้นช่องไฟ อะไรได้สะดวกเหมือนปกติเลย เลือกดาวน์โหลดไฟล์กลับมาเป็น HWP เพื่อส่งต่อให้คนอื่นก็ได้หรือจะแปลงไฟล์เป็น PDF ให้สำหรับคนอื่นก็ได้เช่นกัน

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องแก้ไข หรือต้องสร้างเอกสาร HWP เชื่อว่าใครที่เรียนที่เกาหลีน่าจะประสบชะตากรรมเดียวกัน ยังไงก็ลองไปใช้กันดูนะครับ

รีวิวขอเอกสาร Criminal record เพื่อยื่นวีซ่าที่เกาหลี (กรณีอยู่ต่างแดน)

สืบเนื่องว่าปีนี้วางแผนจะยื่นขอวีซ่า F-5 หรือวีซ่าถาวรที่เกาหลีครับ หนึ่งในเอกสารที่จะต้องจัดเตรียมก็จะมี “ใบรับรองความประพฤติ” หรือ “해외 범죄경력증명서” ที่ออกจากประเทศภูมิลำเนา (บ้านเกิด) ของตัวเอง และต้องได้รับการรับรองเอกสารจากสถานทูตด้วย ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ฟังดูแล้วไม่น่าจะทำได้ง่ายๆ ในช่วงโควิดเลย วันนี้เลยขอรีวิวขั้นตอนที่ผมเลือกใช้มาเป็นทางเลือกสำหรับคนที่ต้องใช้เอกสารนี้ครับ เอกสารนี้จริง ๆ ไม่ใช่แค่วีซ่า F-5 อย่างเดียวที่จำเป็นต้องใช้ เพราะตั้งแต่ต้นปี 2564 (2021) เป็นต้นมา ทราบมาว่าในการยื่นขอหรือต่อวีซ่า F-2 (long-term residency visa – 거주비자) ก็จำเป็นต้องใช้เอกสารชุดนี้ด้วยครับ สำหรับบางประเทศเขาสามารถขอออนไลน์ได้ แต่ของประเทศไทยนั้นจะมีไม่กี่วิธีที่สามารถดำเนินการได้
เอกสารรับรองความประพฤติ
ตัวอย่างหนังสือรับรองความประพฤติ Background Check (Criminal Records) Certificate ที่ออกโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประเทศไทย

คำถาม : สามารถขอใบรับรองความประพฤติจากสถานทูตไทยในเกาหลีได้ไหม?

คำตอบ : สถานทูตไทยในเกาหลีไม่มีส่วนรับผิดชอบเกี่ยวกับการออกเอกสารชุดนี้ครับ

คำถาม : สมมติว่าได้เอกสารมาจากที่ไทยแล้ว ให้สถานทูตไทยในเกาหลีรับรองได้ไหม?

คำตอบ : ไม่ได้ครับ ตามหลักแล้วการนำเอกสารจากต่างประเทศมาใช้ในประเทศเกาหลี จะต้องผ่านการรับรองจากสถานทูตเกาหลีประจำประเทศนั้น ๆ ก่อน และเอกสารที่จะนำมารับรองที่สถานทูตเกาหลีฯ จะต้องได้รับการรับรองเอกสาร จากกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ แปลว่า เอกสารที่นำมาใช้ที่ประเทศเกาหลีได้นั้นจะต้องได้รับการประทับตราจากกระทรวงการต่างประเทศไทย และสถานทูตเกาหลีประจำประเทศไทย

สรุปวิธีการขอหนังสือรับรองความประพฤติจากที่เกาหลี

จากที่ศึกษาความเป็นไปได้มีอยู่ทั้งหมด 2 รูปแบบ
  1. ถูกสุด แต่ยุ่งยากหน่อย
เงื่อนไข : 1. ไม่รีบ (เพราะขั้นตอนการขอเอกสารค่อนข้างนาน) 2. มีคนดำเนินการเอกสารอยู่ในกรุงเทพฯ เวลาที่คาดว่าจะต้องใช้ : 1 เดือนขึ้นไป สำหรับคนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ​ สามารถให้ญาติ, เพื่อน ไปดำเนินการเอกสารแทนได้ครับ เราจะต้องมอบฉันทะและส่งเอกสารที่ใช้ในการยื่นทั้งหมดกลับไปที่ไทย เพื่อไปดำเนินการขอเอกสารหนังสือรับรองความประพฤติจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สามารถติดตามรายละเอียดได้จากเว็บไซต์ : กองบัญชาการตำรวจสันติบาล จะมีรายละเอียดของเอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นทั้งหมด ค่าธรรมเนียมต่างๆ และมีรีวิวตาม Pantip ที่บอกขั้นตอนโดยละเอียดหน่อย เอกสารจะใช้ระยะเวลาประมาณไม่เกิน 30 วัน (กรณีที่ไม่มีคดีความใดๆ) ซึ่งเข้าใจว่าเขาจะนัดวันมารับ พอเห็นแบบนี้แล้ว ใครที่ภูมิลำเนาไม่ได้อยู่ในกรุงเทพ ก็จะเป็นอุปสรรคอยู่พอสมควร บวกกับเอกสารบางอย่างที่ต้องเตรียมให้คนดำเนินการแทน เราจะต้องใช้เวลาเตรียมพอสมควร ยกตัวอย่างเช่น เอกสารลายนิ้วมือ ในเกาหลีจะต้องไปที่สำนักงานตำรวจใหญ่ เช่นที่ 강남경찰서 จะมีจุดทำอยู่ที่ชั้น 1 อาคาร 민원 (สำนักงานเล็กๆ ไม่รับทำ), เอกสารยืนยันการมีที่อยู่ เมื่อขอจาก 주민센터 ก็จำเป็นต้องไปยื่นที่ กระทรวงต่างประเทศเกาหลี (외교부 영사확인) และต่อด้วยสถานทูตไทยในเกาหลี ก่อนส่งกลับมาที่ไทย จึงยอมรับว่าขั้นตอนค่อนข้างเยอะ
พิมพ์ลายนิ้วมือ สถานีตำรวจ
ที่สถานีตำรวจจะอำนวยความสะดวกในการพิมพ์ลายนิ้วมือให้ โดยเราต้องเอาฟอร์มไป (โหลดได้จากเว็บไซต์กองบัญชาการตำรวจสันติบาล) เจ้าหน้าที่เขาจะงงๆ หน่อย เพราะฟอร์มแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน
หากมีเอกสารอะไรที่ออกจากเกาหลี และนำไปยื่นที่ไทย จำเป็นต้องได้รับการรับรองเอกสารจากกระทรวงการต่างประเทศ (เกาหลี) และรับรองต่อโดยสถานทูตไทยในเกาหลี
อย่าลืมว่าเมื่อได้เอกสารชุดนี้แล้วจะต้องนำไปรับรองเอกสารที่กระทรวงการต่างประเทศและสถานทูตเกาหลีประจำประเทศไทยอีก ปล. แม้ว่าเราจะยื่นเรื่องขอเอกสารรับรองความประพฤติโดยตรงจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จากต่างประเทศได้ แต่อย่าลืมว่าเมื่อเอกสารถูกส่งกลับมาต่างประเทศ เราก็ต้องส่งกลับไปประเทศไทย เพื่อรับรองเอกสารอีก จึงเป็นวิธีที่ไม่แนะนำเท่าไหร่ 2. แพงสุด แต่ง่ายสุด เงื่อนไข : 1.รีบ 2. ต้องการใช้เงินแก้ปัญหา เวลาที่คาดว่าต้องใช้ : 15 วัน ปัญหาแก้ได้ด้วยเงินจริง ๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่าแลกกับเงื่อนไขที่เราไม่สามารถดำเนินทางไปดำเนินเอกสารได้อย่างสะดวกในช่วงนี้มันก็อาจจะคุ้มค่ากว่า สามารถเลือกหาเอเจนซี่ที่รับดำเนินเอกสารแทนได้เลยตั้งแต่การขอหนังสือรับรองความประพฤติ ไปจนถึงยื่นสถานทูตเกาหลี เบ็ดเสร็จอยู่ที่หลักหมื่นบาท (เท่าที่สำรวจราคามา) แต่เนื่องจากขั้นตอนที่ยากสุดที่ให้คนอื่นดำเนินการให้ เป็นขั้นตอนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เดียว รับรองเอกสารสามารถดำเนินการได้ภายในหนึ่งวัน เลยมองหาเอเจนซี่ให้ดูแลเฉพาะเอกสารชุดนี้ (เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย) สุดท้ายผมเลือกวิธีที่สองครับ เพราะว่ามีเพื่อนอยู่ที่กรุงเทพฯ ก็จริง แต่การดำเนินการเอกสารที่ใช้เวลานาน และเลือกต้องทำรายการเฉพาะวันทำการเท่านั้น ถือว่าไม่ได้หาได้ง่าย ๆ เลย

ขั้นตอนยื่นเอกสาร

ขอไม่บอกว่าดำเนินการกับที่ไหนนะครับ สามารถหาร้านรับเดินเอกสารชุดนี้ได้จากอินเตอร์เน็ต ราคาอยู่ที่ชุดละประมาณ 3,500 ~ 4,500 บาท ลองสอบถามเงื่อนไข ระยะเวลาที่สามารถรับเอกสารได้ ค่าจัดส่งในประเทศ ฯลฯ จากนั้นเราก็จะต้องสแกนสำเนาเอกสารที่ต้องใช้ เช่น สำเนาหนังสือเดินทาง, สำเนาบัตรประชาชน, สำเนาทะเบียนบ้าน, ผู้ชายก็จะมีเอกสารเกี่ยวกับทหาร (หนังสือ สด.8,9, 43 ใบรด. หรือหนังสือผ่อนผันทั้งหลาย), ใบจดทะเบียนสมรส​ (ถ้ามี), ใบการเปลี่ยนชื่อ (ถ้ามี) เซ็นรับรองสำเนาถูกต้องพร้อมรูปถ่าย ส่งกลับไปให้เอเจนซี่ เพื่อให้ดำเนินการ จากนั้นให้เอเจนซี่รับหนังสือ และส่งหนังสือไปให้เพื่อน หรือผู้ดำเนินการรับรองเอกสารแทนเราที่ที่อยู่ในไทย ส่วนผมจะต้องทำหน้าที่ส่งเอกสารสำเนาต่างๆ ที่ต้องใช้ในการยื่นเพื่อขอรับรองเอกสารที่ไทย, หนังสือมอบฉันทะ ไปให้เพื่อนที่อยู่ที่ไทย โดยรอบนี้ด้วยความรีบของผม ผมเลือกส่งผ่าน DHL เอกสารจะไปส่งถึงมือเพื่อนวันถัดไปเลย (เร็วมาก!!!) โดยมีค่าส่งเอกสารอยู่ที่ประมาณ 40,000 วอน (จริงๆ EMS ไปรษณีย์เกาหลีก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือก ถ้าไม่ต้องการรีบมาก ราคาน่าจะถูกลงมาครึ่งนึง แต่ไม่สามารถเลือกวันรับเอกสารได้) เอกสารที่ทำผ่านเอเจนซี่ในเคสผม ค่อนข้างใช้เวลาเร็ว ไม่แน่ใจว่ามีบริการแบบด่วนหรือว่าช่วงนี้คนน้อยก็ไม่แน่ใจ เพราะใช้เวลาประมาณ​ 7 วันทำการ ทางเอเจนซี่สแกนเอกสารมาให้ดูอย่างดี เมื่อเอกสารถึงมือเพื่อน ก็จะเหลืออีกสองขั้นตอนก็คือ รับรองเอกสารที่กระทรวงการต่างประเทศ และสถานทูตเกาหลีประจำประเทศไทยครับ (เนื่องจากเอกสารเป็นภาษาอังกฤษ จึงไม่ต้องนำไปแปลเอกสารต่อแต่อย่างใด)

การรับรองเอกสารที่กระทรวงการต่างประเทศ

บริการส่วนของรับรองเอกสาร จะดำเนินการที่ ‘สำนักงานสัญชาติและนิติกรณ์’ ครับ ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงการต่างประเทศอีกที เขามีสำนักงานใหญ่ที่แจ้งวัฒนะ และสาขาย่อยอยู่ที่ใต้ดิน (MRT) คลองเตย การรับรองเอกสารสามารถดำเนินการที่กรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด (มีเฉพาะบางจังหวัด) หรือผ่านบริการรับรองเอกสารผ่านไปรษณีย์ ได้ สามารถตรวจสอบสถานที่รับรองเอกสารทั้งหมดได้ที่เว็บไซต์ของ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ (* แต่ท้ายที่สุดรับรองเอกสารที่สถานทูตเกาหลี ก็ทำให้ต้องมาทำเรื่องที่กรุงเทพฯอยู่ดี) เนื่องจากเราต้องการจัดการเอกสาร ให้เสร็จภายใน 1 วัน เขาก็มีบริการรับรองเอกสารแบบด่วน โดยจะต้องนำเอกสารที่ต้องการให้รับรอง มายื่นที่เคาน์เตอร์ภายในช่วงเวลา 08.30 – 10.30 น. (เท่านั้น) และสามารถรับเอกสารได้ตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป โดยมีค่าดำเนินการเอกสารแบบด่วน 400 บาท (ถ้าไม่ด่วน 200 บาท และจะได้รับเอกสาร 2 วันถัดไป) เอกสารที่ต้องใช้ที่นี่ : 
  1. หนังสือมอบอำนาจ (ต้องมีพยานเซ็นชื่อ 2 คน, หากเอกสารเขียนที่ต่างประเทศ จะต้องให้สถานทูตไทยในประเทศนั้นๆ รับรอง)
  2. สำเนาบัตรประชาชนของเรา (+สำเนาถูกต้อง) 1 ชุด
  3. สำเนาบัตรประชาชนของผู้ดำเนินการแทน (+สำเนาถูกต้อง) 1 ชุด
  4. ติดอากรแสตมป์ 10 บาท (หาซื้อได้ตามร้านขายเครื่องเขียน หรือไม่ก็ไปหาซื้อแถวนั้นจะมีขายในราคา 20 บาท)
จากประสบการณ์ที่(ฝากเพื่อน)ไป ก็พบว่าไปยื่นเอกสารในช่วงเวลารับเรื่อง ได้เอกสารประมาณ​ 12.00 น. พร้อมนำไปดำเนินการต่อ

การรับรองเอกสารที่สถานทูตเกาหลีประจำประเทศไทย

สถานทูตเกาหลีประจำประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ 23 ถนนเทียมร่วมมิตร รัชดาภิเษก ห้วยขวาง ไปยังไง… ไม่รู้ เปิด Google Maps ไปแล้วกัน ที่สำคัญก่อนไปสถานทูตประเทศไหนก็ตาม ควรแต่งกายสุภาพ เช็คปฏิทินวันหยุดของประเทศนั้น ๆ และไปให้ทันเวลา เวลาทำการของสถานทูตเกาหลีฯ จะอยู่ที่ 8:30~11:30 น. และ 13:30~15:30 น. เมื่อเดินทางไปถึงก็บัตรคิวหมายเลข 3 รับรองเอกสาร  เอกสารที่ต้องใช้ยื่นที่นี่ : 
  1. ใบสมัครยื่นขอรับรองเอกสาร (สามารถไปกรอกที่สถานทูตก็ได้) แต่ถ้าจะใจดีกรอกให้คนดำเนินเอกสาร ก็สามารถดาวน์โหลดได้จาก เว็บไซต์ของสถานทูต (ไฟล์แนบ 공증촉탁서) / ลิงก์สำรอง 2 แล้วกรอกข้อมูลไปให้เรียบร้อยก่อน
  2. ใบมอบฉันทะ (ภาษาไทย/ภาษาอังกฤษ, เตรียมไปเผื่อทั้งสองชุดเลย) 3. สำเนาบัตรประชาชนของเรา (+สำเนาถูกต้อง) 1 ชุด
  3. สำเนาบัตรประชาชนของผู้ดำเนินการแทน (+สำเนาถูกต้อง) 1 ชุด
  4. สำเนาหนังสือเดินทาง (+สำเนาถูกต้อง) 1 ชุด
  5. สำเนาเอกสารที่จะนำมารับรอง (ก่อนมาสถานทูตก็เอาหนังสือรับรองความประพฤติที่ได้ตราประทับจาก MRT คลองเตยมาถ่ายเอกสารก่อน แต่ที่สถานทูตเกาหลีฯ บริการถ่ายเอกสารไว้เหมือนกัน)
เท่าที่ทราบจากผู้ดำเนินการแทน ก็ใช้เวลาไม่ค่อยเยอะสำหรับที่นี่ ค่าดำเนินการเอกสาร 128 บาท และใช้เวลาประมาณ 20 นาทีเท่านั้น จะพบว่าทั้งหมดนี้สิ่งที่ใช้เวลานานที่สุดดูจะเป็นตัวเอกสารที่เราต้องการนั่นก็คือ “หนังสือรับรองความประพฤติ” แต่ในส่วนของการรับรองเอกสารใช้เวลาไม่นานมากครับ จากนั้นก็แค่ให้เพื่อนของเราส่งเอกสารกลับมาให้เราที่ต่างประเทศเป็นอันจบพิธี จะ EMS, DHL, FedEx อะไรก็ว่าไป…

สรุปค่าเสียหาย

  1. หนังสือรับรองความประพฤติ (3,500 ~ 4,500 บาท ผ่านเอเจนซี่) 2. รับรองหนังสือที่ สำนักงานสัญชาติและนิติกรณ์ MRT คลองเตย (400 บาท + อากรแสตมป์ 10 บาท) 3. รับรองหนังสือที่ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจําประเทศไทย (128 บาท)
  2. ค่าส่งเอกสารกลับไทย (DHL 40,000 วอน, ~ 1,100 บาท/เที่ยว)
  3. ค่าเหนื่อย-ค่าน้ำมันรถเพื่อน (แล้วแต่ตกลง)
หวังว่าบทความจากบล็อกประสบการณ์การขอเอกสารรับรองความประพฤติ (Criminal Record) นี้จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกท่านที่ใช้ในการยื่นขอวีซ่าที่เกาหลีใต้นะครับ

รายละเอียดและใบสมัคร ทุนรัฐบาลเกาหลีป.ตรี ประจำปี 2021 (GKS/KGSP Program)

กำหนดการรับสมัครของ “ทุนรัฐบาลเกาหลี ระดับชั้นปริญญาตรี (Undergraduate)” หรือ Global Korea Scholarship Program for Undergraduate (GKS) (ชื่อเดิม KGSP) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเลือกสมัครผ่านทางช่องทางใดช่องทางหนึ่งต่อไปนี้

รูปแบบการรับสมัคร

  • รูปแบบที่ 1 ผ่านสถานทูตเกาหลี (Korean Embassies)
    รับนักเรียนไทยทั้งหมด 3 คน สามารถเลือกเข้าศึกษาในคณะจากมหาวิทยาลัย 38 แห่งทั่วประเทศเกาหลี (สามารถอ่านรายชื่อมหาวิทยาลัยและคณะที่สามารถสมัครได้จากเว็บไซต์ตามรายละเอียดด้านล่าง)
  • รูปแบบที่ 2 ผ่านมหาวิทยาลัยท้องถิ่น (Regional Universities)
    รับนักเรียนไทยทั้งหมด 2 คน โปรแกรมนี้จะเหมาะสำหรับนักเรียนที่สนใจศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ (เท่านั้น) ที่สนใจศึกษาในมหาวิทยาลัยท้องถิ่น (ต่างจังหวัด) หลักสูตร 4 ปี โดยมีมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมรับเลือกทั้งหมด 24 แห่ง ดังนี้
  • รูปแบบที่ 3 โปรแกรมสำหรับอนุปริญญา (Program for Associate Degree)
    รับนักเรียนไทยทั้งหมด 2 คน หลักสูตรอนุปริญญา (Associate Degree) หลักสูตร 3-4 ปี + เรียนภาษาเกาหลี 1 ปี สามารถเข้าศึกษาได้ในมหาวิทยาลัยดังต่อไปนี้

ดาวน์โหลดใบสมัครทุนรัฐบาลเกาหลี ประจำปี 2021 ระดับปริญญาตรี

เมื่อเข้าไปยังเว็บไซต์ StudyinKorea.go.kr แล้ว รายละเอียดของ ทุนรัฐบาลเกาหลี ปีการศึกษา 2021 จะอยู่ในส่วนของ Recent articles (หาข้อความ 2021 Global Korea Scholarship for Undergraduate Degrees รายละเอียดของแต่ละช่องทาง (สถานทูตฯ, มหาวิทยาลัยท้องถิ่น, โปรแกรมอนุปริญญา จะอยู่คนละลิงก์ สามารถเลือกคลิกอ่านรายละเอียดส่วนที่ต้องการสมัครได้)



และเมื่อคลิกเข้าไปดูรายละเอียด ในแต่ละประเภทจะมีเอกสารต่างๆ รายชื่อมหาวิทยาลัย/คณะ ที่สามารถเลือกเรียนได้ ได้จากไฟล์แนบด้านล่าง

ทุนครอบคลุมค่าใช้จ่ายดังต่อไปนี้

  • ค่าเครื่องบิน (เที่ยวบินประหยัด) ขาเข้า-ออกจากประเทศเกาหลี
  • ค่าครองชีพ 900,000 วอน/เดือน
  • ค่าตั้งถิ่นฐาน (จะได้รับเมื่อเดินทางถึงเกาหลี 1 ครั้ง) 200,000 วอน
  • ค่าใช้จ่ายในการเรียนภาษา 1 ปีเต็มที่สถานบันสอนภาษา
  • ค่าใช้จ่ายในการเรียนระดับปริญญาตรี
  • ประกันสุขภาพ (60,000 วอน/เดือน)
  • นักเรียนทุนจะได้รับทุนสนับสนุนเพิ่มเติมเดือนละ 100,000 วอน หากสอบวัดระดับภาษาเกาหลี (TOPIK) ผ่านตั้งแต่ระดับ 5 ขึ้นไป
  • ค่าใช้จ่ายเมื่อสำเร็จการศึกษา 100,000 วอน​ (จะได้รับเมื่อสำเร็จการศึกษาและเดินทางกลับประเทศ 1 ครั้ง)

คุณสมบัติของผู้สมัครทุน (ผ่านสถานทูตเกาหลี)

  1. มีสัญชาติไทย (พ่อหรือแม่ต้องไม่มีผู้ใดถือสัญชาติเกาหลี)
  2. อายุไม่เกิน 25 ปี (เกิดหลังวันที่ 1 มีนาคม 1996)
  3. สุขภาพดีทั้งร่ายกายและจิตใจ
  4. คาดว่าจะสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา ก่อนวันที่ 1 มีนาคม ปี 2021 (ผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีแล้ว ไม่สามารถสมัครได้)
  5. เกรดเฉลี่ย 2.64 ขึ้นไป
  6. ผู้สมัครจะต้องไม่เคยได้รับทุนจากเกาหลีในระดับปริญญาตรีอื่น, ไม่มีข้อจำกัดในการเดินทางต่างประเทศ

ผู้ที่เข้าข่ายการพิจารณาเป็นพิเศษ

  1. ผู้ที่มีความสามารถด้านภาษาเกาหลี มีคะแนน TOPIK ระดับ 3 ขึ้นไปจะได้รับคะแนนพิเศษเพิ่ม 10% จากคะแนนทั้งหมด
  2. บุตรหลานของทหารผ่านศึกในสงครามเกาหลีจะได้รับคะแนนพิเศษ 5% จากคะแนนทั้งหมด
  3. ผู้ที่มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษ (มีใบรับรองคะแนนความสามารถภาษา TOEFL, TOEIC, IELTS)
  4. ผู้ที่สมัครผ่านสถานทูตและเลือกศึกษาต่อคณะที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์
  5. ผู้สมัครในระดับโปรแกรมอนุปริญญาที่มีผลงานได้รับรางวัลจากการแข่งขันในประเทศหรือต่างประเทศในสาขาที่เกี่ยวข้อง
  6. ผู้สมัครที่ครอบครัวมีรายได้น้อย

การสมัครคัดเลือก จะต้องเลือกผ่านทางช่องทางใดทางหนึ่งเท่านั้น เช่น สมัครผ่านสถานทูตจะต้องยื่นเพียงที่เดียว ไม่สามารถสมัครโปรแกรมมหาวิทยาลัยท้องถิ่น (Regional Universities) หรือของโปรแกรมระดับอนุปริญญา (Program for Associate Degree) พร้อมกันได้

รายละเอียดอื่นๆสามารถติดตามได้จากเว็บไซต์ StudyinKorea.go.kr

กำหนดการรับสมัครทุนรัฐบาลเกาหลี ระดับปริญญาตรี ปีการศึกษา 2021 ในประเทศไทย

สำหรับผู้ที่สนใจและต้องการสมัคร ต้องเตรียมเอกสารให้เรียบร้อยและส่งทางไปรษณีย์ไทยแบบลงทะเบียนหรือแบบด่วน(EMS) เท่านั้น มาตามที่อยู่ที่แจ้งให้ทราบ โดยเอกสารต้องถึง ภายในวันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม 2563

สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจําประเทศไทย Embassy of the republic of Korea (GKS) 23 Thiam-Ruammit Road, Ratchadapisek, Huay-Kwang, Bangkok 10310

โดยรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกำหนดการการรับสมัครในประเทศไทย สามารถติดตามได้จากเพจ Study in Korea for Thais

ระยะเวลาการรับสมัคร

เนื่องจากการคัดเลือกนักเรียนในรอบแรก เป็นการคัดเลือกผ่านสถานทูตเกาหลี ประจำประเทศไทย โดยมีรายละเอียดและระยะเวลาการรับสมัครดังนี้

  • ส่งเอกสาร 29 กันยายน 2563 – 12 ตุลาคม 2563
  • ประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือกรอบเอกสาร 22 ตุลาคม 2563
  • สอบสัมภาษณ์ 28 ตุลาคม 2563 (ประกาศวันเวลาที่แน่นอนให้ทราบอีกครั้งภายหลัง)
  • ประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือกรอบสัมภาษณ์​ 30 ตุลาคม 2563

การประกาศผลจะประกาศผ่านทางช่องทางต่อไปนี้

ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกถึงรอบสุดท้ายจะมีกำหนดการเดินทางช่วงระหว่างวันที่ 23-24 กุมภาพันธ์ 2564 (ปฐมนิเทศนักเรียนทุนวันที่ 25-26 กุมภาพันธ์ 2564) * กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลง

แนวทางการเขียนใบสมัครทุนรัฐบาลเกาหลี

ผู้ที่สนใจสามารถติดตาม Live แนะแนวการกรอกใบสมัครทุนรัฐบาลเกาหลี ซึ่งผู้เขียน (อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลเกาหลี ปี 2012) ได้รวบรวมและเล่าประสบการณ์การสมัคร เทคนิคต่าง ๆ และพูดคุยกับนักเรียนที่ได้รับทุนปี 2019 ​ น้องเบ๊บ ดนุช (มหาวิทยาลัย Silla University) มาพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้วย

[รีวิว] รักษาสายตาด้วยเลนส์เสริม ICL ที่เกาหลี (รายละเอียด+ราคา)

สวัสดีครับ หายหน้าหายตาจากการเขียนบล็อกไปอย่างยาวนาน และแล้วก็มาถึงอีกหนึ่งเรื่องที่อยากจะบันทึกเอาไว้หน่อย กับประสบการณ์การผ่าตัดปรับสายตาด้วยการใส่เลนส์เสริม (ICL) ในเกาหลีครับ

*รีวิวนี้ไม่ได้รับการสนุนจากโรงพยาบาลแต่อย่างใดนะครับ ตามคอนเซ็ปต์ของตัวเองซื้อเองจ่ายเอง #내돈내산 เพื่อประกอบการตัดสินใจและเป็นข้อมูลสำหรับผู้ที่สนใจผ่าตัดใส่เลนส์เสริมครับ

ทำไมถึงต้องผ่าตัดใส่เลนส์เสริม?

ผมเป็นคนที่สายตาสั้นสูงมาก เพราะใส่แว่นตั้งแต่เด็ก ๆ ข้างซ้าย -11.25 (หรือ 1,125) ข้างขวา -10.25 (หรือ 1,025) แล้วก็พบว่าสายตาเริ่มมาเอียงในช่วงหลัง คือซ้าย -2 (200) และขวา -2.25 ​(225) หลังจากที่พบว่าตัวเองเป็นคนที่ต้องทำงานกับคอมพิวเตอร์อยู่ตลอดเวลาและใช้สายตาหนักตลอดทั้งวัน ทำงานไปสักพักรู้สึกว่าสายตาล้าง่าย และส่งผลให้รู้สึกปวดหัวบ้าง เลยมองหาแว่นตาป้องกันแสงสีฟ้า (Bluelight) หรือป้องกัน UV โดยหวังว่าจะช่วยลดความเหนื่อยล้าของสายตา แต่ก็พบว่าการตัดแว่นพวกนี้ กับค่าสายตาสูง ๆ มีตัวเลือกไม่ค่อยเยอะ และมีค่าใช้จ่ายสูง ก็เลยเกิดความคิดว่าทำไมเราไม่ผ่าตัดปรับสายตาทำเลสิคไปเลย พอหาข้อมูลก็ทำให้พบว่า เดี๋ยวนี้มีเทคโนโลยีที่เรียกว่า “SMILE” (스마일 라식, ที่ไทยจะมีอีกชื่อคือ ReLek SMILE) ที่สามารถผ่าตัดแล้วไม่ต้องใช้เวลาพักฟื้นนาน วันต่อมาสามารถใช้ชีวิตปกติได้เลย เรื่องนี้ช่วยลบภาพเกี่ยวกับการทำเลสิคเจ็บ ๆ ของเราในอดีต เลยเริ่มศึกษาหาข้อมูล แต่สุดท้ายก็พบว่ามีข้อจำกัดหลายอย่างที่ทำให้คนสายตาสั้นสูงเกินพันสามารถทำได้ เลยต้องมาหาทางเลือกอื่น ก็มาเจอเป็น การใส่เลนส์เสริม (ICL : Implantable Collamer Lens) ที่จะรองรับค่าสายตาได้สูงขึ้นไปอีก แต่คนส่วนใหญ่มักจะเลือกทางนี้เป็นทางเลือกท้าย ๆ ด้วยเรื่องของค่าใช้จ่ายที่สูงแม้ว่าจะเป็นหนึ่งในรูปแบบการผ่าตัดปรับค่าสายตาที่มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง ตอนหาข้อมูลส่วนใหญ่ก็เน้นหาอ่านเป็นภาษาเกาหลีเสียส่วนใหญ่ เนื่องจากต้องการพยายามทำความเข้าใจคำศัพท์เทคนิคต่าง ๆ เพื่อใช้ในการรับคำปรึกษา ส่วนที่ไทยก็เห็นมียูทูปเบอร์ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าตัดเลนส์เสริมอยู่บ้างครับ

รีวิวการผ่าตัดใส่เลนส์เสริมในรพ.ไทย (ช่อง MayyR)

ตรวจสายตาเพื่อใส่เลนส์เสริม

ก่อนที่จะสรุปได้ว่าเราจะสามารถทำอะไรได้ไม่ได้จริง ๆ ก็ต้องมาตรวจสายตาก่อนครับ พอศึกษาข้อมูลจากรีวิวในเว็บต่าง ๆ ก็ตัดสินใจว่าจะมาใช้บริการของคลินิก 서울밝은세상안과 (Seoul BGSS Eye Clinic) เหตุผลอาจจะเป็นเพราะว่าเป็นคลินิกที่ค่อนข้างใหญ่มีสองสาขาที่โซลและปูซาน ที่สำคัญคือใกล้กับออฟฟิศที่ทำงาน เผื่อว่ามีปัญหาอะไรก็จะได้สามารถเดินทางไปรักษาได้สะดวกหน่อย ก็สามารถนัดวันที่สะดวกได้ทาง Kakaotalk ของโรงพยาบาล แจ้งว่าเราสนใจจะตรวจสายตาแบบละเอียด (정밀검사) ทางคลินิกก็จะนัดวันเวลาที่สะดวก กรณีที่เป็นชาวต่างชาติ ช่วงนี้เหมือนทางคลินิกจะมีมาตรการเกี่ยวกับโควิด-19 เป็นพิเศษ ก็จะต้องยื่นเอกสารที่เรียกว่าเป็นในรับรองการเข้าออกประเทศ (출입국사실증명서) มาประกอบด้วยเพิ่มเติม ซึ่งเป็นเอกสารที่จะต้องไปออกที่เขตในราคา 2,000 วอน เพื่อรับรองว่าในช่วงเร็ว ๆ นี้ไม่ได้มีการเดินทางในประเทศกลุ่มเสี่ยง

คลินิกตั้งอยู่ใกล้กับสถานี 압구정로데오 (Apgujeongrodeo Station) ประตูทางออก 5 เดินตรงมาจะเห็นอาคารแบบนี้ ชั้น 7 จะเป็นศูนย์ตรวจตาครบวงจร และชั้น 2 จะเป็นห้องสำหรับผ่าตัดและแผนกผู้ป่วยนอก

ไปถึงชั้น 7 ของคลินิก ตรงนี้ก็จะเป็นศูนย์ตรวจสายตาครบวงจร เข้ามาก็จะมีกรอกประวัติพื้นฐานว่ามีความผิดปกติเกี่ยวกับสายตาอย่างไรบ้าง แล้วก็จะมีคำแนะนำเกี่ยวกับการตรวจสายตา ตรวจสายตาจะมีเป็นฐานตรวจอยู่หลายฐาน เดินไปเรื่อย ๆ ซึ่งใช้เวลาตรวจตรงนี้รวม ๆ แล้วเกือบ 3 ชั่วโมง ขั้นตอนนี้ก็จะมีเจ้าหน้าที่ขานชื่อเราไปตามฐานอยู่เรื่อย ๆ อ้อ ต้องบอกก่อนว่าทางคลินิกมีบริการล่ามให้ โดยมีค่าใช้จ่าย 50,000 วอน/ครั้ง ซึ่งหากเราไม่สันทัดภาษาเกาหลี ก็สามารถติดต่อไปทางคลินิกได้ แต่ผมตัดสินใจที่จะไม่ใช้ล่ามและดำเนินทุกอย่างด้วยตัวเอง ตรวจสายตาก็จะมีตั้งแต่วัดความดันตา, ตรวจขนาดตา, การมองเห็นในที่มืด, จอประสาทตา ประมาณฐานที่ 2-3 พอมีการตรวจค่าสายตาและพบว่าเรามีค่าสายตาที่สูง และไม่สามารถทำเลสิคได้เจ้าหน้าที่ก็จะแจ้งให้เราทราบ ก่อนที่จะแนะนำให้เราทำเป็น “การใส่เลนส์เสริม” ภาษาเกาหลีจะเรียกว่า 안내렌즈삽입술 (อาน-เน-เลน-จึ-ซา-บิบ-ซุล) ซึ่งการใส่เลนส์เสริม ก็จะมีรายละเอียดยิบย่อยออกไปอีก ตามสภาพของสายตา ในบรรดาการตรวจไม่ค่อยมีอะไรเจ็บเป็นพิเศษ มีการหยอดยาขยายม่านตาอยู่เรื่อย ๆ อาจจะมีรู้สึกระคายเคืองตาบ้าง หลัก ๆ ก็จะอยู่แค่เอาหน้าคางวางแท่น หน้าผากแตะ ลืมตากว้าง ๆ ถ้าถามถึงการตรวจอะไรแปลก ๆ หน่อยก็น่าจะเป็นการตรวจหาพื้นที่ใต้ลูกตาผ่านคลื่นตามที่เห็นขั้นตอนในวิดีโอถัดไป (ถามว่าเจ็บมั้ย ไม่เจ็บ…)

การตรวจหาพื้นที่ภายในตาเพื่อการทำเลนส์เสริม (วิดีโอจากคลินิก) เนื้อหาจะอยู่ตั้งแต่นาทีที่ 5:20 เป็นต้นไป

 

เทคโนโลยีการใส่เลนส์เสริม

สรุปสั้น ๆ เลนส์เสริม คือการใส่เลนส์รูปแบบเฉพาะ ที่มีคุณสมบัติยืดหยุ่นและเข้ากับร่างกายของเราได้ เข้าไปในดวงตาของเราครับ เลนส์เสริมแบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ ใส่หน้าม่านตา จะเรียก 전방렌즈 (ชอน-บัง-เลน-จึ) และเลนส์ที่ใส่หลังม่านตา จะเรียก 후반렌즈 (ฮู-บัง-เลน-จึ) ดวงตาเราจะเหมาะกับรูปแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่ภายในตาของเราที่สามารถรู้ได้จากการตรวจสายตาแบบละเอียด และอีกหนึ่งสิ่งที่จะเป็นตัวกำหนดว่าจะต้องใช้เลนส์รูปแบบไหน ก็คือ ค่าสายตาเอียง (난시) โดยลำพังตัวเลนส์เสริมสามารถแก้เรื่องปัญหาสายตาสั้นได้ เรียกว่าหมดจดตั้งแต่คนที่มีค่าสายตา 50 – 1,800 เลย แต่ส่วนที่เป็นสายตาเอียง หากมีค่าสายตาเอียงสูงกว่า 200 ขึ้นไป ก็อาจจะต้องพิจารณาใช้เลนส์เสริมที่แก้ปัญหาสายตาเอียงสูงโดยเฉพาะที่เรียกว่า “Toric ICL” (토릭 ICL) ซึ่งจะมีราคาแพงกว่าเลนส์สายตาสั้นปกติ “Aqua ICL” (아쿠아 ICL) ประมาณ 1 ล้านวอน (26,000 บาท)​ โดยปกติแล้วการแก้สายตาเอียงในค่าที่ไม่สูงมาก ตัว Aqua ICL ก็สามารถปรับสายตาเอียงได้ในระดับหนึ่งอยู่แล้ว ถ้าแก้แล้วยังมีค่าสายตาเอียงหลงเหลืออยู่ ทางคลินิกแนะนำให้ทำเป็น PRK (Lasek – 라섹) ต่อหลังจากผ่าตัดไปแล้ว 3 เดือน ส่วนเคสที่มีค่าสายตาเอียงร่วมด้วยสูงมาก คงจะหนีไม่พ้นการใส่เลนส์เสริมชนิด Toric ICL

การใส่เลนส์เสริมเข้าไปในบริเวณหลังม่านตา (ที่มา PeposeVision Institute)

ผลข้างเคียง & สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับการทำเลนส์เสริม ICL

พูดถึงตัวผลข้างเคียงของการใส่เลนส์เสริม ที่มักพูดถึงกันมากที่สุดก็จะหนีไม่พ้น โอกาสที่จะเกิดโรคต้อหิน (glaucoma, 녹내장) และต้อกระจก (cataract, 백내장) ซึ่งคุณหมอจะพูดในทางทฤษฎีว่ามันมีโอกาสเกิด หากมีกรณีที่ตัวเลนส์มีการเสียดสีในตาของเรา ซึ่งอาจจะมาจากขั้นตอนที่ขาดความเชี่ยวชาญ ขนาดของเลนส์ไม่เหมาะสมกับผู้ป่วย หรือเหตุสุดวิสัย ซึ่งก็อาจจะทำมีโอกาสในการเกิดได้แต่ที่ผ่านมาเคสแบบนี้ก็ยังถือว่าน้อยอยู่

อีกเรื่องน่าจะเป็นโอกาสในการกลับมาสายตาสั้นอีกครั้ง เรื่องนี้เห็นว่าก็มีโอกาส แต่ก็น้อยในกรณีที่สายตามีค่าที่คงที่ระดับหนึ่งแล้ว และหากมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ก็สามารถผ่าตัดนำเลนส์ออกได้ทันทีโดยที่สภาพของดวงตายังคงเดิม ซึ่งแตกต่างจากการผ่าตัดเลสิคที่สูญเสียกระจกตา

มีรายละเอียดที่อยากให้อ่านเพิ่มเติม เป็นบทความของรพ.กรุงเทพ ที่สรุปคำถาม-คำตอบ เกี่ยวกับเรื่องการทำเลนส์เสริม ICL ไว้ครับ [ถามตอบเรื่องที่คุณสงสัยกับการผ่าตัดใส่เลนส์เสริม ICL]

ผลการตรวจตา & ราคาในการผ่าตัดใส่เลนส์เสริม

หลังจากที่ผ่านการตรวจสภาพตาของเรามาทั้งหมดแล้ว ก็อยู่ในเกณฑ์ที่น่าจะทำได้ครับ ขั้นตอนสุดท้ายก็จะมีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการผ่าตัดปรับค่าสายตาที่เหมาะสมกับเรา แจ้งสภาพสายตา ขั้นตอนการผ่าตัด รวมไปถึงราคาด้วย โดยที่นี่ราคาสำหรับการผ่าตัดแก้สายตาสั้น (อย่างเดียว) ด้วยเทคโนโลยี Aqua ICL + จะอยู่ที่ 4,400,000 วอน (ประมาณ 118,800 บาท) ซึ่งเป็นราคาที่คลินิกลดให้และเป็นราคาลด 2 แสนวอน และตัดสินใจรับการผ่าตัดในวันเดียวกัน สำหรับราคาในการแก้ไขสายตาที่มีสายตาเอียง ด้วย Toric ICL นั้นจะแพงกว่า 1 ล้านวอน อยู่ที่ 5,400,000 วอน (ประมาณ 145,800 บาท) ราคาทั้งหมดนี้เป็นการแก้ไขสายตาทั้ง 2 ข้าง, ยังไม่รวมค่ายา (ประมาณ 3 หมื่นวอน)​ และค่าตรวจสายตา (ประมาณ 4 หมื่นวอน)

ก่อนที่คิดว่าตัวเองจะได้เข้ารับการผ่าตัด ก็จะต้องพบจักษุแพทย์เป็นด่านสุดท้าย Final ครับ ทันทีที่ผมเข้าไปในห้องตรวจ ก็จะมีอุปกรณ์ตรวจด้วยแสงจ้าๆ ดูสภาพภายในตาโดยรวมอีกทีหนึ่ง ก่อนที่คุณหมอจะบอกกับผมว่า “ผ่าตัดวันนี้ยังไม่น่าจะได้ เพราะว่าจอประสาทตาไม่ค่อยแข็งแรง” “ต้องทำการรักษาแล้วดูอาการก่อนถึงจะทำได้” ผมก็ได้แต่ เฮ้ย! เกิดอะไรขึ้น ไม่เหมือนที่เจ้าหน้าที่คุยไว้ ความตั้งใจที่กะว่าจะทำให้แล้วเสร็จภายในวันนี้ก็หายไป ก็เลยค่อย ๆ สอบถามไปเรื่อย ๆ จนทำให้เข้าใจว่า ก่อนการผ่าตัดหากมีสภาพของดวงตาอะไรที่ประเมินแล้วว่าอาจจะไม่พร้อม หรือเสี่ยงในเรื่องของความปลอดภัย ก็อาจจะต้องมีการรักษาก่อนได้ครับ สำหรับผมที่ใส่แว่นตาสั้นสูงมาเป็นระยะเวลานาน จะมีโอกาสเกิดอาการที่เรียกว่า “จอประสาทตาหลุดลอก (Retina detachment, 망막 박리)” ซึ่งถ้าไม่รักษาก่อนและปล่อยไว้เรื่อย ๆ ก็อาจจะทำให้จอประสาทตาลอกและสูญเสียการมองเห็นได้ ก็เลยต้องรักษาจอประสาทตาในวันเดียวกัน และรอติดตามผลในอีก 1 สัปดาห์ถัดไป ตรงนี้ก็จะเป็นส่วนของการรักษาที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแยก เป็นเงิน 114,800 วอน (ประมาณ 3,100 บาท – ประกันสุขภาพเกาหลีเบิกได้บางส่วน)

รักษาจอประสาทตาลอก

พอตรวจตาเสร็จ ก็รอคิวตรวจจอประสาทตาลอกตรงนั้นเลยครับ ก็จะมีหยอดยาชาและยาขยายม่านตา มีเครื่องที่หน้าตาคล้าย ๆ กับเครื่องวัดสายตา เอาหน้าผากประกบเครื่อง มีที่ล็อคให้ติดกับเครื่อง แล้วก็ทำการปล่อยแสงให้เราจ้อง แพทย์ก็จะใส่เลนส์ประกบที่ตาแล้วก็ยิงเลเซอร์ไปครับ ทุกครั้งที่ยิงก็จะเป็นเหมือนแสงกระพริบ ๆ ไม่มีอะไรที่รู้สึกว่าเจ็บแสบ แต่มันเป็นเจ็บแบบปวด ๆ จากข้างหลังทุกครั้งที่ยิงครับ อารมณ์ปวดตาเป็นไมเกรน 555 (ถ้าให้สรุปความเจ็บปวด การรักษาจอประสาทตาลอกนี่อาจจะเจ็บกว่าใส่เลนส์เสริมอีกครับ)

นัดคิวผ่าตัดตัด

จริง ๆ ผ่านไป 5 วัน ไม่ถึง 1 สัปดาห์ ผมก็ขอคิวกับทางคลินิกให้มาตรวจสุขภาพสายตา เช็คอัพหลังจากรักษาจอประสาทตาไป เพื่อประเมินว่าเราอยู่ในสภาพผ่าตัดใส่เลนส์เสริมได้หรือไม่อีกครั้งครับ ผลสรุปก็คือ “ผ่าน” ก็ได้ใบสั่งยาไปซื้อยามาใช้สำหรับกินเพิ่มเติมเมื่อผ่าตัดเสร็จ ก่อนเดินทางมาที่คลินิกนั้น ในวันผ่าตัดก็จะต้องหยอดยาขยายม่านตาและยาฆ่าเชื้อ ทุก ๆ 5 นาที จำนวน 6 ครั้ง (ข้างละ 12 หยด รวม 1 ชั่วโมง) ก่อนเดินทางมาที่คลินิกครับ หลังจากหยอดยา ก็จะพบว่าสายตาเราอาจจะมองเห็นได้ไม่ค่อยชัดและไม่สามารถสู้กับแสงจ้ามาก ๆ ได้ ก็ต้องอาศัยคนขับรถมาหรือนั่งท็กซี่ไปครับ

ผมได้คิวผ่าตัดเวลา 11.30 น. เมื่อเข้าไปนั่งรอคิว ก็จะมีเอกสารเป็นภาษาอังกฤษให้เซ็นยินยอมการผ่าตัด ด้านในเอกสารก็จะพูดถึงภาพรวมการผ่าตัด, อาการหรือผลข้างเคียง หลังการผ่าตัด, การดูแลรักษาตัวเองหลังการผ่าตัด เมื่อเซ็นยินยอมครบทั้งหมดแล้ว ก็จะได้เข้าไปคุยรายละเอียดเกี่ยวกับการผ่าตัด สอบถามข้อมูลที่สงสัย แจกอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการดูแลหลังการผ่าตัด (แว่นตาสำหรับครอบตาก่อนนอน) และชำระเงินส่วนที่เหลือ

จากนั้นรอคิวประมาณ 10 นาทีก็ได้เข้าไปในห้องผ่าตัดครับ ตรงนี้ก็จะมีล็อคเกอร์สำหรับเก็บสัมภาระ ให้เก็บแว่นเก่าของตัวเองใส่กระเป๋าไว้ได้เลย แล้วก็จะมีให้ล้างหน้า ใส่เสื้อและหมวกคลุม (ก่อนมาแนะนำให้ล้างหน้าให้สะอาด รวมถึงสระผมด้วย เพราะหลังจากผ่าตัดแล้ว จะไม่สามารถล้างหน้าหรือสระผมได้เป็นระยะเวลา 5 วัน) เตรียมตัวเสร็จก็ถูกพามาอีกห้องเพื่อให้คุณหมอ ตรวจตาแล้วก็มีการใช้เหมือนปากกา มาร์กตำแหน่งสำหรับการผ่าตัดตา (ตรงนี้เท่าที่ศึกษาข้อมูลก็พบว่า สำหรับคนที่มีสายตาเอียงประกอบด้วย ก็จะต้องอ้างอิงตำแหน่งที่เหมาะสม เพื่อแก้ปัญหาสายตาเอียงไปในตัว) ซึ่งขั้นตอนตรงนี้ก็ไม่มีเจ็บอะไรครับ

เข้าไปก็จะมีเจ้าหน้าที่คอยเช็ดทำความสะอาดรอบดวงตา แล้วก็เหมือนพูดปลอบ ๆ ตลอดเวลาว่าเข้าไปข้างในก็ให้จ้องแสงส้มนะ ไม่มีอะไรเจ็บเลย แปปเดียว จะเสร็จเร็วหรือช้าก็จะอยู่กับความร่วมมือของคนไข้ด้วย บลาๆ ได้คิวเข้าไปบนเตียงก็คือนอนเลยครับ มีอุปกรณ์วัดการเต้นของหัวใจหนีบนิ้วชี้เราไว้ จากนั้นก็จะมีผ้าเอามาคลุมหน้าเรา คุณหมอก็จะเข้ามาบอกให้เรามองตามองล่าง (밑으로 보시고 ~ ) แล้วก็มีอะไรมาแปะที่ตาเราเหมือนล็อกสายตาเราไว้ จากนั้นก็เริ่มหยอดยา สลับกับน้ำ ล้างตาไปมา เราก็มีหน้าที่แค่มองไปที่แสงจ้า ๆ ครับ ไม่ได้รู้สึกเจ็บอะไร อาจจะเป็นแค่ความตื่นเต้น การผ่าตัดเริ่มที่ข้างซ้ายก่อน เราก็อ่านรีวิวมาว่าไม่เจ็บ ๆ ก็ไม่เจ็บจริง ๆ ครับ แต่ถามว่ารู้สึกอะไรไหม ก็รู้สึกเป็นเรื่องปกติ ทุกขั้นตอนทำอะไรกับตาของเราก็เห็น ส่วนตาเราจะกระพริบได้ไหม ขอบอกเลยว่ามันกระพริบไม่ได้เพราะมีอุปกรณ์ยึดไว้หมดแล้ว ดังนั้นก็สบายใจได้ว่าจะไม่มีอาการเผลอไปกระพริบตาแน่นอนครับ ในตลอดการทำคุณหมอก็จะเชียร์และให้ข้อมูลเราเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น “เก่งมาก” “ไม่มีตรงไหนเจ็บเลย” “แปปเดียวก็เสร็จแล้ว” “อันนี้จะหยอดน้ำไปนะครับ ไม่ต้องตกใจ จะเย็น ๆ หน่อย” ฟังไปฟังมาก็ช่วยลดอาการตื่นเต้นของเราได้เยอะเหมือนกัน

ใช้เวลาทำข้างหนึ่ง เท่าที่รู้สึกคือประมาณ 5- 10 นาที จากนั้นก็เปลี่ยนมาทำอีกข้าง รอบนี้พอเรารู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็เลยอาจจะมีการตื่นเต้นนิดหน่อย ซึ่งคุณหมอก็จะบอกเราเองว่า ไม่ต้องเกร็งครับ ปล่อยตามสบาย (힘을 빼세요 – ฮี-มึล-เป-เซ-โย) บอกแบบนี้อยู่เรื่อย ๆ เบ็ดเสร็จใช้เวลาไม่ถึง 15 นาที

แว้บแรกที่เรามองผ่านเลนส์เสริมหลังหลงจากเตียงคือ เห็นลาง ๆ ครับ ยังไม่เห็นชัดทันทีเพราะมีความรู้สึกเหมือนมีน้ำยาอะไรเต็มตาไปหมด​ จากนั้นก็จะเข้ามาที่ห้องที่มีเก้าอี้ใหญ่ ๆ นุ่ม ๆ ให้พักผ่อนตรงนี้ประมาณ​ 30-40 นาที นั่งหลับตา ก่อนที่จะตรวจความดันตาก่อนกลับ

หลังผ่าตัดตาแล้วเอาจริง ๆ เมื่อผ่านไป เราจะมองเห็นได้ลาง ๆ ครับ ไกล ๆ จะชัดหน่อย ใกล้ ๆ จะยังมองไม่เห็น คือสามารถเดินไปไหนได้บ้าง แต่!! ถึงอย่างไรก็ตาม อาการที่เป็นผลข้างเคียงจากยา หรือจากการผ่าตัดใหม่ ๆ ก็ยังคงรู้สึกอยู่ นั่นก็คือ “เวียนศีรษะ และรู้สึกคลื่นไส้ อยากจะอาเจียน” อันนี้เลยแนะนำว่าหากเป็นไปได้ก็อย่าใช้สายตาเยอะ พยายามกลับไปที่พักแล้วก็นอนสักหลายๆ ตื่น บวกกับการหยอดยาตามที่แพทย์แนะนำให้อยู่เรื่อย ๆ

สภาพหลังออกจากห้องผ่าตัด ที่ดูไม่มีร่องรอยการต่อสู้ ดูไม่มีอะไรเกิดขึ้น ยังพอสู้ฟ้าอากาศได้ แต่ถึงกระนั้นก็ควรนำแว่นป้องกันสายตา แว่นกันแดด มาปกป้องสายตาด้วย เนื่องจากยาขยายม่านตายังคงเหลืออยู่ทำให้ไม่สามารถสู้แดดหนัก ๆ ได้

สภาพสายตาหลังผ่าตัด 1 วัน

คืนหลังจากผ่าตัดเสร็จผมว่าก็เห็นชัดขึ้นในระดับ 70-80% แล้วครับ และหลังผ่าตัด 1 วันก็จะต้องไปตรวจติดตามอาการที่คลินิกอีกครั้ง ซึ่งสภาพสายตาของผมก็เห็นได้ชัดอยู่ในระดับที่พอใจ (ประมาณ 1.2 ทั้งสองข้าง) แต่ก็ต้องบอกตรง ๆ ว่า ไม่ได้ใสชัดระดับ HD หรือเหมือนกับตอนใส่แว่น ต้องมีเพ่งเพื่อให้เห็นตัวอักษรอยู่บ้าง อาจจะเป็นเพราะตัวยาที่หยอด, แผลที่ยังคงมีอยู่ และสายตาที่ต้องรอการปรับ ทั้งนี้ทั้งนั้นสภาพสายตาหลังการทำ รวมไปถึงความดันลูกตาหลังการผ่าตัดอยู่ในเกณฑ์ปกติดีครับ และจะต้องมาติดตามอาการหลังจากนี้ 3 วัน, 1 เดือน และติดตามอาการทุกปี

สิ่งที่ต้องทำหลังจากผ่าตัดใส่เลนส์เสริม

  • หยอดตาเป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยจะได้ยามา 2 ชุด เป็น Antibiotics และ Anti-Inflammation หยอดสองตัวสลับกัน เว้นช่วงห่างแต่ละอัน 5 นาที (เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน)
  • ทานยาที่แพทย์จ่ายยาให้ 3 เวลา หลังอาหาร 30 นาที (เป็นเวลา 3-4 วัน)
  • มีวิตามินเสริมบำรุงสายตาที่คลิกนิกให้มาด้วย 1 กล่อง อันนี้กิน 2 เวลา เช้า-เย็น
  • สวมแว่นตาป้องกันการขยี้ตาก่อนนอน เป็นเวลา 2 สัปดาห์
  • งดใช้สายตาหนักจากการทำงานคอมพิวเตอร์, ใช้โทรศัพท์มือถือ ในสัปดาห์แรก (ถ้าเลี่ยงไม่ได้ให้พักสายตาทุก ๆ 50 นาที เป็นเวลา 10 นาที)
  • ไม่สามารถล้างหน้า สระผม ใน 5 วันแรก (ต้องไปให้ที่ร้านสระผมสระให้ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าตาและการก้มหน้าที่จะทำให้เกิดความดันตาสูง) จะมีปฏิทินกิจกรรมที่สามารถเริ่มทำได้แนบมาให้
  • นอนหมอนสูง, งดการก้มหน้า เพื่อไม่ให้ความดันลูกตาขึ้นสูง
  • หลังผ่าตัดห้ามขยี้ตาเด็ดขาด

ความรู้สึกส่วนตัว – คุ้มหรือไม่คุ้ม

ในวันนี้​ที่บันทึกหลังเขียนบล็อก ก็เป็นวันที่ 8 หลังจากผ่าตัด ภาพรวมอาการปวดตาก็ค่อย ๆ เริ่มหายไป จำได้ว่าวันแรกที่เริ่มล้างหน้าได้ พอเราไปแตะบริเวณดวงตาก็พบว่ายังมีอาการปวดหลงเหลืออยู่ (ซึ่งปกติถ้าไม่จับก็ไม่ปวด) เลยรู้สึกว่าการรักษายังต้องรอระยะเวลาฟื้นฟูไปอีกสักระยะ บ้างก็ว่า 2 สัปดาห์เป็นต้นไปจนถึงเป็นเดือนกว่าสายตาจะเข้าที่ อาจจะมองในแง่หนึ่งว่าเราสายตาสั้นมาก และใส่แว่นมาตลอด ทำให้ความคุ้นเคยกับสายตาใหม่ยังไม่ค่อยเข้าที่เข้าทางเท่าไหร่ ในวันที่ 8 นี้ให้ความสมบูรณ์ของสายตาใหม่ไว้สัก 85% ยังมีมัว ๆ ให้อารมณ์เหมือนคนขี้ตาเยอะ ๆ ยังคงต้องรอวันที่รู้สึกว่าเห็นทุกตัวอักษรใสแจ๋วอีกสัก 2-3 อาทิตย์หลังจากนี้ และถ้าเกิดมีความรู้สึกยังไง จะเอาไว้มาอัปเดตในบล็อกต่อไปครับ

ส่วนถามว่าคุ้มค่ากับเงินที่เสียไปไหม เพื่อสุขภาพของสายตาเราในอนาคต ผมก็ยังมองว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าครับ บวกกับแอบไปศึกษา เปรียบเทียบราคากับที่ไทยก็พบว่าที่นี่เกาหลีแอบถูกกว่าอยู่พอสมควร การที่ไม่ต้องใส่แว่นก็จะช่วยให้การใช้ชีวิตเรามีความคล่องตัวมากขึ้น ออกมานอกอาคารไม่ต้องเจอฝ้าขึ้นแว่น, ตื่นนอนตอนเช้าไม่ต้องคลำหาแว่น, ใส่แว่นกันแดด หรือหาแว่นแฟชั่นเท่ ๆ ไว้ใส่เวลาไปเที่ยวเปลี่ยนบรรยากาศ ก็คงมีหลากหลายเหตุผลกันไป ก็หวังว่ารีวิวการใส่เลนส์เสริม ICL นี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจในการผ่าตัดปรับค่าสายตากันนะครับ

เรียนรู้อะไรจากการจัดการโควิด-19 ของเกาหลี

จะบอกก่อนว่าเรื่องที่มาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ มาจากการสังเกตการณ์ทั้งหมดครับ หากย้อนไปก่อนเราจะรู้จักกับโควิด-19 ก็น่าจะได้ยินคำว่า “อู่ฮั่น” กันมาก่อน เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดหนักที่นั่น จนเป็นข่าวคราวปิดเมือง แต่ละประเทศตรวจสอบประชาชนในพื้นที่ก่อนจะส่งเครื่องบินไปรับ ทำให้พอเราได้รู้สึกถึงความรุนแรงของโรคนี้กันบ้าง ช่วงที่ติดตามข่าวก็เดินทางกลับมาพักผ่อนที่ไทยช่วงเทศกาลตรุษจีนพอดี เอาตรง ๆ ที่ไทยในตอนนั้น ยังไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้กันเท่าไหร่ครับ วันที่เดินทางเตรียมกลับมาเกาหลีก็รู้แค่ว่าที่สนามบินน่าจะมีโอกาสเสี่ยงที่เจอผู้คนเยอะ เราก็เตรียมสวมหน้ากากเอาไว้ ในวันที่เดินทางเกือบ 70% ของนักท่องเที่ยวที่สวมหน้ากากอยู่ในสนามบินสุวรรณภูมิ
วันแรกที่รู้สึก ‘ตื่นตัว’ กับโคโรน่าไวรัสรอบนี้ น่าจะเป็นที่สนามบินสุวรรณภูมิ ก่อนเดินทางกลับไปเกาหลี
เดินทางกลับมาทำงานที่เกาหลีวันที่ 27 มกราคม จำได้ว่าเลขผู้ติดเชื้อของเกาหลียังไม่เยอะเท่าไหร่ ไทยยังนำมาก่อนหลายคน มีเรื่องเคสผู้ติดเชื้อนอกจีนแผ่นดินใหญ่รายงานมาอย่างต่อเนื่อง ผมเรียกว่ากลับมาแล้วก็ใช้ชีวิตอย่างปกติอยู่สักพักและก็เชื่อลึก ๆ ว่าที่ไม่เกาหลีไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องนี้ ในขณะที่คนรอบข้าง เพื่อนร่วมงาน นั่งนับตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันให้ฟังทุกวัน ๆ เข้าสู่ตอนนั้นเกาหลีก็มีผู้ติดเชื้อหลัก 20-30 คนตามไทยมาเรื่อย ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นผู้สูงอายุ หรือผู้ที่เดินทางมาจากจีน, อู่ฮันเลยโดยตรง ตอนนั้นด้วยความที่จำนวนน้อยมาก ก็ทำให้เราพอนับได้ว่าผู้ติดเชื้อหมายเลขเท่าไหร่ เพื่อหาความเชื่อมโยงได้ สำนักข่าวเกาหลีหลายเจ้า จะทำรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ก็เริ่มทำ Infographic จับโยงความสัมพันธ์ว่าผู้ติดเชื้อคนไหนมาจากไหน แพร่เชื้อให้ใคร มีความสัมพันธ์เป็นยังไง เพื่อทำให้การวิเคราะห์ง่ายขึ้นเนื่องจากโรคนี้ติดกับคนใกล้ชิดได้ง่าย  ช่วงประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์เกาหลีเริ่มจับตามองประเทศกลุ่มเสี่ยงอื่น ๆ นอกจากจีนตอนนั้นมีข่าวที่หญิงคนหนึ่งไปเที่ยวเมืองไทยกลับมาแล้วติดเชื้อ ก็เริ่มฮือฮาเพราะเป็นเคสแรก ๆ ที่มีผู้ป่วยติดเชื้อมาจากประเทศที่ไม่ใช่จีน
ช่วงแรกๆ ที่ยังเป็นหลัก 10 คน ก็ยังมีการนำความเกี่ยวข้องมาเชื่อมโยง เพื่อหาเส้นทางการแพร่เชื้อ (รูปจากสำนักข่าว 머니투데이, 연합뉴스)

ผู้ติดเชื้อรายที่ 31 กับความตื่นตัวของคนเกาหลี

จนกระทั่งวันที่ 22 กุมภาพันธ์​ เรื่องราวของ “Super Spreader” ป้ามหาภัยก็เริ่มน่าจะเป็นที่พูดถึงบนโลกโซเชียล เมื่อผู้ติดเชื้อรายที่ 31 ของเกาหลีเป็นสมาชิกของโบสถ์​ลัทธิหนึ่งในเมืองแดกู ที่มีผู้เข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก นำมาซึ่งการแพร่กระจายและติดเชื้อในวงกว้างส่งผลให้เกาหลีใต้มีผู้ติดเชื้อสูงขึ้นหลักร้อยคนต่อวัน (และถ้าให้สรุปจากรายงานล่าสุดของวันที่ 13 มีนาคม ที่มีผู้ติดเชื้อยอดรวมทั่วประเทศในเกาหลี 7,979 คน เป็นเคสของลัทธินี้ไปแล้ว 4,780 หรือคิดเห็น 59.9%) “คุณป้ามหาภัย” ที่คนไทยเรียกหรือ ผู้ติดเชื้อรายที่ 31 เป็นต้นเหตุที่ทำให้คนเกาหลี “ตื่นตัว” ที่จะออกมาปกป้องตัวเองอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น ทางการเกาหลีใต้ จากเดิมที่สามารถนั่งนับเป็นคน ๆ ได้ ก็ต้องเตรียมสร้างจัดการกับข้อมูลของผู้ป่วยไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ให้รองรับการทำงานกับผู้ป่วยที่มากขึ้น ท่ามกลางอุปสรรคเรื่องของแรงต่อต้านจากคนในลัทธิ และการไม่ให้ความร่วมมือในการเปิดเผยรายชื่อของผู้ร่วมลัทธิ ทำให้ทางการไม่สามารถตรวจสอบการเดินทางของแต่ละคนได้ ลัทธิ “ชินชอนจี” ที่อยู่ยังต้องรักษาความเชื่อจากผู้ศรัทธาทั่วประเทศอยู่เป็นจำนวนมาก ก็ไม่อ่อนข้อต่อรัฐบาลเท่าไหร่ในช่วงแรก ผู้คนที่นับถือบ้างก็ถูกกระแสสังคมต่อต้าน จะไปนมัสการที่โบสถ์อื่นก็ไม่มีใครรับ จนมีคำศัพท์ใหม่ปรากฏในอินเทอร์เน็ตช่วงหนึ่งที่ว่า “ชินมิ่งเอาท์” ที่มาจาก “ชินจอนจี” + “Coming out” การยอมรับว่าตัวเองเป็นคนในลัทธิก็กลายเป็นเรื่องที่หวาดกลัวของคนในโบสถ์เองเช่นกัน
ป้ายหน้าโบสถ์แห่งหนึ่งที่ห้ามคนจากลัทธิชินชอนจีเข้า (ภาพจาก 서남투데이)
ถึงช่วงนั้นการแพร่ระบาดในเกาหลีก็เริ่มหนักขึ้นอย่างจริงจังในปลายเดือนกุมภาพันธ์ มีการตั้ง Call Center 1339 ศูนย์ Hotline ตามภูมิภาค, ตั้งจุดตรวจกันอย่างรวดเร็ว และแน่นอนว่าในขณะนั้นหน้ากากอนามัยก็หมดอย่างรวดเร็วเช่นกัน จากที่เดิมชิ้นละ 15-40 บาท ราคาก็พุ่งไปชิ้นละ 100 บาท

การให้ข้อมูลที่รวดเร็ว ต่อเนื่องนำมาสู่การเผชิญกับ Fake News

สิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงของเกาหลีในขณะนั้น อย่างหนึ่งคือกระแสของข่าวปลอม (Fake news) ที่ก็รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ภาพของผู้ป่วยตามสถานที่ต่างๆ, อาการของโรค ให้ผู้คนรู้สึกหวาดกลัว หรือการเผยใบหน้าของผู้ติดเชื้อรายที่ 31 เพื่อสร้างความเกลียดชัง แต่สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลเอาชนะเรื่องนี้ได้อย่างหนึ่งคือความร่วมมือของสื่อมวลชน และการออกมาทำหน้าที่ของรัฐ ในการรายงานสถานการณ์ทุกวันจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ออกมาจัดการกับเรื่องนี้ได้ค่อนข้างดี ประจวบเหมาะกับที่เกาหลีพิจารณา “ยกระดับความรุนแรง” เป็น “ขั้นสูงสุด” ในฐานะคนที่อาศัย (เฉย ๆ) ในเกาหลีอย่างผม ในตอนนั้นก็รู้สึกตกใจว่าทำไมต้องยกระดับความรุนแรง เกรงว่าจะเป็นการสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนแทนหรือเปล่า ช่วงนั้นมีข่าวลือมากมายว่าหากเปลี่ยนระดับความรุนแรงเป็น ‘สูงสุด’ นี้ ก็มีโอกาสที่จะปิดประเทศกันเลยหรือเปล่า จะถึงขั้นต้องกักตุนอาหารเลยหรือเปล่า (ซึ่งจริง ๆ ก็ไม่ได้เป็นอย่างงั้น) แต่คิดว่าเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการจัดการ, ออกคำสั่งเด็ดขาดเกี่ยวกับการปราบปรามการชุมนุมหรือรวมตัวกันจนทำให้เกิดความเสี่ยง ก็เรียกว่าเป็น ‘ความใจถึงของรัฐบาล’ ที่ไม่ห่วงการประเมินจากต่างประเทศ แต่อาศัยประเมินจากสถานการณ์ภายในประเทศ ที่ผมพอจำคร่าว ๆ ได้ในวันที่ประกาศยกระดับ ปธน.เกาหลีใต้ มุน แจอิน ได้กล่าวไว้ทำนองว่า “เขาเคยประเมินว่าเราสามารถควบคุมได้ แต่เมื่อมีการแพร่กระจายที่มาจากวิถีที่ผิดปกติ ทำให้สถาณการณ์มันแตกต่างไปจากเดิม” และตัดสินใจยกระดับสถานการณ์
การกระจายข่าวสารจากทางการ ทั้งผ่านสื่อทีวีช่องหลัก, Emergency Alerts, โซเชียลเน็ตเวิร์คตั้งแต่ IG ยัน Twitter รายงานความเคลื่อนไหวของผู้ติดเชื้อ เข้าถึงทุกกลุ่มคนเพราะมีทั้งแปลภาษาอังกฤษและมีภาษามือด้วย
การจัดชุดทีมทำงานของกระทรวงสาธารณสุขเกาหลี ที่ให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง สื่อสารกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ด้วยความ “จริงใจและเยือกเย็น” ผมใช้คำนี้เพราะว่า ยังไม่มีข่าวผู้อำนวยการกรมควบคุมโรคคุณจอง อึนคยอง (정은경) ของขึ้นหรือตะหวาดใส่ใครเลย ซึ่งถ้าใครมีโอกาสได้ติดตามคลิปต่าง ๆ ก็น่าจะพอเข้าใจ ยิ่งในช่วงที่มีการระบาดแรก ๆ มีการตั้งศูนย์รายงานความคืบหน้าทั้งช่วงเช้าและช่วงเย็นมีรายงานวันละ 2 ครั้ง จนตอนนี้เปลี่ยนเป็นการรายงานวันละครั้ง มีการอัพเดตตัวเลขอย่างเป็นทางการบนสื่อโซเชียล โดยการแชร์ข้อมูลจากส่วนกลางอย่างต่อเนื่อง เปรียบเทียบจำนวน และที่สำคัญมีการใส่ลำดับของผู้ติดเชื้อทุกคนสำหรับการติดตามอาการ และวิเคราะห์เส้นทางต่าง ๆ แน่นอนข้อมูลพวกนี้เราสามารถเข้าไปเว็บไซต์ติดตามรายละเอียดได้หมด
การรายงานแบบวันต่อวันของกรมควบคุมโรค (KCDC) สามารถติดตามย้อนหลังได้จากทาง YouTube
มีการส่งข้อความเตือนภัยพิบัติเป็นข้อความเตือนจากผู้ให้บริการ แจ้งเตือนตลอดว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่ม อยู่ในละแวกใกล้เคียงกับเรา (อาศัยการตรวจสอบพิกัดจากเสาสัญญานโทรศัพท์) ทำให้เราสามารถเข้าไปเช็คเส้นทางการเดินทางของผู้ติดเชื้อรายนี้ได้ หากพบว่าไปสถานที่ดังกล่าวในเวลาเดียวกันกับผู้ติดเชื้อ ก็ให้สำรวจอาการด้วยตัวเอง หากไม่ดีขึ้นก็ให้ ‘โทรศัพท์แจ้งคอลเซ็นเตอร์’ ก่อน ‘เข้ารับการตรวจรักษา’ ซึ่งการประกาศซ้ำแล้วซ้ำอีกของรัฐบาลว่า ‘ให้แจ้งคอลเซ็นเตอร์ก่อน’ ทุกครั้ง จึงจะสามารถเข้ารับการบริการได้นั้น ก็เป็นแนวทางการป้องกันแพร่กระจายของเชื้อได้แต่เนิ่น ๆ ได้ค่อนข้างดี สร้าง ‘พฤติกรรมที่ดี’ ให้กับประชาชน เป็นอีกการวางแผนที่อยากจะชื่นชม เพราะถ้าให้ประชาชนไปตรวจเองสุ่มสี่สุ่มห้า ไม่ระมัดระวังตัวเอง โอกาสที่จะทำให้เกิดการแพร่เชื้อก็เป็นไปได้สูง การคมนาคมเกาหลีมันสะดวกก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่ง เพราะถ้าเกิดคนเดินทางไปตรวจอย่างไม่ระมัดระวังตัว ใช้ขนส่งสาธารณะเดินทางไปในที่ที่แออัด เกมก็อาจจะจบได้เลยในทันที เรียกว่ามีการวางแผนกันอย่างรอบคอบ มีการกระจายชุดตรวจโรค (kit) ไปตามสถานพยาบาล โรงพยาบาลทั่วประเทศ ให้สามารถตรวจสอบได้รวดเร็วขึ้นจากที่เราจะเห็นได้ว่าผู้ที่ได้รับการตรวจนั้นสูงมากกว่าประเทศอื่นๆ

เทคโนโลยีเดิม เพิ่มเติมคือแก้ปัญหาปัจจุบัน

เมื่อสามารถวางรากฐานของระเบียบการให้การรักษา การจัดการลำดับของผู้ป่วยได้แล้ว ก็มาให้ความสำคัญกับเรื่องหน้ากากอนามัยที่มีไม่เพียงพอ สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลของเกาหลีใต้ทำก่อนคือ ‘ยอมรับ’ ว่ามันไม่เพียงพอ จากปริมาณที่สามารถผลิตได้ต่อวัน ก็ได้มีการช่วยเหลือประชาชนโดยการเพิ่มการกระจาย รัฐจัดสรรหาและจัดระเบียบการซื้อได้คนละไม่เกิน 2 ชิ้น/สัปดาห์ มีการวางระบบเชื่อมกับร้านขายยา-ไปรษณีย์-ร้านค้าสหกรณ์​ เพื่อให้สามารถนำบัตรประชาชนไปตรวจสอบการซื้อได้ว่ามีการซื้อเกินหรือเปล่า เบื้องหลังของเรื่องการตรวจสอบการซื้อซ้ำนี้ เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเดิมที่เกาหลีมีใช้ตามร้านขายยาอยู่แล้วนั้นคือ DUR (Drug Utilization Review) โดยเทคโนโลยีนี้ จะช่วยให้ร้านขายยาสามารถติดตามและตรวจสอบประวัติการรับยาของแต่ละคนได้ ระบบนี้จึงออกแบบมาเพื่อป้องกันการใช้ยาผิดวิธีหรือผลข้างเคียง ทำให้สามารถนำระบบนี้มาประยุกต์ในการตรวจสอบจำนวนหน้ากากที่เคยได้รับ สามารถนำประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้มาประยุกต์ใช้ได้ทั่วประเทศอย่างเหมาะสมและทันต่อสถานการณ์​
รายงานจำนวนหน้ากากอนามัยที่มีการกระจายเป็นรายวัน โดยจะเห็นว่ามีการกระจายให้กับพื้นที่กลุ่มเสี่ยง, ร้านขายยา, ร้านค้าสหกรณ์ และสถานพยาบาล (อ้างอิงของวันที่ 13 มี.ค. แจกจ่ายไป 8,686,000 ชิ้น) สามารถตรวจสอบรายวันได้จากเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ)
ระบบที่ดีก็ต้องมาพร้อมกับการจัดระเบียบที่เหมาะสม การจำหน่ายหน้ากากก็ยังมีการแบ่งจำหน่ายหน้ากากตามวัน ด้วยว่าคนที่เกิดลงท้ายปีไหน ต้องไปซื้อวันไหน เพื่อป้องกันการแห่ไปซื้อ แม้ว่าทุกอย่างนี้มันดูจะไม่ได้ผล มองเผิน ๆ ก็คงจะต้องมีคนตำหนิ เนียนไปซื้อวันอื่น หรือลืมวันกันบ้าง แต่ก็ชื่นชมว่ามันเป็นความร่วมมือของประชาชนด้วยในการให้ความร่วมมือ ทางการก็พยายามส่งข้อความไปเตือนตอนเช้าทุกวันว่าวันนี้เป็นคิวของคนที่เกิดปีท้ายเลขอะไรบ้างทำให้ไม่เกิดความสับสน ความใส่ใจเรื่องหน้ากากก็ไม่ได้ถูกหมดเพียงแค่นี้ ยังมีการสร้างระบบในการรายงานสถานะของปริมาณหน้ากากแบบ Real-time (ในระดับหนึ่ง) ทำให้เราสามารถค้นหาร้านขายยาใกล้เคียงได้อีก มีการเปิดเผยข้อมูลเป็น Open API ให้สามารถเชื่อมเอาข้อมูลไปแสดงในแผนที่ เพิ่มความสะดวกสบายให้กับประชาชน สามารถเข้าไปตรวจสอบได้จากเว็บไซต์อย่าง https://mask-nearby.com/ หรือในระบบแผนที่ของ NAVER Map ได้
open data map corona mask
จากผังจะเห็นว่าเป็นการให้ความร่วมมือกันหลายองค์กร ไม่ว่าจะเป็นสารสนเทศ, ความมั่นคง, กระทรวงสาธารณสุขก่อให้เกิดเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างโปร่งใสผ่าน Open data

เกาหลีหลังจากนี้

สิ่งที่ต้องยอมรับต่อจากนี้คือ สภาพเศรษฐกิจของเกาหลี รายได้ที่มาจากการท่องเที่ยวที่ไม่น่าจะสู้ดีเท่าไหร่ เศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างเมืองแดกูที่มีการแพร่ระบาดหนัก คงต้องใช้เวลาฟื้นฟูกันอีกยาวนาน ยังมีเรื่องของความกลัว สภาพจิตใจของคนในพื้นที่ บวกกับโรคโควิด-19 ที่มีการขยายไปเป็นโรคระบาดระดับโลก น่าจะกระทบกับการท่องเที่ยวและการเดินทางในระยะยาวต่อให้เกาหลีใต้พลิกฟื้นสถานการณ์กลับมาได้เป็นปกติก่อน แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้คือนอกเหนือจากเรื่องที่คาดการณ์ได้นี้ เกาหลีใต้โฟกัสมากกับประชาชน ให้ประชาชนได้รับการบริการพื้นฐาน แก้ปัญหาทีละจุดให้เต็มที่ เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะชื่นชมรัฐบาลเกาหลีผ่านการสังเกตการณ์ทั้งหมดของผมครับ      

ทุนรัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลี (KGSP/GKS 2020) ระดับปริญญาโท-เอก ปีการศึกษา 2563

โครงการทุนรัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลี (2020 Global Korea Scholarship) ประจำปี 2563 (2020) ประกาศรับสมัครนักเรียนทั่วโลกกว่า 1,276 คน (มากกว่าปีก่อน 436 คน) จาก 153 ประเทศ ที่สนใจเข้าศึกษาในระดับปริญญาโทเอก และสำหรับนักศึกษาวิจัย เพื่อรับทุนศึกษาต่อในประเทศเกาหลีใต้

 

โควต้าสำหรับคนไทย ทุนรัฐบาลเกาหลีประจำปีการศึกษา 2020

  • สมัครคัดเลือกผ่านสถานทูต (Embassy track) : 
    • การคัดเลือกทั่วไป (หลักสูตรปกติ – General Applicants) 13 คน (มากกว่าปีที่แล้ว 7 คน)
    • โครงการพิเศษสำหรับด้านการสอนภาษาเกาหลี 30 คนจาก 24 ประเทศ (Korean Language Teaching Professionals) (ทุนการศึกษาสำหรับสำหรับครู, อาจารย์มหาวิทยาลัย ที่สอนหลักสูตรวิชาภาษาเกาหลีในสถาบันการศึกษาที่ได้รับการรองรับจากรัฐบาล)
  • สมัครคัดเลือกผ่านมหาวิทยาลัย (University track) : หลักสูตรทั่วไป 16 คน (มากกว่าปีที่แล้ว 7 คน)หลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์ 12 คน (มากกว่าปีที่แล้ว 9 คน) (รวมทั้งสิ้น 28 คน)

โดยผู้ที่สนใจทุนนี้จะต้องผ่านการคัดเลือกรอบแรกผ่านทางสถานทูต โดนสามารถตรวจสอบรายละเอียดการคัดเลือก ดาวน์โหลดใบสมัครได้จากทางเว็บไซต์ Studyinkorea.go.kr ได้โดยตรง

วิธีการดาวน์โหลดใบสมัคร

เข้าไปที่เว็บไซต์ Studyinkorea.go.kr ในช่อง Recent Articles มองหาลิงก์ [GKS] 2020 Global Korea Scholarship for Graduate Degrees ทุนรัฐบาลเกาหลี ป.โท เอก 2019 เมื่อเข้าไปแล้วจะมีรายละเอียดการสมัคร โดยให้สังเกตด้านล่างของรายละเอียดจะมีไฟล์ใบสมัคร รายละเอียดของมหาวิทยาลัย และคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการสมัคร

กำหนดการปิดรับสมัครจะขึ้นอยู่กับหน่วยงานการรับสมัครของแต่ละประเทศ​ เช่น สถานเอกอัครราชทูตเกาหลี ประจำประเทศไทย หรือ ศูนย์เกาหลีศึกษาประจำประเทศไทย ซึ่งจะมีการประกาศแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

คุณสมบัติผู้สมัคร

สัญชาติ

  1. ครอบครัวหรือผู้สมัครจะต้องไม่ถือสัญชาติเกาหลี
  2. ชาวเกาหลีและผู้ที่ถือสองสัญชาติไม่สามารถสมัครได้
  3. ผู้สมัครหรือครอบครัวที่เคยได้รับสัญชาติเกาหลีมาก่อนจะต้องแสดงเอกสารสละสัญชาติเกาหลี

อายุ

  • ไม่เกิน 40 ปี (เกิดหลังวันที่ 1 กันยายน 1980)
  • อาจารย์ในสถาบันการศึกษา ที่มีอายุต่ำกว่า 45 ปี (เกิดหลังวันที่ 1 กันยายน 1975 )

คุณสมบัติทางการศึกษา

  • ผู้สมัครจะต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี โท หรือเอก ก่อนวันที่ 31 สิงหาคม 2020 หรือมีเอกสารคาดว่าจะจบ
  • ต้องไม่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี​ หรือโทจากประเทศเกาหลี (ยกเว้น ได้รับการอุปถัมป์ หรือนักเรียนทุนรัฐบาลเกาหลีโดยมีเกรดเฉลี่ย 2.64/4.00 ขึ้นไป หรือ 2.80/4.3 ขึ้นไป

สภาพร่างกาย

  • มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง
  • ไม่มีประวัติการใช้สารเสพติด สามารถอยู่ในประเทศเกาหลีได้เป็นระยะเวลานานได้

คุณสมบัติที่พิจารณาเป็นพิเศษ

  • มีคะแนนสอบวัดระดับภาษาเกาหลี (TOPIK) หรือคะแนนสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ​ (TOEFL,TOEIC,IELTS) โดยผลคะแนนจะต้องยังไม่หมดอายุ (คะแนน TOEFL ITPs ไม่สามารถใช้ในการยื่นได้)
  • ผู้ที่สมัครในสายวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ​ หากมีผลคะแนนเท่ากับผู้สมัครสายอื่น
  • ผู้ที่สมัครคณะในโครงการ Industrial Professional Training Project จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษหากมีคะแนนเท่ากับผู้สมัครคนอื่น
  • ผู้สมัครที่ถือสัญชาติอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอยู่ในโครงการ ODA จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ หากมีคะแนนเท่ากับผู้สมัครคนอื่น
  • บุตรหลานของครอบครัวที่ช่วยเหลือในสงครามเกาหลีจะได้รับคะแนนเพิ่ม 5% ของคะแนนทั้งหมด
  • ผู้สมัครที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน

สิทธิพิเศษของทุนรัฐบาลเกาหลี

  • ตั๋วเครื่องบิน (ไปกลับในระดับชั้นประหยัด
  • ค่าตั้งถิ่นฐาน 200,000 วอน (จะได้รับเมื่อถึงเกาหลี)
  • ค่าใช้จ่ายรายเดือน 1,000,000 วอน/เดือน (เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 100,000 วอน) (สำหรับโปรแกรมสำหรับนักวิจัย Research จะได้รับ 1,500,000 วอน/เดือน)
  • ค่าใช้จ่ายสำหรับวิจัย – คณะ Liberal Arts และ Social Science : 210,000 วอน/เทอม – คณะ Natural Science & Engineering : 240,000 วอน/เทอม
  • ค่าใช้จ่ายในการเรียนภาษาเกาหลีทั้งหมด 1 ปี
  • ค่าใช้จ่ายในการเรียนระดับปริญญาโท หรือ เอก ทั้งหมด (3 ปี สำหรับระดับปริญญาเอก, 2 ปีสำหรับปริญญาโท, 6 เดือนสำหรับโครงการวิจัย)
  • ค่าใช้จ่ายสำหรับวิทยานิพนธ์ – คณะ Liberal Arts และ Social Science : 500,000 วอน – คณะ Natural Science & Engineering : 800,000 วอน
  • ค่าประกันสุขภาพ 20,000 วอน/เดือน
  • หากมีคะแนน TOPIK ในระดับ 5 ขึ้นไป จะได้รับเงินสนับสนุนเพิ่ม 100,000 วอน/เดือน
  • ค่าใช้จ่ายสนับสนุนเมื่อจบการศึกษา : 100,000 วอน
โปรดศึกษารายละเอียดจากในใบสมัครให้ครบถ้วนอีกครั้ง ขอสงวนสิทธิ์ไม่ตอบคำถามหากเป็นข้อมูลที่สามารถสืบค้นได้จากในเว็บไซต์หรือบนอินเทอร์เน็ต และเนื่องจากว่าผมได้รับทุนในระดับปริญญาตรี จึงไม่สามารถให้ข้อมูลในเชิงลึกของระดับปริญญาโท-เอกได้ครับ แต่หากมีข้อมูลที่สงสัยส่งเข้ามาเรื่อยๆ จะอาสานำไปสอบถามรุ่นพี่มาให้เพิ่มเติมได้ครับ