ก่อนที่เรื่องกระแส กระทะโคเรียคิง จะเป็นข่าว ทุกครั้งที่กลับไทย ผมเอบก็มักจะได้ยินญาติๆพูดถึงบ่อยๆ ในลักษณะ “กระทะของเกาหลีเขาใช้ดีเนอะ” ไปจนถึง “วันหลังฝากหิ้วกระทะโคเรียคิงจากเกาหลีหน่อย”
ก็เป็นครั้งแรกที่ได้ยินชื่อ “โคเรียคิง”
ผมกลับมาที่เกาหลี และด้วยความที่ตอนนั้นกำลังหากระทะมาทำกับข้าวกินเองที่หออยู่พอดี เลยออกไปหาดูกระทะตามห้างครับ สิ่งแรกที่นึกถึงคือ ยี่ห้อนี้เลยครับ “โคเรียคิง” เพราะที่บ้านใช้อยู่แถมโฆษณาให้พร้อมว่าใช้ดี ไม่ค่อยติดกระทะ .. แต่พอเดินมาดูเรื่อยๆปรากฏว่า “เฮ้ย มันไม่มี” จริงๆเรื่องนี้มันก็ปีกว่าๆ แล้วครับ แต่ก็เข้าใจว่าเฉพาะห้างนี้มันอาจจะไม่มีก็ได้ ผมก็เลยได้อีกยี่ห้อมาใช้ (ตามคำโฆษณาของอาจุมม่า ป้าข้างๆที่ต้องการจบการขาย ด้วยการแถมตะหลิวให้ผมฟรี!) ผมก็เลยได้กระทะอีกใบสัญชาติฝรั่งเศสมาใช้แบบงงๆ แต่ก็ไม่ได้เอะใจอะไร ใช้ดีมาเรื่อยๆสมราคา
จนกระทั่งปีนี้ “โคเรียคิง” ก็กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง เมื่อมีนักท่องเที่ยวคนไทยไปเจอกระทะโคเรียคิงที่ประเทศสิงคโปร์จำหน่ายในราคาประมาณ 600 บาท ในขณะที่บ้านเรา 3,900 บาท (2 ใบ มาในรูปแบบ 1 แถม 1) จนเกิดเป็นที่สงสัยของชาวเน็ตมากมาย ในลักษณะถูกแหกตาเรื่องราคาที่แพงเกินความเป็นจริง
แล้วกระทะนี้มีปัญหาอะไร?
1. ราคา?
ผมขอยกตัวอย่างกระทะรุ่นหนึ่งที่จำหน่ายอยู่ในหน้าเว็บของโคเรียคิง มีราคาเขียนเอาไว้ 3,900 บาท (ลดพิเศษจาก 18,000 บาท) …
อันนี้ส่วนตัว ก็คงไม่สามารถเชื่อได้สนิทใจนะครับว่า “กระทะอะไรราคาเป็นหมื่น!” แต่ก็ต้องมาดูว่าที่ผ่านมามีใครเคยได้ซื้อจากราคาปกติของโคเรียคิงบ้าง (ซึ่งอันนี้ไม่ทราบจริงๆ) ถ้าเกิดไม่เคยมีใครได้ซื้อกระทะในราคาปกติ ก็เป็นที่เข้าใจว่า ราคามันจริงๆก็อยู่ตกใบละ 1,950 บาทนี่แหละ ! ซึ่งเทียบกับคุณสมบัติที่ก็ไม่ได้อวดอ้างจนเกินไป (เช่นเรื่องทอดไม่ติดกระทะ) ก็ถือว่าโอเค เพราะกระทะรุ่นอื่นๆที่มียี่ห้อ ราคาก็ไม่ต่างกัน
2. โฆษณาเกินความจริง?
ส่วนตัวก็ติดใจเรื่องนี้มากกว่า เรื่องการใช้คำว่า No.1 in Korea เพราะคำนี้ก็ถือว่าทรงพลังจริงๆ มันอาจจะหมายถึงมียอดขายหรือเป็นที่นิยมอันดับ 1 ในเกาหลีก็ได้ (แล้วแต่จะตีความกันไปว่าอันดับ 1 ในเรื่องอะไร เพราะทางผู้ผลิตก็ไม่ได้เขียนอธิบายไว้ตั้งแต่แรก แต่ที่แน่ๆอันดับ 1 ของแบรนด์ที่ใช้งบโฆษณาสูงที่สุด)
ผมลองค้นหาด้วยคีย์เวิร์ดง่ายๆอย่าง “กระทะ” ในเว็บช็อปปิ้งยอดนิยมของเกาหลีใต้อย่าง “Gmarket” ก็พบว่าไม่มีคำว่า Korea King เลย แต่กลับเป็นยี่ห้ออื่นๆ เช่น Tefal, Happycall, Kitchenart ที่จะคุ้นหูคนเกาหลีมากกว่า
ทั้งหมดนี้ผมอยากจะให้มั่นใจครับว่า แบรนด์นี้ไม่มีจำหน่ายในเกาหลีแน่นอน นั่นหมายความว่า จะไม่มีใครได้ของฝากจากเกาหลีเป็นกระทะแน่นอนครับ! ซึ่งก็สอดคล้องจากที่ คุณวู้ดดี้ พรีเซ็นเตอร์กระทะโคเรียคิง ได้ต่อสายตรงกับบุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าของแบรนด์ Korea Kingที่อยู่ที่เกาหลีใต้ ว่ากระทะโคเรียคิงนั้น “ส่งออก 100% และไม่มีจำหน่ายในเกาหลี”
ดังนั้น หากจะโฆษณาโดยใช้คำว่า No.1 in Korea (อันดับหนึ่งในเกาหลี) หรือภายหลังที่ได้เปลี่ยนมาใช้คำว่า No.1 from Korea (อันดับหนึ่งจากเกาหลี) ในรุ่นหลังแทนนี้ …ก็จะดูเหมือนว่าไม่ชัดเจนเท่าไร
มีอีกประเด็นคือเรื่อง สารเคลือบที่อยู่ในกระทะ ที่อ้างว่ามีถึง 8 ชั้น หรือการโฆษณาว่า กระทะลื่นขึ้น 300% ในรุ่นใหม่ อันนี้ก็ต้องปล่อยเป็นกระบวนการตรวจสอบของทาง สคบ.หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบว่ามีตามที่โฆษณาหรือไม่ และทางสคบ.เองก็ควรจะใช้นโยบาย “ที่เหมาะสม” กับโคเรียคิงเกี่ยวกับการโฆษณาด้วย
สรุป
สั้นๆคือ “เป็นสิทธิ์ของผู้บริโภค”
ผมเองก็ไม่สามารถตัดสินความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมได้ครับ เพราะเรื่องนี้ก็ต้องยอมรับว่า ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการตลาดของแบรนด์นี้ ที่ต้องนำมาใช้ให้เหมาะสมกับเม็ดเงินที่ลงทุนไป การโฆษณาที่เกินความเป็นจริงมากๆ แน่นอนว่าย่อมเป็นผลเสียต่อผู้บริโภค ก็ยังถือว่าเป็นเรื่องโชคดีสำหรับแบรนด์โคเรียคิง ที่จนถึงตอนนี้ไม่มีผู้ใช้ที่มาร้องเรียนเกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์ (ก็หมายความว่ายังใช้ดีสมราคาอยู่) ซึ่งแน่นอนหากมีการร้องเรียนในด้านสรรพคุณที่ไม่ตรงตามโฆษณา เช่น มันติดกระทะ, มีสารอันตราย ฯลฯ อันนั้นผมถึงคิดว่าน่าจะเป็นผลเสียกับแบรนด์โดยตรงมากกว่า
แถม : จริงๆไม่ใช่แค่กระทะอย่างเดียวที่ต้องมาระวังว่า Made in อะไร แต่ก็อยากจะให้ระวังผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม เครื่องสำอางและยา ที่พ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่มักจะอ้างคำว่า “เกาหลี” นี้ด้วยครับ ซึ่งเรื่องนี้ จริงๆก็เคยเป็นข่าวที่เกาหลีเหมือนกัน เกี่ยวกับเรื่องเครื่องสำอางปลอมที่มีขายเกลื่อนในประเทศไทย (ถึงขั้นมาทำสกู้ปกันเมืองไทยเลยทีเดียว) มีใช้คำศัทพ์ภาษาเกาหลีไปใช้บนสลาก (ซึ่งบางซองก็เขียนไม่ถูก) จนทำให้เข้าใจคาดเคลื่อนว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากเกาหลีจริงๆ เรื่องนี้ก็ต้องระวังกันไว้ด้วยครับ เตือนๆผู้ใหญ่ที่ชอบไปหาซื้อเครื่องสำอางตามร้านสะดวกซื้อมาใช้เอง