สำหรับบล็อกในตอนนี้ จะมารีวิวเว็บไซต์ที่เป็นประโยชน์กับการเรียนภาษาเกาหลีครับ เชื่อว่าหลายๆคนที่อยากจะเริ่มต้นกับภาษาเกาหลี แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะไปรอดถึงไหน… เอาล่ะ! งานนี้ผมเองได้รวบรวมเว็บไซต์ที่คิดว่ามีประโยชน์ต่อการเริ่มต้นภาษาเกาหลี พร้อมกับวิเคราะห์จุดเด่นของแต่ละเว็บไซต์ และแนวทางที่เพื่อนๆจะสามารถเริ่มต้นเรียนภาษาเกาหลีได้ เอาล่ะ ! พร้อมแล้วมาดูกันเลย~
0. เริ่มต้นอ่านตัวอักษรเกาหลี
พื้นฐานแรกสุดเลยก็ต้องเป็น ‘การอ่านตัวอักษรเกาหลี’ ครับ บอกเลยว่าการอ่านตัวอักษรภาษาเกาหลี ไม่ใช่เรื่องยาก และสามารถพอท่องจำคร่าวๆได้ ภายใน 1 วัน เทคนิคที่แนะนำคือ อยากให้ศึกษาวิธีการเทียบตัวอักษรภาษาเกาหลี จาก ภาษาไทย ก่อนนี่แหละ ! น่าจะทำให้จำได้ง่ายกว่าครับ ถ้าไปเรียนเทียบเสียงตัวอักษรจากเกาหลี เป็น อังกฤษ เกรงว่าจะเหนื่อยเอา เอาเป็นว่า เราพออ่านตัวอักษรภาษาเกาหลีคร่าวๆให้ได้ก่อน จากเว็บที่สอนการอ่านเป็นภาษาไทยก็ได้ครับ แต่ถ้าใครกลัวว่าสำเนียงจะไม่ดีเท่ากับเจ้าของภาษา แน่นอนก็ต้องไปหาฟังเสียงของเจ้าของภาษาเพิ่มเติมกันเอาเอง ส่วนตัวคิดว่าคลิปที่สอนการอ่านภาษาเกาหลีที่พอใช้ได้ และมีเทคนิคในการจำให้ด้วย น่าจะเป็นของเว็บไซต์ Seemile คลิปนี้ครับ (และแน่นอนว่ามีอีกหลายคลิปใน YouTube)
พออ่านได้คร่าวๆแล้ว ก็ถึงคราวที่ไปเริ่มท่องจำคำศัพท์และรู้ไวยากรณ์พื้นฐานครับ
1. Seemile
เว็บไซต์ : Seemile YouTube Channel
หลังจากที่ได้พื้นฐานการอ่านออกเสียงแล้ว หน้าที่ของเราคือต้องฝึกให้คุ้นเคยกับสำเนียงภาษาเกาหลีครับ ซึ่งในเว็บนี้ก็มีเนื้อหาวิดิโอพื้นฐานตั้งแต่การอ่านออกเสียง (ควรไปทวนซ้ำ) มาจนถึงแกรมมาร์และบทสนทนาเบื้องต้น เว็บนี้จะดีตรงที่มีบทสนทนาแบ่งเป็นตามหมวดหมู่ ตามสถานการณ์ ดูได้เรื่อยๆครับ โดยสามารถเข้าไปดูจาก Playlist เนื้อหาบทเรียนจากลิงก์นี้ครับ
Seemile.com
ข้อดี
– วิดิโอแบ่งเป็นตอนสั้นๆ กระชับ ไม่เยิ่นเย้อ เข้าใจง่าย
– ออกเสียงโดยเจ้าของภาษา
จุดสังเกต
– อธิบายด้วยภาษาอังกฤษ (แต่ใครที่ยอมแพ้ภาษาอังกฤษด้วยก็แนะนำเว็บอื่นครับ)เหมาะสำหรับมือใหม่ ★★★★☆
2. Talk to me in Korean
เว็บไซต์ : Talktomeinkorean.com
พอพื้นฐานเริ่มได้สักหน่อย ก็มาต่อที่เว็บนี้กันครับ เว็บนี้จะมีเนื้อหาที่ละเอียดขึ้น ลึกขึ้น แบ่งตามความสามารถของคนเรียนคือมีระดับ Beginner (ระดับต้น) / Intermediate (ระดับกลาง) / Advanced (ระดับสูง) แยกชัดเจน นอกจากมีเนื้อหาออนไลน์ให้อ่านกันบนเน็ตแล้ว ยังมีเป็นรูปเล่มให้ได้สั่งซื้อออนไลน์กันด้วยครับ
สำหรับใครที่อยากเรียนออนไลน์ ก็แนะนำว่าให้เริ่มต้นเนื้อหาไปทีละบท จากเมนู Curriculum ที่อยู่บนเว็บ มีให้เริ่มตั้งแต่ Level 1-9 เนื้อหาในแต่ละตอนส่วนใหญ่ก็จะมีแบบเรียนเป็น PDF และ MP3 ให้ดาวน์โหลดได้ด้วย!
![](https://www.framekung.com/wp-content/uploads/2017/05/free_korean_course_talktomeinkorean_2.jpg)
นอกจากเนื้อหาที่เป็นบทเรียนแล้ว ยังมีเป็นคลิปวิดิโอที่มาพูดคุยกันในเรื่องทั่วไปตามหัวข้อ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าตรงนี้มีประโยชน์ เพราะทีมงานมีไฟล์ PDF สคริปต์บทพูดให้ และการฟังเรื่องราวหัวข้อเหล่านี้บ่อยๆ จะทำสามารถเรียนรู้วิธีการพูดที่เป็นธรรมชาติได้ การเลือกใช้คำศัพท์ต่างๆ ซึ่งเนื้อหาส่วนนี้จะอยู่ในพาร์ท Iyagi (เหมาะสำหรับระดับกลางเป็นต้นไปครับ)
Talk to me in Korean
ข้อดี
– เนื้อหาหลากหลาย และทันสมัย ใช้ในชีวิตประจำวันจริง
– เว็บไซต์มีไฟล์ PDF, MP3 หรือบางคลิปมีวิดิโออธิบายทำให้ดูได้เพลินๆ
จุดสังเกต
– เนื้อหาค่อนข้างยาว สมาธิในการเรียนน้อยๆ ไม่ค่อยแนะนำ
– เนื้อหาในเว็บมีค่อนข้างเยอะมาก และอัพเดตเรื่อยๆ เวลาค้นหาเนื้อหาที่อยากเรียนอาจจะทำได้ยากหน่อย
เหมาะสำหรับมือใหม่ ★★★☆☆
3. King Sejong Institute
เว็บไซต์ : Sejonghakdang.org
เป็นเว็บไซต์ของสถาบันสอนภาษาเซจง (세종학당재단) ที่เป็นสถาบันสอนภาษาเกาหลี มีอยู่หลากหลายที่ทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย เอกสารการเรียนถอดมาจากหนังสือแบบเรียนเซจงเลย โดยคำแนะนำคือปรับภาษาเป็น ภาษาอังกฤษ ตรงมุมบนขวาก่อน แล้วเลือกเมนู Learn จากนั้นมาเริ่มต้นกันที่เนื้อหาเบื้องต้นก่อน โดยคลิกที่ Standard Curriculum ก็จะมีรายการเนื้อหาพื้นฐานมาให้เลือกครับ
![](https://www.framekung.com/wp-content/uploads/2017/05/free_korean_course_sejong_2-1024x794.jpg)
![](https://www.framekung.com/wp-content/uploads/2017/05/free_korean_course_sejong_3-1024x547.jpg)
![](https://www.framekung.com/wp-content/uploads/2017/05/free-ebook_korean_language-1024x731.jpg)
ความน่าสนใจอยู่ที่ไม่ใช่แค่เนื้อหาในหนังสือเรียนธรรมดา แต่ยังมีเนื้อหาสอนเกี่ยวกับวัฒนธรรม เช่น วัฒนธรรมดนตรีพื้นบ้าน, สอนเต้น K-POP รวมไปถึงมีเนื้อหา คำศัพท์ภาษาเกาหลีใหม่ๆให้ได้อัพเดตด้วยล่ะครับ
King Sejong Institute
ข้อดี
– เนื้อหาสมบูรณ์ ครบถ้วน เรียบเรียงตามระดับความยาก-ง่าย
– มีแบบฝึกหัด สมุดรวบรวมคำศัพท์ มีหน้าอินเตอร์เฟซภาษาไทย
จุดสังเกต
– ต้องสมัครสมาชิกก่อนเข้าใช้งาน
– การใช้งานอาจจะดูใช้ยาก ไม่ค่อยคุ้นเคย
– เนื้อหาในบทแรก สำหรับผู้ที่สนใจ อาจจะศึกษาด้วยตัวเองยาก แนะนำให้ไปเรียนวิธีการอ่าน หรือเรียนเนื้อหาพื้นฐานจากเว็บอื่นมาก่อน แล้วค่อยมาเสริมจากเว็บนี้
เหมาะสำหรับมือใหม่ ★★★★☆
4. iKorean by T-Insang (อัพเดตล่าสุด เพจได้ปิดไปแล้วอย่างไร้ร่องรอย T_T)
เพจเฟซบุ๊กที่นำเสนอคำศัพท์ ไวยากรณ์ สำนวนต่างๆที่น่าสนใจไว้เป็นภาษาไทย! ถ้าจะเทียบจุดเด่นของเว็บนี้ก็คงเเป็นข้อมูลที่เป็นภาษาไทย สำหรับใครที่ขอเรียนภาษาเกาหลีแบบสงบสุข ไม่ยุ่งกับภาษาอื่น ก็แนะนำให้ไปติดตามเพจนี้กันครับ
เข้าไปติดตามเพจได้ที่นี่เลยครับ https://www.facebook.com/iKoreanTH/
iKorean by T-Insang
ข้อดี
– เนื้อหาเป็นภาษาไทย ใช้ฟอนต์, สี ที่เข้าใจง่าย น่าอ่าน
– สรุปเข้าใจง่ายและคำศัพท์ที่มีประโยชน์ แบ่งเป็นหมวดหมู่ รวมไปถึงวิธีการใช้
– มีคลิปวิดิโอสอนภาษาเกาหลีพื้นฐาน
จุดสังเกต
– เนื่องจากเป็นเพจ การเรียงลำดับเนื้อหาอาจจะดูยาก
– เนื้อหาพื้นฐานบางส่วนสามารถหาได้จากในเพจ แต่เนื้อหาเพิ่มเติม หรือหนังสือเป็นเล่ม มี E-Book แยกจำหน่ายต่างหากเหมาะสำหรับมือใหม่ ★★★★☆
ต้องยอมรับครับว่า การเรียนภาษาเกาหลีด้วยตัวเองนั้น สิ่งที่ยากที่สุดอาจจะไม่ใช่เรื่องสื่อการเรียน หรือจำเป็นต้องมีเงินไปลงทุนซื้อหนังสือเรียนเยอะๆครับ ส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่อง “วินัย” ล้วนๆ 555 ! เพราะว่าสื่อการเรียนการสอนภาษาเกาหลีตามที่ผมได้เสนอไปถือว่ามีให้เลือกเรียนเยอะมาก หลากหลาย และครบถ้วน อยู่กับว่าเราจะสามารถจัดสรรเวลา และเริ่มสร้างวินัยกับการเรียนได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งอันนี้ก็ต้องออกไปตามหาแรงบันดาลใจในการเรียนภาษาเกาหลีเพิ่มเติมแล้วล่ะครับ!