Homeเรียนต่อเกาหลีข่าวสารทุนเกาหลีQ&A : 10 คำถาม-คำตอบ ทุนรัฐบาลเกาหลี

Q&A : 10 คำถาม-คำตอบ ทุนรัฐบาลเกาหลี

รวมทุกคำถามที่หลายๆคนถามเกี่ยวกับการรับสมัครทุนรัฐบาลเกาหลีครับ เฟรมเลยอยากจะรวบรวมไว้เป็นที่เดียวกัน เพื่อความสะดวกในการค้นหานะครับ

Q1 ติดตามข่าวสารการรับสมัครทุนรัฐบาลเกาหลีได้ที่ไหน? ใบสมัครดาวน์โหลดได้จากที่ไหน?

2 ช่องทางหลักๆครับ
1. เว็บไซต์ Study in Korea : เว็บไซต์ของหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องทุน ข้อมูลจึงจะเร็วที่สุด ข้อมูลจะเป็นภาษาอังกฤษครับ ข้อมูลจะอยู่มุมบนขวา หัวข้อ “2018 Korean Government Scholarship Program for International Students for an Undergraduate Degree (via Korean Embassies)”
2. เว็บไซต์สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย : ในเว็บนี้จะให้ข้อมูลการสมัครที่ไทยค่อนข้างละเอียดกว่าข้างบน เพราะจะบอกกำหนดการของใบสมัคร, การส่งเอกสาร และหมายเลขโทรศัพท์หากน้องๆคนไหนที่ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้

Q2 ใบสมัครบอกว่าต้องจบภายใน 1 มีนาคม ปีหน้า แต่โรงเรียนยังไม่ปิดเทอม ยังไม่ได้ใบสำเร็จการศึกษา ทำยังไง?

เรื่องนี้ถามกันเข้ามาเยอะมากครับ สำหรับใครที่เรียนอยู่ม.6 อยู่ แล้วมาสมัครทุนนี้จะเจอปัญหาเดียวกัน
แก้ปัญหาโดยให้โรงเรียนออกหนังสือที่ชื่อว่า “ใบคาดว่าน่าจะจบการศึกษา (Expected to graduate)” โดยมีเนื้อหารับรองว่า “นักเรียนชื่อ … กำลังศึกษาอยู่ชั้น … เลขประจำตัว … มีความประพฤติดี มีผลการเรียนอยู่ในระดับดี … สามารถเดินทางไปศึกษาต่อที่เกาหลีได้ หากจบการศึกษา ซึ่งหากจบการศึกษาจะจบภายในวันที่ 1 มีนาคม …” ซึ่งใบนี้จะเป็นเหมือนบันทึกข้อความ ไม่มีแบบฟอร์ม ไม่ใช่ใบปพ.7 (รายงานสภาพความเป็นนักเรียน) การขอใบรับรองนี้จึงอาจมีความยุ่งยาก อาจารย์อาจจะไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของเราได้ (เข้าใจว่าให้ออกใบจบให้แทน) ทั้งนี้เอกสารฉบับนี้ควรให้อาจารย์ที่เกี่ยวข้อง เช่น อาจารย์ฝ่ายทะเบียน หรือ ผู้ช่วยฝ่ายวิชาการ หรือผู้อำนวยการ เป็นผู้รับรองหรือประทับตราเพื่อให้เอกสารมีความสมบูรณ์
TIPS
1. ควรขอเอกสารชุดนี้ผ่านอาจารย์ที่ปรึกษาหรือคุณครูสอนวิชาภาษาอังกฤษ ให้ร่างเอกสารชุดนี้เป็นภาษาอังกฤษให้ “ก่อน” ไปให้ผู้บริหารโรงเรียนรับรอง เพราะเอกสารชุดนี้ต้องออกเป็นภาษาอังกฤษ
2. คุยกับอาจารย์ด้วยความสุภาพ อธิบายเหตุจำเป็นเกี่ยวกับการสมัครทุนของเรา ไม่เร่ง ไปให้ถูกเวลาครับ เพราะเอกสารชุดนี้เป็นเอกสารที่ไม่ได้มีฟอร์มมาตรฐาน การจะรับรองเอกสารจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน
3. ถ้าโรงเรียนไม่สามารถออกให้วันที่ 1 มีนาคม แต่เป็น 31 มีนาคมจริงๆ ความเห็นส่วนตัวคือในเอกสารไม่ต้องระบุวันที่ก็ได้ครับ บอกแค่ภายในเดือนมีนาคมก็พอ พอเอาเข้าจริงๆ ถ้าเราได้ทุน เราสามารถไปทำดำเนินการสอบขอจบก่อน ทำธุระทุกอย่างได้ทันก่อนเดินทางมาที่เกาหลีอยู่แล้ว
ปล. หน้าที่ 5 ของใบสมัคร ข้อที่ 5 เขียนว่า “ทันทีที่นักเรียนได้รับใบจบการศึกษาแล้ว จะต้องส่งเอกสารฉบับจริงเมื่อถึงเกาหลี ภายในวันที่ 1 มีนาคม” ในทางปฏิบัติสำหรับนักเรียนไทยไม่น่าจะทัน แต่เรื่องนี้ไม่คิดว่าน่าจะมีปัญหา และให้ส่งเอกสารตามมาทางไปรษณีย์ทันทีที่ได้รับเอกสารตัวจริง เพราะเอกสารนี้จะเกี่ยวข้องกับการทำวีซ่าครับ

Q3 ซิ่วแล้วสมัครได้ไหม?

สมัครได้ครับ แม้ว่าจะเรียนไปแล้วปี 2-4 หากยังไม่จบระดับชั้นปริญญาตรี และอายุไม่เกิน 25 ปี สมัครได้ครับ แต่ว่า จากการสำรวจตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี 2555) ในระดับปริญญาตรี ยังไม่มีใครที่ซิ่วแล้วได้ครับ ใครที่อยากซิ่วเพื่อสมัครจริงๆ อยากให้เผื่อใจไว้ก่อนส่วนหนึ่ง แล้วถ้าคิดว่าอธิบายเหตุผล เหตุผลมีน้ำหนักจริงๆกับการซิ่วนี้ ก็ค่อยๆเขียนอธิบายไปในเอกสารแนะนำตัวในใบสมัครครับ

อัปเดต : เนื่องจากในปี 2564 ที่มีการระบาดของโควิด-19 ทำให้การสมัครทุนรัฐบาลเกาหลีของเด็กม.6 ไม่สามารถยื่นทุนรัฐบาลเกาหลีได้ เพราะปฏิทินการจบของปีการศึกษาถูกเลื่อนออกไป ทำให้ไม่ทันกับการสมัครและการเดินทาง จึงทำให้เป็นปีที่มีการรับนักเรียนที่จบการศึกษาระดับมัธยมปลายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กล่าวคือ ในวันที่สมัครอาจจะกำลังเรียนอยู่ในระดับมหาวิทยาลัยเรียบร้อยแล้ว

Q4 สายอาชีพ สมัครทุนรัฐบาลเกาหลีได้มั้ย?

ตอบตรงๆว่า “ไม่แน่ใจ” ครับ แม้ว่ารายละเอียดของทุนรัฐบาลเกาหลี จะไม่ได้เขียนบอกเรื่องสายอาชีพ (บอกแค่ว่าในใบเกรด (transcript) จะต้องมีรายละเอียดการประเมิน เกณฑ์การให้หน่วยกิตต่างๆ ซึ่งแบบฟอร์มของทุกโรงเรียนในสายสามัญ จะมีและเป็นรูปแบบเดียวกัน) เข้าใจว่าสายอาชีพอาจจะมีวิชาเรียน หรือรูปแบบการประเมินที่แตกต่างกันกับสายสามัญ เลยทำให้ “อาจจะ” ไม่สามารถสมัครทุนนี้ได้ครับ

Q5 แต่ละปีก็เห็นมีแต่เด็กในกรุงเทพฯ เด็กต่างจังหวัดก็หมดสิทธิ์แย่เลย

ไม่จริงเสมอไปครับ เฟรมเองเป็นคนโคราช จบจากโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย (ปี 2012) น้องอิง จากโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช (ปี 2014), น้องแก้มจากโรงเรียนระยองวิทยาคม (ปี 2016) อยากให้โฟกัสสิ่งที่อยู่ในใบสมัครครับ ข้อมูลที่เรานำเสนอเกี่ยวกับตัวเราและแผนการเรียน มีความสัมพันธ์กัน มีน้ำหนักมากพอที่จะให้กรรมการคัดเลือกครับ ต้องหาจุดเด่นของตัวเองให้เจอ ดังนั้นไม่อยากให้กังวลกับเรื่องนี้มากเกินไปครับ
ถ้าถามว่าทุนนี้อยากได้คนประเภทไหนมากที่สุด เขาเขียนไว้ใบสมัครเลยครับ ว่าอยากได้นักเรียนที่มาเรียนสาย Science & Engineering ดูเหมือนเด็กวิทย์อาจจะได้เปรียบนะ แต่ไม่จำเป็นเสมอไปเพราะที่ผ่านๆมาก็มีทั้งวิทย์ทั้งศิลป์ ย้ำอีกครั้งว่า ขึ้นอยู่กับว่านำเสนออะไรไปในใบสมัคร!

Q6 เอกสารพิมพ์เอาหรือเขียนเอา

จริงๆเพื่อความเรียบร้อย ควรพิมพ์เอาดีกว่าครับ หลายๆคนอาจจะสงสัยว่า เอกสารจะมี 2 รูปแบบให้ดาวน์โหลดทั้งแบบ DOC และ PDF หากใช้ DOC ก็สามารถใช้โปรแกรม Microsoft Word แก้ไขไฟล์ได้ตามปกติ หากจะแก้ไขไฟล์ PDF ลองไปดาวน์โหลดโปรแกรมอ่าน PDF เวอร์ชันใหม่ๆ จะมีฟังก์ชันในการพิมพ์ข้อความเข้าไป หรือลองดาวน์โหลดโปรแกรม Adobe Fill & Sign มาใช้ก็ได้ครับ
TIPS
เอกสารรับรองจากอาจารย์ เป็นไปได้ก็อยากให้พิมพ์เอาเหมือนกันครับ ถ้าอยากลดภาระของอาจารย์ ไม่ต้องให้อาจารย์พิมพ์เอง ก็อาจจะเสนออาจารย์ไปเลยก็ได้ครับ ว่าเดี๋ยวผมพิมพ์ให้ หนูพิมพ์ให้แล้วรบกวนอาจารย์รับรองเอกสารให้หน่อยเป็นต้น เอกสารของอาจารย์จะต้องใส่ซองขาว อาจจะมีตราครุฑก็ได้ครับ พิมพ์หรือเขียนชื่ออาจารย์พร้อมตำแหน่งหน้าซอง ปิดซองแล้วให้อาจารย์เซ็นต์ชื่อทับตรงหลังซอง เพื่อป้องกันว่าข้อมูลที่อาจารย์เขียนให้นักเรียน ไม่มีการถูกแกะออกมาแก้ไข (ถ้าแกะลายเซ็นต์ก็จะไม่ต่อกัน)
เอกสารของอาจารย์ 2 ท่าน จะต้องทำตัวจริง 1 ชุดสำเนา 3 ชุดเหมือนกับเอกสารชุดอื่นๆเหมือนกันครับ ดังนั้นตอนพิมพ์ก็พิมพ์ไปเลย 4 ชุดและให้อาจารย์เซ็นต์ทับซองไปเลย 4 ชุด

Q7 เกรดแค่ 3.05 เอง สมัครได้มั้ย

ได้ครับ ทุนนี้บอกว่าเกรดมากกว่า 2.64 ขึ้นไปก็ได้แล้วครับ ณ วันสมัครหากโรงเรียนเกรดยังออกไม่ครบ มีไม่กี่เทอม ก็ส่งไปตามเท่าที่โรงเรียนออกให้ก่อนก็ได้ครับ แต่ต้องมั่นใจว่าวันจบ ม.6 จะต้องมีเกรดมากกว่า 2.64 นะ!

Q8 เอกสารต้องเอาไปให้กงสุลรับรองมั้ย

การสมัครทุนรัฐบาลเกาหลีจะต้องใช้เอกสารเป็นภาษาอังกฤษ หรือ ภาษาเกาหลีในการยื่นเท่านั้นครับ โชคดีที่เดี๋ยวนี้เราสามารถขอเอกสารภาษาอังกฤษได้จากเขต/อำเภอ ได้เลยเช่น ใบสูติบัตร, สำเนาทะเบียนบ้าน, การเปลี่ยนชื่อ และเอกสารมากมาย ที่สามารถอ่านได้จากเว็บไซต์ของกรมการกงสุล ทำให้ประหยัดการแปลไปได้เยอะ ส่วนเอกสารที่โรงเรียนก็สามารถขอเป็นภาษาอังกฤษตั้งแต่แรกได้เลยเช่นกัน

การนำเอกสารที่ออกจากหน่วยงานประเทศไทยไปใช้ในต่างประเทศนั้น ตามหลักเราจะต้อง รับรองเอกสาร (notarization) ก่อน จะนำเอกสารไปใช้ในประเทศไหน ก็จะต้องได้รับการรับรองจากสถานทูตประเทศนั้น ๆ ส่วนสถานทูตจะรับรองเอกสารอะไรก็ตาม จะต้องได้รับการรับรอง จากกระทรวงการต่างประเทศมาก่อน ถ้าให้สรุปก็คือ เอกสารภาษาอังกฤษที่ได้มา จะต้องนำไปรับรองเอกสารที่กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ​ (อยู่ที่กรุงเทพ สาขาย่อย และสามารถยื่นออนไลน์ได้ ดูรายละเอียดที่นี่) ก่อนจะนำมายื่นรับรองเอกสารที่สถานทูตเกาหลีประจำประเทศไทยอีกครั้ง

ค่าใช้จ่ายในการรับรองเอกสารต่อชุด อยู่ที่ประมาณ 300-400 บาท/ชุด/ตราประทับ (กรณีดำเนินการเอง – ยื่นเอกสารแบบปกติ) และหากเป็นเอกสารด่วน

ทุนรัฐบาลเกาหลีมีเอกสารที่ต้องออกเยอะ และหากรับรองทุกเอกสารนั้น ก็เชื่อว่ามีค่าใช้จ่ายเยอะพอสมควร จึงแนะนำให้รับรองเฉพาะเอกสารสำคัญ หรือเขียนระบุไว้ชัดเจนในใบสมัครว่าต้องได้รับการรับรองจาก Consul (กงสุล) ผมเองก็ไม่สามารถบอกได้ครับว่าในกระบวนการตรวจเอกสารจะเข้มงวดแค่ไหน และเพื่อประกอบกับการพิจารณาในปีของผมที่สมัคร เฟรมให้แค่ร้านแปลเอกสารนั้นรับรองเอกสารเท่านั้นครับ ไม่ได้ให้กงสุลรับรองเอกสาร ดังนั้นน้องๆสะดวกทางไหน ดูตามที่สะดวก สบายใจ และไม่เป็นภาระกับที่บ้านน่าจะดีกว่าครับ

Q9 ต้องมีใบสอบภาษาหรือเปล่า

ในคุณสมบัติเขียนเอาไว้ว่า ถ้ามี ครับ (หมายความว่า ไม่มีก็สมัครได้! เพราะตอนที่เฟรมยื่น ก็ไม่มีเหมือนกัน) แต่ถ้ามี แน่นอนก็คงได้เปรียบกว่า เพราะถือว่าเป็นการรับรองความสามารถทางด้านภาษากับสถาบันที่รับรองได้ ซึ่งเอกสารที่จะใช้ได้ ถ้าเป็นภาษาอังกฤษ ก็คงจะต้องใช้คะแนน TOEIC, IELTS หรือ TOEFL ในการยื่น สำหรับภาษาเกาหลีจะใช้ TOPIK ครับ (แต่ถ้ามีใบรับรองการเรียนภาษาเกาหลีจากสถานบันสอนภาษา แม้ว่าเขาไม่ได้ขอ แต่แนบไปประกอบด้วยก็ดีนะครับ เพื่อจะได้ให้กรรมการเห็นความตั้งใจว่าเรากำลังศึกษาภาษาเกาหลีอยู่ ที่สำคัญคือ เกียรติบัตรต่างๆให้ใช้สำเนาเพราะทางสถานทูตจะไม่คืนเอกสารใดๆให้ครับ

Q10 สมัครคณะต่างกัน เวลาเขียนใบสมัครตรงแผนการเรียน (Study plan) ต้องเขียนแยกกันมั้ย

ถ้าสังเกตในเอกสาร จะเขียนเอาไว้ว่าหากคณะต่างกันจะต้องเขียนแยกครับ แน่นอนว่าแต่ละคณะมีสิ่งที่โฟกัส หรือวิธีการเรียนที่ไม่เหมือนกัน ก็ควรจะเขียนรายละเอียดแจงแยกไปเพิ่มเติมครับ และถึงแม้ว่าคณะจะเหมือนกัน และคิดว่าไม่ต้องเขียนแยกก็ได้ แต่เฟรมเชื่อว่าการให้ความสำคัญของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง เขียนจุดเด่นของมหาวิทยาลัยนั้นๆแยกมาสักหน่อย ก็อาจจะได้ใจมหาวิทยาลัยไปได้อยู่นะครับ (อย่าลืมว่ารอบ 2 มหาวิทยาลัยจะเป็นคนคัดใบสมัครของน้องๆอีกที)

มีหลายคำถามเชิงรายละเอียดที่อาจจะไม่ได้พูดถึงในบล็อกตอนนี้ครับ แต่อยากให้น้องๆที่สมัครทุกคน สูดลมหายใจเข้าลึกๆ แล้วตั้งใจ “อ่านทุกประโยค ทุกคำสั่งในใบสมัคร” คิดว่าจะมีข้อมูลที่เพียงพอ ตั้งแต่การเขียนใบสมัคร ว่าต้องเขียนยังไง ตลอดจนการเตรียมเอกสารว่าต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง ไหนๆก็จะได้มาเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลเกาหลีแล้ว ก็ลองให้เวลากับมันเพิ่มอีกสักหน่อยน่าจะดีนะครับ 🙂

สำหรับบรรยากาศการสอบสัมภาษณ์ และเรื่องราวการสมัครทุนรัฐบาลเกาหลีของเฟรมเป็นยังไงนั้น ลองไปอ่านในบล็อกที่เคยเขียนเอาไว้ใน ตอนนี้ ครับ แม้ว่าจะนานมาก แต่คิดว่าก็ได้บรรยายความรู้สึกและบรรยากาศเอาไว้อย่างดี รวมไปถึงคำถามจากห้องสัมภาษณ์ด้วย จะเป็นยังไงก็อยากให้ลองเข้าไปติดตามกันครับ

ขอให้ทุกคนโชคดีครับ

หากคิดว่าบล็อกนี้เป็นประโยชน์อย่าลืมแชร์และเข้าไปกด Like ในเพจติดตามชีวิตในเกาหลีใต้ของเฟรมคุงกันด้วยนะครับ ^_^

บทความที่เกี่ยวข้อง

ติดตามเรื่องอื่นๆ